แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำสั่งให้ใช้วิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในคดีแรงงานอยู่ในบังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 254 , 255 ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ฯ มาตรา 31 , 58 ซึ่งเจตนารมณ์ในการอนุญาตให้ใช้วิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามคำขอของโจทก์ ต้องเป็นกรณีจำเลยตั้งใจจะกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไปซึ่งการกระทำที่ถูกฟ้องร้อง และทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเสียหายต่อไปเนื่องจากการกระทำของจำเลย จำเลยที่ 1 มีคำสั่งพักงานโจทก์ก่อนโจทก์ยื่นฟ้อง และมีคำขอให้ใช้วิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาประมาณ 6 เดือน ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการอันเป็นการกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไปที่จะทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเสียหายต่อไปอีกแต่อย่างใด เหตุที่อ้างว่าคำสั่งพักงานทำให้โจทก์เสียสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังคำสั่งพักงานเกือบ 7 เดือน ซึ่งไม่แน่ว่าโจทก์จะได้รับพิจารณาแต่งตั้งเพราะโจทก์ถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยถึง 5 เรื่อง ประกอบกับคำขอคุ้มครองชั่วคราวตรงตามประเด็นข้อพิพาทในคดีที่จะต้องวินิจฉัยก่อน การยื่นคำขอก็ล่วงเลยเวลาอันควร หากนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามคำขอของโจทก์มาใช้ ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 1 เช่นกัน จึงยังไม่มีเหตุสมควรเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 254 (2) ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ฯ มาตรา 31 , 58 มาใช้ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพักงานของจำเลยที่ ๑ เพิกถอนมติในการประชุมครั้งที่ ๑๕/๒๕๔๔ ให้จำเลยที่ ๑ จ่ายเงินเดือนค่าจ้างค้างจ่ายรวม ๘๕๘,๖๒๕.๘๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันสั่งพักงาน กับให้ชำระเงินและสวัสดิการต่าง ๆ ที่โจทก์พึงได้ตามปกตินับแต่วันสั่งพักงานและให้จำเลยที่ ๒ ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๕๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันสั่งพักงานจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ใช้วิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในเหตุฉุกเฉินอ้างว่า คำสั่งพักงานของจำเลยที่ ๑ เป็นเหตุให้โจทก์เสียสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ ซึ่งว่างลงเพราะจำเลยที่ ๒ ลาออกตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕
ศาลแรงงานกลางไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า คำฟ้องของโจทก์มีมูลและมีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้ จึงให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ พ. ๑๒๗/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๔ เพิกถอนมติในการประชุมคณะกรรมการของจำเลยที่ ๑ ครั้งที่ ๑๕/๒๕๔๔ เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๔๔ เป็นการชั่วคราว ให้จำเลยที่ ๑ จ่ายเงินเดือนค่าจ้าง สิทธิประโยชน์อันโจทก์พึงได้รับตามปกติให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ตลอดเวลาที่โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยที่ ๑ คำสั่งนี้ให้มีผลทันทีนับแต่วันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๔๕ โดยให้โจทก์วางเงินหรือหลักทรัพย์เป็นประกันความเสียหายไม่น้อยกว่า ๕๐๐,๐๐๐ บาท ก่อนออกหมาย
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งให้ใช้วิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาและยื่นคำร้องในกรณีฉุกเฉิน
ศาลแรงงานกลางไต่สวนแล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ ว่า มีเหตุสมควรเพิกถอนคำสั่งให้ใช้วิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามคำสั่งของศาลแรงงานกลางหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว คำสั่งให้ใช้วิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในคดีแรงงานอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๕๔ , ๒๕๕ ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ , ๕๘ โดยมาตรา ๒๕๔ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งวางหลักเกณฑ์เพื่อจัดให้มีวิธีการคุ้มครองตาม (๒) ว่า ให้ศาลมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไปซึ่งการกระทำที่ถูกฟ้องร้อง หรือมีคำสั่งอื่นใดในอันที่จะบรรเทาความเดือดร้อน เสียหายที่โจทก์อาจได้รับต่อไปเนื่องจากการกระทำของจำเลย และตามมาตรา ๒๕๕ ในการพิจารณาอนุญาตตามคำขอต้องให้เป็นที่พอใจของศาลว่า คำฟ้องมีมูลและมีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีคุ้มครองตามที่ขอนั้นมาใช้ โดยคำขอตามมาตรา ๒๕๔ (๒) ต้องให้เป็นที่พอใจของศาลว่า
(ก) จำเลยตั้งใจจะกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไปซึ่งการกระทำที่ถูกฟ้องร้อง
(ข) โจทก์จะได้รับความเดือดร้อนเสียหายต่อไปหรือไม่เนื่องจากการกระทำของจำเลย
(ค)
(ง) มีเหตุตาม (๑)
(ข) มีเหตุจำเป็นอื่นใดตามที่ศาลจะพิเคราะห์เห็นเป็นการยุติธรรมและสมควร
จะเห็นได้ว่าเจตนารมณ์ในการอนุญาตให้ใช้วิธีคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามคำขอของโจทก์ ต้องเป็นกรณีจำเลยตั้งใจจะกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไปซึ่งการกระทำที่ถูกฟ้องร้อง และทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเสียหายต่อไปเนื่องจากการกระทำของจำเลยซึ่งตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องจำเลยที่ ๑ มีคำสั่งพักงานโจทก์มาตั้งแต่วันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ก่อนโจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๕ และมีคำขอให้ใช้วิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาประมาณ ๖ เดือน ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ได้กระทำการอันเป็นการกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไปอันจะทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเสียหายต่อไปอีกแต่อย่างใด ทั้งเหตุที่โจทก์อ้างว่าคำสั่งให้โจทก์พักงาน ทำให้โจทก์เสียสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการของจำเลยที่ ๑ ซึ่งจะว่างลงในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากจำเลยที่ ๑ มีคำสั่งให้โจทก์พักงานนานเกือบ ๗ เดือน แม้จะไม่มีการยื่นฟ้องและขอคุ้มครองชั่วคราวคดีนี้ก็ยังไม่แน่นอนว่าโจทก์จะได้รับการพิจารณาแต่งตั้ง เนื่องจากโจทก์อยู่ในระหว่างถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยถึง ๕ เรื่อง โดย ๒ เรื่องเกิดเหตุมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลจะพึงอนุญาตตามคำขอของโจทก์ ประกอบกับคำขอใช้วิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาของโจทก์ ตรงตามประเด็นข้อพิพาทในคดีที่จะต้องวินิจฉัยก่อนทุกประการและการยื่นคำขอล่วงเลยเวลาอันสมควร ทั้งหากนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามคำขอของโจทก์มาใช้ ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ ๑ เช่นกัน กรณีจึงยังไม่มีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๕๔ (๒) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ , ๕๘ มาใช้ในคดีนี้ อุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยที่ ๑ ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป คำสั่งของศาลแรงงานกลางไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งให้ใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาของศาลแรงงานกลาง.