คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7986/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จะได้ความว่าจำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ไปกระทำชำเราและอยู่กินกับจำเลยเป็นเวลา 5 เดือน แล้วจำเลยได้สู่ขอและแต่งงานกับผู้เสียหายที่ 2 แต่ภายหลังจากนั้น 3 – 4 วัน ผู้เสียหายที่ 2 กลับไปอยู่กับผู้เสียหายที่ 1 และแท้งบุตร จำเลยไม่เคยไปเยี่ยมและไปมาหาสู่อีกเลย พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 2 เพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑, ๒๗๗, ๓๑๗
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗ วรรคสอง, ๓๑๗ วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ความผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร จำคุก ๕ ปี ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบสามปี จำคุก ๗ ปี รวมจำคุก ๑๒ ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๖ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗ วรรคสอง ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๖ แล้ว จำคุก ๓ ปี ๖ เดือน และปรับ ๑๐,๐๐๐ บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑ ปี ๙ เดือน และปรับ ๕,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี…
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในชั้นฎีกาคงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน ๑๕ ปี ไปเสียจากมารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรและเพื่อการอนาจารหรือไม่… เห็นว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ ๒ มีอายุ ๑๒ ปีเศษ เป็นบุตรเพียงคนเดียวของผู้เสียหายที่ ๑ ซึ่งเป็นมารดา ผู้เสียหายที่ ๒ อยู่ในความปกครองดูแลและกินอยู่กับผู้เสียหายที่ ๑ ผู้เสียหายที่ ๒ ไม่เคยออกไปเที่ยวที่ใดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายที่ ๑ และโดยลำพังเลย ดังนั้น การที่จำเลยนำรถจักรยานยนต์มารับผู้เสียหายที่ ๒ ที่บ้านโดยผู้เสียหายที่ ๑ ไม่อยู่บ้านและไม่ทราบเรื่องตอนเวลาประมาณ ๔ นาฬิกา แล้วพาผู้เสียหายที่ ๒ เดินทางไปจังหวัดนครปฐมและกระทำชำเราผู้เสียหายที่ ๒ จากนั้นจำเลยก็พาผู้เสียหายที่ ๒ เดินทางไปหางานทำที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและอยู่กินกับผู้เสียหายที่ ๒ ตลอดมาเป็นเวลาประมาณ ๕ เดือน โดยที่ผู้เสียหายที่ ๒ ไม่รู้เส้นทางที่จะขึ้นรถกลับไปหาผู้เสียหายที่ ๑ ที่บ้าน การกระทำของจำเลยลักษณะนี้ย่อมเป็นการไม่ถูกต้องด้วยทำนองคลองธรรมโดยการพาไปหรือแยกผู้เสียหายที่ ๒ ซึ่งยังเยาว์วัยออกจากการปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ ๑ ผู้เป็นมารดา ซึ่งผู้เสียหายที่ ๑ มิได้อนุญาตให้ผู้เสียหายที่ ๒ ไปอยู่กินเป็นภริยาจำเลย ถือได้ว่าจำเลยโดยปราศจากเหตุอันสมควรได้พรากผู้เสียหายที่ ๒ อายุไม่เกิน ๑๕ ปี ไปเสียจากผู้เสียหายที่ ๑ ผู้เป็นมารดาแล้ว อีกทั้งในระหว่างที่จำเลยพรากผู้เสียหายที่ ๒ ไปจากอำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ ๑ ผู้เป็นมารดานั้น จำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ ๒ ตลอดมา โดยไม่ได้ให้บิดามารดาจำเลยซึ่งรู้จักคุ้นเคยกับผู้เสียหายที่ ๑ ไปทำการสู่ขอผู้เสียหายที่ ๒ ให้เป็นภริยาจำเลยให้ถูกต้องตามประเพณีแต่อย่างใด จนกระทั่งเมื่อทราบว่าผู้เสียหายที่ ๑ แจ้งความดำเนินคดีแล้ว จำเลยจึงให้บิดามารดาของตนติดต่อผู้เสียหายที่ ๑ สู่ขอผู้เสียหายที่ ๒ ให้เป็นภริยาจำเลยและมีการทำพิธีสู่ขอกันตามประเพณีแล้วเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๔๓ แต่ภายหลังนั้นจำเลยอยู่กินกับผู้เสียหายที่ ๒ ต่อมาอีก ๓ ถึง ๔ วัน ผู้เสียหายที่ ๒ กลับมาอยู่กับผู้เสียหายที่ ๑ ที่บ้านและแท้งบุตร จำเลยก็ไม่เคยมาเยี่ยมหรือไปมาหาสู่ฉันสามีภริยากับผู้เสียหายที่ ๒ อีกเลย ส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้ประสงค์ที่จะอยู่กินฉันสามีภริยากับผู้เสียหายที่ ๒ อย่างแท้จริง การทำพิธีสู่ขอผู้เสียหายที่ ๒ นั้นก็เพียงเพื่อจะให้หลุดพ้นจากความผิดตามที่ผู้เสียหายที่ ๑ แจ้งความร้องทุกข์ไว้เท่านั้น เมื่อเสร็จพิธีสู่ขอแล้วจำเลยก็มิได้มีใจเยื่อไยดีต่อผู้เสียหายที่ ๒ ทั้งที่ตั้งครรภ์กับจำเลย จนผู้เสียหายที่ ๒ แท้งบุตรก็ไม่เคยพบจำเลยอีก พฤติการณ์เช่นนี้ถือว่าเป็นการพรากผู้เสียหายที่ ๒ ผู้เยาว์ไปเสียจากผู้เสียหายที่ ๑ ผู้เป็นมารดาเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๗ วรรคสาม แล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น…
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗ วรรคสอง และมาตรา ๓๑๗ วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ และให้ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๖ ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี จำคุก ๓ ปี ๖ เดือน และฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร จำคุก ๒ ปี ๖ เดือน รวมจำคุก ๕ ปี ๑๒ เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๒ ปี ๑๒ เดือน.

Share