คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7214/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีหนังสือเชิญโจทก์ไปติดต่อทำสัญญารับเงินค่าทดแทนนั้นเป็นกรณีที่ผู้ว่าการการทางพิเศษฯ แจ้งให้โจทก์ไปติดต่อทำสัญญาซื้อขาย อสังหาริมทรัพย์ตามความในมาตรา 10 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530เมื่อโจทก์มิได้ไปตกลงทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กับจำเลยผู้ว่าการการทางพิเศษฯ จึงมีหนังสือแจ้งการวางเงินค่าทดแทนให้โจทก์ทราบ ถือได้ว่าเป็นหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนตามความ ในมาตรา 25 วรรคหนึ่งโจทก์จึงมีสิทธิจะอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการวางเงินค่าทดแทนดังกล่าว ราคาที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดตารางวาละ 70,000 บาท น่าจะเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในปี 2533 แต่เมื่อพิจารณาสภาพทำเลที่ตั้งที่ดินของโจทก์ปรากฏว่าที่ดินของโจทก์อยู่ติดกับถนนรามอินทรา และอยู่ติดกับซอยเป็นสุขซึ่งสามารถออกสู่ถนนลาดพร้าวและถนนสุขาภิบาล 1 ด้วยแล้วราคาที่ดินของโจทก์ควรมีราคาสูงกว่านั้น โดยน่าจะมีราคาตารางวาละ 75,000 บาท ที่ศาลชั้นต้นกำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ในราคาตารางวาละ 90,000 บาทและศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยโดยให้เหตุผลอันเป็นสาระสำคัญประการหนึ่งว่า จำเลยที่ 1 จ่ายเงินให้แก่โจทก์เมื่อปี 2536หลังจากที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าว พ.ศ. 2533 จึงกำหนดให้ตารางวาละ 90,000 บาท นั้นไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21(1) ซึ่งให้กำหนดตามราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับ ที่ดินของโจทก์ตั้งอยู่ติดถนนรามอินทรา กิจการค้าวัสดุก่อสร้างของโจทก์เป็นการประกอบกิจการขนาดใหญ่พอสมควรมีอาคารใช้ในการประกอบกิจการถึง 3 คูหา และมีโกดังเก็บวัสดุก่อสร้างอีก 1 หลัง น่าเชื่อว่าโจทก์ได้รับประโยชน์เป็นกำไรจากการประกอบการพอสมควร การที่โจทก์ต้องออกจากที่ดินและหยุดการประกอบกิจการค้าขายวัสดุก่อสร้างและต้องเสียทำเลทางการค้าที่ดีไป รวมทั้งสูญเสียผลประโยชน์ ที่ควรจะพึงได้ในเวลาต่อมานั้น ถือได้ว่าโจทก์ได้รับ ความเสียหายเนื่องจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ ที่ถูกเวนคืน ชอบที่จะกำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับความเสียหายนั้น ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคท้าย ให้แก่โจทก์ ซึ่งเมื่อพิจารณากิจการ และกำไรที่โจทก์พึงได้จากการค้าขายวัสดุก่อสร้างแล้ว ที่จำเลยทั้งสองกำหนดให้เป็นเงิน 46,636 บาท นั้นยังต่ำไป ควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้เพิ่มให้แก่โจทก์อีก 200,000 บาทจึงจะเหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์เพิ่มอีก 17,160,576.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2536จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 2,162,695.23 บาท และดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทนเบื้องต้นเมื่อวันที่ 19กุมภาพันธ์ 2536 แต่ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2536ซึ่งพ้นกำหนด 60 วันแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนเพิ่มคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และจำนวนเงินค่าทดแทนได้กำหนดค่าทดแทนเบื้องต้นสำหรับที่ดินของโจทก์ตารางวาละ 70,000 บาท และค่าทดแทนเบื้องต้นสำหรับสิ่งปลูกสร้างของโจทก์เป็นเงิน 3,781,033.15 บาท เหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว และค่าทดแทนความเสียหายที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์จำนวน 46,636 บาท ก็เป็นธรรมแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์เพิ่มขึ้นอีก 4,420,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 8.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยในจำนวนเงินค่าทดแทนที่เพิ่มในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ต่อปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ตามที่โจทก์และจำเลยแถลงรับกันและที่มิได้โต้แย้งกันว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 14113 และ 14114ตำบลจรเข้บัว อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 116 ตารางวาและ 95 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวอันได้แก่ตึกแถว 3 ชั้น เลขที่ 490 โกดังเก็บของชั้นเดียว รั้วอิฐบล๊อกและลานคอนกรีต โจทก์มอบอำนาจให้นายสุรชัย ฉัตรอัศวปรีดาดำเนินคดีนี้แทน จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2515 โดยมีผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนที่ดินของโจทก์และสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวอยู่ในเขตที่จะต้องเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าว เขตบึงกุ่ม เขตบางกะปิ เขตห้วยขวางเขตคลองเตย และเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2533ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2533 เพื่อสร้างทางพิเศษสายรามอินทรา-อาจณรงค์ ซึ่งมีผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจำเลยที่ 2 เป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาจำเลยที่ 2 มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนและจำนวนเงินค่าทดแทนคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นในท้องที่เขตบางกะปิกรุงเทพมหานคร กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ตารางวาละ70,000 บาท เป็นเงิน 14,770,000 บาท ค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 3,781,033.15 บาท และค่าทดแทนความเสียหายที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์เป็นเงิน 46,636 บาท จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2536 ขอเชิญโจทก์ไปทำสัญญาซื้อขายเพื่อรับเงินค่าทดแทนเบื้องต้น แต่โจทก์เห็นว่าเงินค่าทดแทนไม่เป็นธรรมต่อโจทก์จึงไม่ไปตกลงทำสัญญารับเงินค่าทดแทนจากจำเลยที่ 1 วันที่ 15 ตุลาคม 2536 จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งต่อโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 นำเงินค่าทดแทนรวม 18,597,669.15 บาทไปฝากไว้ที่ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ โจทก์จึงยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2536 ขอให้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินแก่โจทก์เป็นตารางวาละ 140,000 บาท และเพิ่มค่าทดแทนความเสียหายที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์เป็นเงิน500,000 บาท แต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดโจทก์จึงฟ้องคดีนี้
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองเป็นประการที่สองว่า โจทก์มิได้อุทธรณ์การกำหนดเงินค่าทดแทนของคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นต่อจำเลยที่ 2 ภายใน 60 วันนับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือให้ไปรับเงินค่าทดแทนโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 25 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 ผู้ใดไม่พอใจในราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 9 มาตรา 10 ทวิมาตรา 23 หรือมาตรา 28 วรรคสาม มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 หรือรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับนั้น ภายใน 60 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนดังกล่าว ตามบทบัญญัติที่กล่าวนี้กำหนดไว้ให้ผู้ที่ไม่พอใจในราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนด มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีผู้รักษาการภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือให้มารับเงินค่าทดแทนซึ่งเมื่อพิจารณาหนังสือของผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเอกสารหมาย ล.9 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2536ระบุว่าเป็นเรื่องขอเชิญโจทก์ไปติดต่อทำสัญญารับเงินค่าทดแทนมีข้อความว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้พิจารณากำหนดค่าทดแทนที่ดินใหม่แล้ว การทางพิเศษแห่งประเทศไทยจึงขอแจ้งจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ของท่านที่ถูกเวนคืนดังนี้ที่ดินโฉนดเลขที่ 14113 และ 14114 ถูกเขตทาง 211 ตารางวาเป็นเงิน 14,770,000 บาท และสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 3,781,033.15 บาท รวมเป็นเงิน 18,551,033.15 บาท ดังนั้น จึงขอให้ท่านไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนจำนวนดังกล่าวภายในกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้ และขอให้ท่านนำเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปด้วย อนึ่ง ในการติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนนี้ท่านมีสิทธิที่จะตกลงทำสัญญารับเงินค่าทดแทนโดยสงวนสิทธิหรือไม่สงวนสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหากท่านไม่ไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวการทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีความจำเป็นจะต้องดำเนินการวางเงินค่าทดแทนตามกฎหมายต่อไป ข้อความในหนังสือดังกล่าวเมื่อพิจารณาประกอบกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 10 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า ในกรณีที่สามารถตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่จะถูกเวนคืนตามวรรคหนึ่งได้แต่ไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทน หากเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายจะขอรับเงินค่าทดแทนตามราคาเบื้องต้นที่คณะกรรมการตามมาตรา 9 กำหนดไว้ไปก่อนโดยสงวนสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีตามมาตรา 25 ก็ให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ดำเนินการทำสัญญาโดยมีเงื่อนไขดังกล่าวแล้วจ่ายค่าทดแทนไปก่อนได้ ดังนี้จึงเป็นที่เห็นได้ว่า การที่ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีหนังสือเอกสารหมาย ล.9 