คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2181/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2ซึ่งมีอาวุธมีดกับพวกอีกสองคนมีมีดคัตเตอร์ 1 เล่มกับเหล็กอีก 1 ท่อนบุกรุกเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันควร แล้วร่วมกันประทุษร้ายร่างกายของผู้เสียหายจนผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายถึงบาดเจ็บ และชั้นพิจารณาโจทก์นำสืบพยานหลักฐานรับฟังได้ตามคำบรรยายฟ้อง แต่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364,365(1)(2) โดยไม่ได้อ้างมาตรา 295 มาด้วยดังนี้ เป็นกรณีที่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคห้า ศาลลงโทษจำเลยตามมาตรา 295 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวก มีอาวุธติดตัวร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตและโดยไม่มีเหตุอันสมควร แล้วร่วมกันใช้กำลังกายและอาวุธประทุษร้ายร่างกายผู้เสียหายหลายครั้ง จนผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364, 365(1)(2), 83, 371, 91 และขอให้ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลอนุญาตให้ผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุก 3 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ริบของกลาง
โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2ได้ร่วมกับพวกทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมจนได้รับอันตรายแก่กายจริง
ปัญหาต่อไปมีว่า จะลงโทษจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 ได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว โจทก์อ้างมาตรา 364, 365(1)(2) แห่งประมวลกฎหมายอาญามาเป็นทบที่ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 โดยมิได้อ้างมาตรา 295 มาด้วย ศาลฎีกาเห็นว่า ปัญหาข้อนี้โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ซึ่งมีอาวุธมีดกับพวกอีก 2 คนมีมีดคัตเตอร์ 1 เล่ม กับเหล็กอีก 1 ท่อนเป็นอาวุธบังอาจบุกรุกเข้าไปในเคหสถานของนายณรงฤทธิ์ วงศ์รักษา โดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันควร แล้วจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกได้ร่วมกันขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย (โจทก์ร่วม) และจำเลยที่ 1 ที่ 2กับพวกได้บังอาจร่วมกันใช้กำลังกายและอาวุธดังกล่าวประทุษร้ายตามร่างกายของผู้เสียหาย (โจทก์ร่วม) หลายครั้งจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหาย(โจทก์ร่วม) ได้รับอันตรายแก่กายถึงบาดเจ็บ และในชั้นพิจารณาโจทก์กับโจทก์ร่วมได้นำสืบพยานหลักฐานรับฟังได้ตามคำบรรยายฟ้องดังได้วินิจฉัยมาแล้ว กรณีจึงต้องด้วยความในวรรคห้าของมาตรา 192 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่บัญญัติว่า “ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามฟ้องนั้นโจทก์สืบสม แต่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้”ดังนั้น ศาลฎีกาจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 ได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ให้รอการลงโทษจำเลยที่ 2 ไว้มีกำหนดสองปีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56

Share