แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ ต้องอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 และมาตรา 23จึงต้องขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์เสียภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ได้ แม้ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้รับเป็นอุทธรณ์เพิ่มเติม ก็เป็นการยื่นอุทธรณ์ที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 ประกอบมาตรา 23 คำสั่งศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบ เพราะมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเกี่ยวกับการยื่นคำคู่ความ ซึ่งมุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อความปรากฏแก่ศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาคดีไปได้ตามมาตรา 246ประกอบมาตรา 142(5)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงินจำนวน63,781.63 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินจำนวน63,781.63 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2และที่ 3 มีเฉพาะข้อกฎหมายว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้รับอุทธรณ์เพิ่มเติมของจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้นเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่คดีนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2542ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อมาเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2542 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นอนุญาต เห็นว่า คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2และที่ 3 จะต้องตกอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 และมาตรา 23 ซึ่งคดีนี้จำเลยที่ 2และที่ 3 จะต้องขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์เสียภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ การที่จำเลยที่ 2และที่ 3 ขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ได้เช่นนี้ แม้ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้รับเป็นอุทธรณ์เพิ่มเติมได้ก็ตาม แต่เมื่อเป็นการยื่นอุทธรณ์ที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 ประกอบมาตรา 23 ดังกล่าว คำสั่งอนุญาตของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบเพราะมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเกี่ยวกับการยื่นคำคู่ความ ซึ่งมุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อความปรากฏแก่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาคดีไปได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 246 ประกอบมาตรา 142(5) ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้รับอุทธรณ์เพิ่มเติมของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงชอบแล้ว
พิพากษายืน