แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การพิจารณาคดีตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ต้องให้ได้ความว่า จำเลยกระทำการครบถ้วนตามองค์ประกอบความผิดที่กฎหมายบัญญัติ กล่าวคือได้ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย และธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามที่กฎหมายบัญญัติ ส่วนปัญหาว่า หลังจากที่ธนาคารปฏิเสธ การจ่ายเงินแล้วมีการชำระเงินตามเช็คให้แก่ผู้ทรงมากน้อยเพียงใด ไม่ใช่ข้อสำคัญในคดี เพราะไม่ใช่เหตุผลที่ศาล จะนำไปวินิจฉัยชี้ขาดว่า จำเลยในคดีเรื่องนั้นกระทำความผิดหรือไม่ เว้นแต่เป็นการเบิกความว่า ได้ใช้เงินตามเช็ค ให้แก่ผู้ทรงภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้ออกเช็คได้รับหนังสือทวงถามว่าธนาคารไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ซึ่งทำให้คดีเลิกกันตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7 ดังนี้ การที่จำเลยเบิกความต่อศาลในคดีที่โจทก์ถูกฟ้องให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ ว่า หลังจากที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คโจทก์ ซึ่งเป็นผู้ออกเช็คไม่เคยชำระเงินให้แก่จำเลยซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คเลย จึงไม่ใช่ข้อสำคัญในคดี แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเบิกความ ต่อศาลดังกล่าวก็ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานเบิกความเท็จ ตาม ป.อ. มาตรา 177 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา ๑๗๗
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๑๗๗ วรรคสอง จำคุก ๑ ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว เห็นว่า องค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ ย่อมขึ้นอยู่กับการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย แล้วธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น เนื่องจากผู้ออกเช็คเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค หรือในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ หรือออกเช็คสั่งจ่ายเงินจำนวนสูงกว่าเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น หรือถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้ หรือห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นด้วยเจตนาทุจริต ดังนั้น ในการพิจารณาคดีอาญาดังกล่าวต้องให้ได้ความว่า จำเลยกระทำการครบถ้วนตามองค์ประกอบความผิดที่กฎหมายบัญญัติ กล่าวคือ ได้ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย และธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามที่กฎหมายบัญญัติ ส่วนปัญหาว่า หลังจากที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้วมีการชำระเงินตามเช็คให้แก่ผู้ทรงเช็คมากน้อยเพียงใด น่าจะมิใช่ข้อสำคัญในคดี เพราะไม่ใช่เหตุผลที่ศาลจะนำไปวินิจฉัยชี้ขาดว่า จำเลยในคดีเรื่องนั้นกระทำความผิดจริงหรือไม่ เว้นแต่เป็นการเบิกความว่าได้ใช้เงินตามเช็คให้แก่ผู้ทรงเช็คภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้ออกเช็คได้รับหนังสือทวงถามว่าธนาคารไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ซึ่งทำให้คดีเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๗ เมื่อเป็นเช่นนี้ที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเบิกความว่า หลังจากที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค ผู้ออกเช็คไม่เคยชำระเงินให้แก่จำเลยจึงมิใช่ข้อสำคัญในคดี ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมิได้จัดการให้โจทก์เช่าที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อสร้างถนนและสะพานผ่านเข้าออกไปยังที่ดินของโจทก์ และขอให้ลงโทษฐานเบิกความเท็จตาม ป.อ. มาตรา ๑๗๗ นั้น ตามคำฟ้องในข้อนี้ ไม่เป็นที่เข้าใจว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยฐานเบิกความเท็จในข้อใด แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำการตามฟ้องก็ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานเบิกความเท็จได้
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง .