แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
รถยนต์ที่จำเลยใช้เป็นพาหนะในการขนส่งมีน้ำหนักไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัม เป็นการขนส่งที่พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 5(2) ยกเว้นมิให้ใช้บังคับดังนี้การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 23,93,126,151 แห่งกฎหมายดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2531 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยประกอบการขนส่งประจำทางโดยนำรถยนต์นั่งสองแถวประเภทบุคคลน้ำหนัก 1,250 กิโลกรัม ซึ่งมิใช่รถยนต์โดยสารประจำทางมาวิ่งรับส่งคนโดยสารตามถนนสุขุมวิท 77 (ซอยอ่อนนุช)จากทางลาดกระบังมุ่งหน้าไปทางพระโขนง อันเป็นเส้นทางที่คณะกรรมการกำหนดให้บริษัทลาดกระบัง จำกัด มีสิทธิประกอบการขนส่งประจำทางในเส้นทางที่ 1013 พระโขนง-ลาดกระบังโดยจำเลยเรียกเก็บเงินเพื่อสินจ้างจากคนโดยสารเป็นรายตัวโดยไม่รับอนุญาตจากนายทะเบียนและจำเลยได้ทำหน้าที่เป็นผู้ประจำรถโดยเป็นผู้ขับรถยนต์ดังกล่าว โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน และจำเลยได้ใช้รถไม่ตรงตามประเภทที่จดทะเบียนไว้โดยนำรถยนต์คันหมายเลขทะเบียนดังกล่าวซึ่งจดทะเบียนประเภทรถส่วนบุคคลมาวิ่งรับจ้างอย่างรถยนต์โดยสารสาธารณะโดยมิได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย เหตุเกิดที่แขวงประเวศ เขตพระโขนงกรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 23, 92, 126, 151 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2523 มาตรา 3 พระราชบัญญัติรถยนต์พ.ศ. 2522 มาตรา 21, 22, 60 พระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2527 มาตรา 7 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 91และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2526 มาตรา 4
จำเลยให้การปฏิเสธ ระหว่างการพิจารณา หลังจากสืบพยานโจทก์ได้ 1 ปาก จำเลยขอถอนคำให้การเดิม แล้วให้การรับสารภาพตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 23, 126 จำคุก 1 ปี ปรับ40,000 บาท ตามมาตรา 92, 93, 151 ปรับ 4,000 บาทและมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 21, 22, 60ที่แก้ไขแล้ว ปรับ 1,900 บาท รวมจำคุก 1 ปี ปรับ 45,900 บาทจำเลยให้การรับสารภาพหลังจากสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้วเป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 8 เดือนปรับ 30,600 บาท โทษจำคุกรอ 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 23, 126, 93, 151นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522ตามที่ฟ้องหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 5 ที่แก้ไขแล้วบัญญัติว่า “พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่ (2) การขนส่งโดยรถยนต์รับจ้างที่บรรทุกผู้โดยสารไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัดที่บรรทุกผู้โดยสารไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์บริการที่บรรทุกผู้โดยสารไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินสิบสองคน รถยนต์ส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักรถไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัม” ดังนี้จะเห็นได้ว่า พระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่ประสงค์จะบังคับใช้กับการขนส่งโดยพาหนะบางขนาด ดังนั้นแม้จำเลยจะได้นำรถยนต์ตามที่ฟ้องวิ่งรับส่งคนโดยสารตามเส้นทางที่คณะกรรมการกำหนดให้บริษัทลาดกระบัง จำกัด มีสิทธิประกอบการขนส่งประจำทางโดยเรียกเก็บเงินเพื่อสินจ้างจากคนโดยสารเป็นรายตัวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนก็ตาม แต่ตามคำฟ้องนั้นรถยนต์ที่จำเลยใช้เป็นพาหนะในการขนส่งมีน้ำหนักไม่เกินหนึ่งพันหักร้อยกิโลกรัม อันเป็นการขนส่งโดยพาหนะที่พระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 5(2) ยกเว้นมิให้ใช้บังคับ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 23, 126 และมาตรา 93, 151 ตามที่โจทก์ฟ้องศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน