แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้างหุ้นส่วนจำกัดใดแล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมจะขอให้ผู้ที่เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นล้มละลายได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดเป็นหนี้สินของผู้เป็นหุ้นส่วนดังกล่าว และผู้เป็นหุ้นส่วนดังกล่าวมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ เพราะผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดต้องร่วมรับผิดในหนี้สินโดยไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1070, 1077
การพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวเป็นการไต่สวนคำขอของโจทก์ฝ่ายเดียวในขั้นแรกขณะเริ่มฟ้อง และเพียงแต่ศาลเห็นว่าคดีมีมูลก็มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราวได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 17 ขณะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องขอให้ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดล้มละลาย ปรากฏว่าศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดเด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว จึงเลยขั้นตอนที่ว่าคดีมีมูลหรือไม่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดผู้เป็นหุ้นส่วนดังกล่าวเด็ดขาดเช่นเดียวกับห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นได้โดยไม่ต้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวก่อน
ผู้คัดค้านแสดงความจำนงต่อหุ้นส่วนอื่นขอถอนตัวออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดแต่ยังมิได้แก้ไขข้อความดังกล่าวทางทะเบียนจึงยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตไม่ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดห้างหุ้นส่วนจำกัดช่วงเซ้ง และพิพากษาให้ล้มละลาย ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดช่วงเซ้ง ยื่นคำร้องว่าผู้คัดค้านเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านเด็ดขาด และพิพากษาให้ล้มละลายตามห้างหุ้นส่วนจำกัดช่วงเซ้งต่อไปตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๘๙
ผู้คัดค้านคัดค้านว่า ผู้คัดค้านขอถอนตัวออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดแล้ว หนี้สินของห้างหากมีก็ไม่ใช่หนี้สินของผู้คัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านเด็ดขาด
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๘๙ บัญญัติว่า “เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งได้จดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดแล้ว เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอโดยทำเป็นคำร้องให้บุคคลซึ่งนำสืบได้ว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนนั้นล้มละลายได้ โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีขึ้นใหม่”คดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้างหุ้นส่วนจำกัดช่วงเซ้งแล้ว ผู้ร้องย่อมจะขอให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดช่วงเซ้งล้มละลายได้ตามบทกฎหมายดังกล่าวโดยไม่ต้องคำนึงว่าหนี้สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดช่วงเซ้ง เป็นหนี้สินของผู้คัดค้านหรือไม่และผู้คัดค้านมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ เพราะเมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดช่วงเซ้งผิดนัดชำระหนี้ ผู้คัดค้านย่อมต้องร่วมรับผิดในหนี้สินดังกล่าวโดยไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๗๐ และ ๑๐๗๗ ข้อที่ผู้คัดค้านฎีกาว่าได้แสดงความจำนงต่อหุ้นส่วนอื่นขอถอนตัวออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดแล้ว ผู้คัดค้านจึงไม่ต้องรับผิดในหนี้สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดช่วงเซ้ง นั้น ผู้คัดค้านรับว่ายังมิได้แก้ไขข้อความดังกล่าวทางทะเบียนต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร จึงยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เจ้าหนี้หรือผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและกระทำการโดย สุจริตไม่ได้ ประการสุดท้ายข้อที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้ร้องมีสิทธิเพียงขอให้พิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านชั่วคราวไม่มีสิทธิขอให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวเป็นการไต่สวนคำขอของโจทก์ฝ่ายเดียวในชั้นแรกขณะเริ่มฟ้อง และเพียงแต่ศาลเห็นว่าคดีมีมูลก็มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชั่วคราวได้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๗ แต่คดีนี้ขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านล้มละลายปรากฏว่าศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดช่วงเซ้งเด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายในเวลาต่อมาแล้วจึงเลยขั้นตอนที่ว่าคดีมีมูลหรือไม่ทั้งผู้คัดค้านต้องร่วมรับผิดในหนี้สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดช่วงเซ้ง ผู้ร้องจึงขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของผู้คัดค้านเด็ดขาดเช่นเดียวกับห้างหุ้นส่วนจำกัดช่วงเซ้ง ได้ ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในสำนวนพอวินิจฉัยคดีได้ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของผู้คัดค้านโดยไม่ทำการไต่สวนต่อไปชอบแล้ว
พิพากษายืน