คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 295/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทำงานกับจำเลยในหน้าที่ผู้อำนวยการฝ่ายบุคคลการที่โจทก์เห็นปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารของผู้จัดการทั่วไป โจทก์จึงมีหนังสือถึงประธานกรรมการจำเลยซึ่งมีข้อความว่า “ผู้จัดการทั่วไปขาดการเรียนรู้ถึงการบริหารงาน ทำงานไม่เป็น ปฏิบัติไป ในทางลิดรอนสิทธิอำนาจในการบริหารงานของหัวหน้าแผนก งานทุกอย่างจะต้องผ่านการเห็นชอบทำให้พนักงานทำงานกันไม่ได้ เต็มที่เนื่องจากการหวาดกลัว การวิตกว่าจะถูกตัดค่าจ้าง และหรือจ่ายค่าชดเชยแก่โรงแรม” และขอเข้าพบประธานกรรมการเพื่อต้องการเสนอปัญหา และประสงค์ที่จะเสนอข้ออันควรปรับปรุงแก้ไขต่อประธานกรรมการผู้มีอำนาจในการตัดสินใจได้ อันเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่เป็นฝ่ายบริหารระดับสูงด้วยคนหนึ่งเท่านั้นทั้งถ้อยคำตามหนังสือไม่มีข้อความตอนใดดูถูกดูหมิ่นอันเป็นการหมิ่นประมาทผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลใด ๆ ของจำเลยอันถือได้ว่าเป็นกรณีร้ายแรง การกระทำของโจทก์อาจเป็น ผลดีต่อจำเลยก็ได้ เมื่อโจทก์ไม่มีความผิดใดในอันที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยชอบ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุอันสมควรและเป็นการเลิกจ้าง ที่ไม่เป็นธรรม จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าว ล่วงหน้าและค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์เข้าทำงาน ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการฝ่ายบุคคล ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2540 จำเลยได้หนังสือเลิกจ้างโจทก์อ้างว่าโจทก์ได้ทำผิดตามระเบียบของจำเลย โดยกล่าวหาว่า โจทก์ได้เขียนหนังสือมีข้อความเป็นการหมิ่นประมาทผู้บังคับบัญชา ถือว่าเป็นกรณีร้ายแรงความจริงเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2540 โจทก์ได้ทำหนังสือถึงประธานกรรมการบริษัทจำเลย เรื่องปัญหาในการบริหารงานของผู้จัดการทั่วไปเพื่อขอเข้าพบและชี้แจงรายละเอียดของปัญหาที่เกิดขึ้น โจทก์มิได้มีเจตนาหมิ่นประมาทผู้บังคับบัญชาแต่อย่างใด การกระทำของโจทก์มิได้เป็นการกระทำผิดการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยรวม 165,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 110,000 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 110,000 บาท
จำเลยให้การว่า การที่โจทก์ได้ทำหนังสือถึงประธานกรรมการบริษัทซึ่งเป็นบุคคลที่สาม โดยกล่าวหาว่า “ผู้จัดการทั่วไปขาดการเรียนรู้ถึงการบริหารงาน ทำงานไม่เป็น ปฏิบัติไปในทางลิดรอนสิทธิอำนาจในการบริหารงานของหัวหน้าแผนก งานทุกอย่างจะต้องผ่านการเห็นชอบ ทำให้พนักงานทำงานกันไม่ได้เต็มที่เนื่องจากการหวาดกลัว การวิตกว่าจะถูกตัดค่าจ้างและหรือจ่ายค่าชดเชยแก่โรงแรม” หากผู้อื่นได้อ่านข้อความดังกล่าวทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่า ผู้จัดการทั่วไปบริหารงานโดยการใช้อำนาจข่มขู่พนักงานอันเป็นเหตุให้ผู้จัดการทั่วไปเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชังเป็นการหมิ่นประมาทผู้บังคับบัญชาและประธานกรรมการไม่เห็นด้วยกับการกระทำของโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำการตามขั้นตอน อีกทั้งขาดความเคารพเชื่อฟังผู้บังคับบัญชาถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ การเลิกจ้างโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของบริษัทจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน165,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน110,000 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 55,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่และโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายอันเนื่องจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า หนังสือของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.4 ถึงประธานกรรมการจำเลยเป็นการหมิ่นประมาทนางสาวทวีอัตถ์ คุณากร ผู้จัดการทั่วไปของจำเลย และเป็นการหมิ่นประมาทจำเลยอย่างร้ายแรง อันเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลยนั้น เห็นว่า โจทก์ทำงานกับจำเลยในหน้าที่ผู้อำนวยการฝ่ายบุคคล การที่โจทก์เห็นปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารของผู้จัดการทั่วไป โจทก์จึงมีหนังสือตามเอกสารหมาย ล.4ถึงประธานกรรมการจำเลย และขอเข้าพบประธานกรรมการก็เพื่อต้องการเสนอปัญหาและประสงค์ที่จะเสนอข้ออันควรปรับปรุงแก้ไขต่อประธานกรรมการผู้มีอำนาจในการตัดสินใจได้ อันเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่เป็นฝ่ายบริหารระดับสูงด้วยคนหนึ่งเท่านั้น ทั้งถ้อยคำตามเอกสารหมาย ล.4 ก็ไม่มีข้อความตอนใดดูถูกดูหมิ่นอันเป็นการหมิ่นประมาทผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลใด ๆ ของจำเลยอันถือได้ว่าเป็นกรณีร้ายแรงการกระทำของโจทก์อาจเป็นผลดีต่อจำเลยก็ได้ โจทก์จึงไม่มีความผิดใดในอันที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยชอบ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุอันสมควรและเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์
พิพากษายืน

Share