คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4815/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2536 ซึ่งขณะนั้นพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 มาตรา 34 ที่ให้เพิ่มความตามมาตรา 91 ตรี แห่งพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ยังไม่มีผลใช้บังคับกรณีจึงนำมาตรา 91 ตรี มาใช้ย้อนหลังเป็นผลร้ายแก่จำเลยมิได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานฯ มาตรา 91 ตรี ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบมาตรา 195

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน 2536ติดต่อกันวันเดือนใดไม่ปรากฏชัด เวลากลางวัน จำเลยจัดหางานโดยประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานทั่วไป รวมทั้งนายประดิษฐ์ สุขใจ นายวงศ์ สุนันต๊ะ นายผัด ภิธรรมมา และนายป่วน ศรีวิชัย ผู้เสียหายทั้งสี่ซึ่งประสงค์จะไปทำงานในประเทศไต้หวันกับนายจ้างในประเทศไต้หวัน โดยจำเลยเรียกและรับค่าบริการเป็นการตอบแทนการจัดหางานไปทำงานต่างประเทศจากผู้เสียหายทั้งสี่คนละ 70,000 บาท อันเป็นการจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ ทั้งนี้โดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลาง อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และจำเลยหลอกลวงนายประดิษฐ์ นายวงศ์ นายผัดและนายป่วน ผู้เสียหายทั้งสี่โดยชักชวนผู้เสียหายทั้งสี่ว่าจำเลยสามารถหางานให้ผู้เสียหายทั้งสี่ไปทำงานที่ประเทศไต้หวันรายได้สูงสัญญาจ้าง 2 ปี แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายให้จำเลยคนละ70,000 บาท ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยไม่สามารถหางานให้ผู้เสียหายทั้งสี่ไปทำงานที่ประเทศไต้หวันได้แต่อย่างใดโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ทำให้ผู้เสียหายทั้งสี่หลงเชื่อและมอบเงินให้จำเลยไปคนละ 70,000 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยได้ไปทั้งสิ้น 280,000 บาท ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82, 91 ตรีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และนับโทษต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 148/2539 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การรับสารภาพและรับว่าเป็นคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง,82, 91 ตรี เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 3 ปี ฐานหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 3 ปี คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่าการกระทำของจำเลยตามฟ้องข้อ (ข) เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี หรือไม่เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2536 ซึ่งขณะนั้นพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 มาตรา 34 ที่ให้เพิ่มความตามมาตรา 91 ตรี แห่งพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ยังไม่มีผลใช้บังคับ โดยพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 26 มิถุนายน 2537 และให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป กรณีจึงนำมาตรา 91 ตรี แห่งพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาใช้ย้อนหลังเป็นผลร้ายแก่จำเลยมิได้ การกระทำของจำเลยตามฟ้อง ข้อ (ข) จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคแรก ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบมาตรา 195
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในความผิดฐานหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share