แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สัญญาโอนหุ้น มีการลงลายมือชื่อจำเลยและโจทก์ไว้ จึงถือเป็นหลักฐานในการโอนหุ้น แต่เมื่อหุ้นของบริษัท บ. ทั้งหมดเป็นหุ้นสามัญชนิดระบุชื่อและยังไม่ได้ออกใบหุ้น ซึ่งการโอนหุ้นดังกล่าวต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1129 วรรคสอง ที่กำหนดแบบไว้ว่าถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน มีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือนั้น ๆ แล้วถือว่าเป็นโมฆะ เมื่อสัญญาโอนหุ้นระหว่างโจทก์และจำเลยไม่มีผู้ลงชื่อเป็นพยานรับรองลายมือการโอนหุ้นดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาโอนขายหุ้นของจำเลยในบริษัทบ้านและสวนทวีทรัพย์ จำกัด โดยมีเงื่อนไขว่าหากการซื้อขายหุ้นดังกล่าวมีปัญหาหรือโมฆะจำเลยจะคืนเงินที่ได้รับไปทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ให้โจทก์ ต่อมาจำเลยไม่สามารถจัดการให้โจทก์เข้าเป็นผู้ถือหุ้นได้ โจทก์จึงขอให้จำเลยคืนเงินจำนวน 500,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยรับเงินไปจากโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 612,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 500,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่เคยขอให้บริษัทบ้านและสวนทวีทรัพย์ จำกัด ออกใบหุ้นในนามของโจทก์และจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นการโอนหุ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยสามารถทำได้ตลอดเวลาไม่เป็นการขัดกับข้อบังคับของบริษัท แต่โจทก์ไม่ชำระเงินค่าหุ้นแก่จำเลย โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องคืนเงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามจากโจทก์ การกระทำของโจทก์ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย หากโจทก์ปฏิบัติตามสัญญา จำเลยนำเงินไปฝากธนาคารจะได้ดอกเบี้ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 12 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง และให้โจทก์ชำระเงินค่าหุ้น 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ชำระราคาหุ้น บันทึกข้อตกลงการซื้อขายหุ้นระบุว่า การชำระราคาจะตกลงกันภายหลังเมื่อยังไม่มีการตกลงกันและการซื้อขายหุ้นมีปัญหาโจทก์จึงไม่มีหนี้ใด ๆ ที่ต้องชำระแก่จำเลย ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 10 กันยายน 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 10กันยายน 2537 จำเลยกับโจทก์ได้ทำหนังสือสัญญาโอนหุ้นกันตามเอกสารหมาย จ.1โดยจำเลยตกลงโอนหุ้นหมายเลขที่ 1 ถึง 2,500 รวม 2,500 หุ้น ของจำเลยในบริษัทบ้านและสวนทวีทรัพย์ จำกัด ให้โจทก์ผู้รับโอนเข้าเป็นผู้ถือหุ้นตั้งแต่วันทำสัญญาเป็นต้นไปโดยการซื้อขายกันรวมราคา 2,500,000 บาท และจำเลยได้รับเงินค่าหุ้นจากโจทก์ในวันทำสัญญาจำนวน 500,000 บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าจำเลยกระทำผิดต่อโจทก์อย่างไร การโอนขายหุ้นระหว่างจำเลยกับโจทก์ขัดต่อข้อบังคับของบริษัทอย่างไรกรรมการบริษัทที่คัดค้านการโอนหุ้นคือใครและเป็นมติที่ประชุมครั้งที่เท่าใด จึงไม่แจ้งชัดเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาโอนขายหุ้นของจำเลยในบริษัทบ้านและสวนทวีทรัพย์ จำกัด ให้แก่โจทก์จำนวน 2,500 หุ้นในราคา 2,500,000 บาท จำเลยได้รับเงินค่าหุ้นจากโจทก์ในวันทำสัญญาจำนวน 500,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าหากการซื้อขายหุ้นดังกล่าวมีปัญหาหรือโมฆะ จำเลยจะคืนเงินที่ได้รับไปทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายให้โจทก์แต่จำเลยไม่สามารถจัดการโอนหุ้นตามสัญญาให้แก่โจทก์โดยทางบริษัทบ้านและสวนทวีทรัพย์ จำกัด แจ้งว่า การโอนหุ้นขัดต่อข้อบังคับของบริษัทซึ่งกรรมการของบริษัทคัดค้านการโอนหุ้น และโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยจึงต้องคืนเงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ดังนี้ถือว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองส่วนข้อบังคับของบริษัทบ้านและสวนทวีทรัพย์ จำกัด