ขอเชิญโจทก์ไปติดต่อทำสัญญารับเงินค่าทดแทนนั้นเป็นกรณีที่ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยแจ้งให้โจทก์ไปติดต่อทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ตามความในมาตรา 10 วรรคสอง นั้นเอง และในกรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทน เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายจะขอรับเงินค่าทดแทนตามราคาเบื้องต้นที่คณะกรรมการตามมาตรา 9 กำหนดไว้ไปก่อนโดยสงวนสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีตามมาตรา 25 ก็ได้ ซึ่งในคดีนี้โจทก์มิได้ไปตกลงทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กับจำเลย ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจึงได้มีหนังสือลงวันที่ 15 ตุลาคม 2536 เอกสารหมาย ล.10แจ้งการวางเงินค่าทดแทนให้โจทก์ทราบ หนังสือของผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยแจ้งการวางเงินค่าทดแทนนี้จึงถือได้ว่าเป็นหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนตามความในมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ซึ่งโจทก์มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าว พ.ศ. 2533ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการวางเงินค่าทดแทนดังกล่าวและต่อมาโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจำเลยที่ 2 วันที่ 24 พฤศจิกายน 2536 ตามเอกสารหมาย ล.11เมื่อนับระยะเวลาจากวันที่ 17 ตุลาคม 2536 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการวางเงินค่าทดแทนถึงวันที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 2 จึงเป็นอุทธรณ์ที่ยื่นภายในกำหนดดังระบุไว้ในมาตรา 25 วรรคหนึ่ง หาได้ล่วงเลยกำหนดดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นประการที่สี่ว่าที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงเพิ่มให้แก่โจทก์ถูกต้องและเป็นธรรมแล้วหรือไม่โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า เงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดให้โจทก์ใกล้เคียงกับราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดเป็นราคาที่เป็นธรรมและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่โจทก์นำสืบว่าที่ดินของโจทก์มีราคาตารางวาละ 140,000 บาท เป็นการคาดคะเนเอาเองและศาลอุทธรณ์นำข้อพิจารณาในการเก็บค่าผ่านทางมาเป็นเหตุเพิ่มค่าทดแทน คลาดเคลื่อนต่อเหตุผลนั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ในปัญหาเรื่องการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์นั้น พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 21 วรรคหนึ่ง บัญญัติหลักเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์โดยให้คำนึงถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมตามบทบัญญัติดังกล่าว การกำหนดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา ซึ่งในคดีนี้ได้แก่วันที่ 4ตุลาคม 2533 นอกจากนั้นยังต้องคำนึงถึงราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้นเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนด้วยทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมมิใช่จะพิจารณาแต่เฉพาะองค์ประกอบข้อใดข้อหนึ่งแต่เพียงข้อเดียวเท่านั้น ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์คดีนี้เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสองต่างนำสืบไม่ได้ว่าในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าว พ.ศ. 2533 ใช้บังคับนั้น ที่ดินของโจทก์มีราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดเป็นราคาเท่าใดศาลจึงมีอำนาจกำหนดเงินค่าทดแทนตามพยายหลักฐานในสำนวนโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์ได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบแล้วเห็นว่า ที่ดินของโจทก์ตั้งอยู่ติดกับถนนรามอินทราซึ่งเป็นถนนใหญ่และเป็นถนนสายหลักย่อมมีคุณค่าในเชิงพาณิชย์และมีราคาสูงซึ่งโจทก์นำสืบว่าในเดือนธันวาคม 2534 นางสาวสายสุดา อ้นสุวรรณขายที่ดินโฉนดเลขที่ 87705 เนื้อที่ 275 ตารางวา ซึ่งติดถนนรามอินทราประมาณกิโลเมตรที่ 6.5 ให้แก่ธนาคารไทยทนุ จำกัดในราคา 26,000,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.19 และ จ.20หรือเฉลี่ยตารางวาละ 94,545 บาท และตามรายงานการประเมินราคาของบริษัทอเมริกันแอ๊พเพรซัล (ประเทศไทย) จำกัด ประเมินราคาที่ดินของโจทก์เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2536 ตารางวาละ 110,000 บาทตามเอกสารหมาย จ.10 โดยเฉพาะในภาคผนวก ข้อมูลตลาดที่ดินระบุว่าข้อ 2 ที่ดินว่างเปล่า ถนนรามอินทรา (หลักกิโลเมตรที่ 6)เสนอขายตารางวาละ 100,000 บาท เมื่อเดือนมิถุนายน 2536และข้อ 3 ระบุว่าที่ดินว่างเปล่าถนนรามอินทรา (ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 2-3) เนื้อที่ 200 ตารางวา เสนอขายตารางวาละ90,000 บาท เมื่อเดือนมิถุนายน 2536 ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากที่พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับเกือบ 3 ปี ดังนี้ เมื่อพิจารณาราคาที่ดินทั้ง 3 แปลง ดังกล่าวข้างต้นเห็นได้ว่าที่ดินของโจทก์ในปี 2533ควรมีราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดต่ำกว่าตารางวาละ90,000 บาท พอสมควร ราคาที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นกำหนดจึงน่าจะเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในปี 2533 ซึ่งเป็นปีที่พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับแต่เมื่อพิจารณาสภาพทำเลที่ตั้งที่ดินของโจทก์ปรากฏว่าที่ดินของโจทก์อยู่ติดกับถนนรามอินทรา และอยู่ติดกับซอยเป็นสุขซึ่งสามารถออกสู่ถนนลาดพร้าวและถนนสุขาภิบาล 1 ด้วยแล้ว เห็นว่า ราคาที่ดินของโจทก์ควรมีราคาสูงกว่าตารางวาละ 70,000 บาทและน่าจะมีราคาตารางวาละ 75,000 บาท ที่ศาลชั้นต้นกำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ในราคาตารางวาละ 90,000 บาท และศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยโดยให้เหตุผลอันเป็นสาระสำคัญประการหนึ่งว่าจำเลยที่ 1 จ่ายเงินให้แก่โจทก์เมื่อปี 2536 หลังจากที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตลาดพร้าว พ.ศ. 2533 จึงกำหนดให้ตารางวาละ 90,000 บาทนั้นไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 21(1) ซึ่งให้กำหนดตามราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับ ศาลฎีกาจึงไม่อาจเห็นพ้องด้วย ที่ดินของโจทก์มีเนื้อที่ 211 ตารางวาโจทก์จึงชอบที่จะได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มเป็นเงิน 1,055,000 บาทฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองเป็นประการที่ห้าว่า โจทก์ควรมีสิทธิได้รับค่าทดแทนความเสียหายเพิ่มเนื่องจากการที่โจทก์ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์เป็นเงิน200,000 บาท ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า ค่าทดแทนความเสียหายจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือเป็นที่ประกอบการค้าเนื่องจากการถูกเวนคืนเป็นค่าทดแทนที่จ่ายสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือที่ประกอบการค้าเนื่องจากการถูกเวนคืน มิใช่เป็นค่าเสียหายจากการที่ต้องรื้อถอนและขนย้ายสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือที่ประกอบการค้าหรือค่าเสียหายเนื่องจากกิจการค้าวัสดุก่อสร้างของโจทก์มีขนาดใหญ่ ทำให้สูญเสียทำเลการค้าที่ดินไป และสูญเสียโอกาสและผลประโยชน์อันควรได้จากการประกอบกิจการค้าดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ ที่จำเลยทั้งสองให้ค่าทดแทนความเสียหายที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์จำนวน46,636 บาท เหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว นั้นพิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบโดยจำเลยทั้งสองมิได้สืบพยานหักล้างและมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า ที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนโจทก์ได้ปลูกสร้างอาคารพาณิชย์เป็นตึก 3 ชั้นจำนวน 3 คูหา และโกดังเก็บสินค้าอีก 1 หลัง บนที่ดินโดยประกอบกิจการค้าจำหน่ายสินค้าวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ และอยู่อาศัยการค้าขายของโจทก์ได้กำไรเดือนละประมาณ 70,000 บาทเห็นว่าที่ดินของโจทก์ตั้งอยู่ติดถนนรามอินทรากิจการค้าวัสดุก่อสร้างของโจทก์เป็นการประกอบกิจการขนาดใหญ่พอสมควรมีอาคารใช้ในการประกอบกิจการถึง 3 คูหา และมีโกดังเก็บวัสดุก่อสร้างอีก 1 หลัง น่าเชื่อว่าโจทก์ได้รับประโยชน์เป็นกำไรจากการประกอบกิจการดังกล่าวสูงพอสมควรการที่โจทก์ต้องออกจากที่ดินและหยุดการประกอบกิจการค้าขายวัสดุก่อสร้างและต้องเสียทำเลทางการค้าที่ดินไป รวมทั้งสูญเสียผลประโยชน์ที่ควรจะพึงได้ในเวลาต่อมานั้นถือได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนชอบที่จะกำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับความเสียหายนั้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 21 วรรคท้าย ให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองจึงต้องกำหนดเงินค่าทดแทนในส่วนนี้แก่โจทก์ ซึ่งเมื่อพิจารณากิจการของโจทก์และกำไรที่โจทก์พึงได้จากการค้าขายวัสดุก่อสร้างตามที่โจทก์นำสืบแล้วเห็นว่าที่จำเลยทั้งสองกำหนดให้เป็นเงิน 46,636 บาทนั้นยังต่ำไป ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้เพิ่มให้แก่โจทก์อีก 200,000 บาท นั้น เป็นจำนวนที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์แล้วไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองเป็นประการสุดท้ายว่าโจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในจำนวนเงินค่าทดแทนที่ได้รับเพิ่มขึ้นหรือไม่เพียงใด ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดดอกเบี้ยในจำนวนเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินจึงชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าวแล้วแต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปี เพราะโจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้เพิ่มดอกเบี้ยจากที่ศาลชั้นต้นกำหนด ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์เพิ่มขึ้นอีก 1,255,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยไม่เกินอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share