มีว่าอย่างไร การโอนหุ้นตามฟ้องขัดต่อข้อบังคับของบริษัทอย่างไร กรรมการบริษัทที่คัดค้านการโอนหุ้นคือใครตามมติที่ประชุมครั้งที่เท่าใดล้วนเป็นเรื่องรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบพยานได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาข้อต่อมาว่า จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรยกปัญหาข้อกฎหมายเรื่องหนังสือสัญญาโอนหุ้นตามเอกสารหมาย จ.1 เป็นโมฆะหรือไม่อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นวินิจฉัยเสียก่อนเห็นว่า ตามหนังสือสัญญาโอนหุ้นเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งคู่ความรับกันมีถ้อยคำระบุว่าเป็นสัญญาโอนหุ้นระหว่างจำเลยผู้โอนกับโจทก์ผู้รับโอนโดยชัดแจ้งและสัญญาข้อ 3 ระบุว่าผู้รับโอนตกลงรับโอนหุ้นหมายเลข 1 ถึง 2,500 รวมทั้งหมด 2,500 หุ้น ผู้โอนและผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในหุ้นดังกล่าวข้างต้นนี้โดยการซื้อขายแก่กันตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2537รวมเป็นราคาเงิน 2,500,000 บาท ผู้โอนยอมขาดจากการเป็นผู้ถือหุ้น และผู้รับโอนยอมเข้าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทบ้านและสวนทวีทรัพย์ จำกัด ตั้งแต่วันทำสัญญานี้เป็นต้นไปโดยท้ายสัญญาดังกล่าวมีการลงลายมือชื่อจำเลยผู้โอนและโจทก์ผู้รับโอนไว้ หนังสือสัญญาโอนหุ้นเอกสารหมาย จ.1 จึงถือเป็นหลักฐานในการโอนหุ้น เมื่อทางพิจารณาได้ความตามข้อบังคับของบริษัทบ้านและสวนทวีทรัพย์ จำกัด ในเอกสารหมาย ล.3 ว่า หุ้นของบริษัททั้งหมดเป็นหุ้นสามัญชนิดระบุชื่อแม้คู่ความจะรับกันว่าทางบริษัทยังไม่ได้ออกใบหุ้นแต่การโอนหุ้นก็ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129วรรคสอง เพราะเป็นกรณีโอนหุ้นชนิดระบุชื่อ ซึ่งกำหนดแบบไว้ว่าถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอนมีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือนั้น ๆ ด้วยแล้ว ท่านว่าเป็นโมฆะ เมื่อหนังสือสัญญาโอนหุ้นเอกสารหมาย จ.1 ไม่มีผู้ลงชื่อเป็นพยานรับรองลายมือชื่อดังกล่าวเลย การโอนหุ้นระหว่างจำเลยกับโจทก์จึงเป็นโมฆะตามบทบัญญัติดังกล่าว คำพิพากษาฎีกาที่จำเลยอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาของจำเลยเกี่ยวกับประเด็นว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาตามเอกสารหมาย จ.1 จึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง หุ้นตามฟ้องจึงยังคงเป็นของจำเลยอยู่ แต่ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความนำสืบได้ความว่านอกจากสัญญาโอนหุ้นดังกล่าวโจทก์และจำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลงไว้ตามบันทึกข้อตกลงด้านหลังเอกสารหมาย จ.1ด้วยว่าผู้รับโอนจ่ายเงินให้ผู้โอนในวันทำสัญญา 500,000 บาท ส่วนที่เหลือจะได้ตกลงชำระกันในภายหลัง โดยในข้อ 2 ของบันทึกดังกล่าวระบุว่า หากการซื้อขายหุ้นมีปัญหาหรือโมฆะ ผู้โอนจะคืนเงินที่ได้รับไว้แล้วทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย เมื่อได้รับแจ้งด้วยวาจาจากผู้รับโอนและข้อเท็จจริงตามที่คู่ความนำสืบรับกันฟังได้ว่าหุ้นตามฟ้องยังคงเป็นของจำเลยไม่ได้โอนมาเป็นของโจทก์ทั้ง ๆ ที่เวลาล่วงเลยมานานหลายปีแล้วแสดงว่าการซื้อขายหุ้นมีปัญหา เมื่อโจทก์แจ้งให้จำเลยคืนเงินที่รับไป จำเลยจึงต้องคืนเงินจำนวน 500,000 บาท ที่รับไปพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายคืออัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีแก่โจทก์ตามบันทึกข้อตกลงด้านหลังเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 2 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
จำเลยฎีกาประการสุดท้ายว่า ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความให้จำเลยใช้แทนโจทก์ตามฟ้อง 5,000 บาท และตามฟ้องแย้งอีก 10,000 บาท สูงและเกินความเป็นจริงเห็นว่า ค่าทนายความที่ศาลชั้นต้นกำหนดไม่เกินที่กฎหมายกำหนดตามตาราง 6ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงไม่สูงหรือเกินความเป็นจริงดังจำเลยฎีกาฎีกาจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน