คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5089/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประเด็นในเรื่องคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น ศาลชั้นต้นได้กำหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีในชั้นชี้สองสถานแล้วเพียงแต่เมื่อศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์ในประเด็นข้อพิพาทข้ออื่นจึงไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นเรื่องคดีโจทก์ขาดอายุความ แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องซึ่งมีผลเป็นการกลับคำชี้ขาดของศาลชั้นต้นแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจว่าจะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยและพิพากษาในประเด็นเรื่องอื่นที่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยซึ่งรวมทั้งประเด็นเรื่องอายุความด้วยหรือวินิจฉัยไปเสียทีเดียว หากเห็นว่าข้อเท็จจริงในสำนวนเพียงพอต่อการวินิจฉัยข้อกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าโจทก์และจำเลยทั้งสามต่างนำพยานหลักฐานของตนเข้าสืบจนเสร็จสิ้นแล้ว การที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยอาจเกิดความล่าช้าต่อการพิจารณาพิพากษาคดี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงมีอำนาจที่จะหยิบยกเรื่องอายุความอันเป็นประเด็นแห่งคดีที่ศาลชั้นต้นชี้สองสถานไว้และยังไม่ยุติไปขึ้นวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นไปเสียทีเดียวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 240 และ 243 การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 10864 ตำบลแสนสุข (ธาตุ) อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และนิติกรรมขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 จำเลยที่ 3 ถึงแก่กรรม นางอัมพรยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่าที่ดินพิพาทคือ ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 10864 ตำบลแสนสุข (ธาตุ) อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เดิมที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 โจทก์กับจำเลยที่ 1 เคยมีคดีฟ้องร้องกันเกี่ยวกับที่ดินพิพาทต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1106/2533 ซึ่งคดีแพ่งดังกล่าวถึงที่สุดโดยศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2531 ฟังไม่ได้ว่าจำเลย (คือโจทก์คดีนี้) ผิดสัญญา โจทก์ (คือ จำเลยที่ 1 คดีนี้) ไม่มีสิทธิเลิกสัญญา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ (คือจำเลยที่ 1 คดีนี้) ให้โจทก์รับเงิน 270,000 บาท จากจำเลย (คือโจทก์คดีนี้) และโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย…นั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาพิพากษายืน รายละเอียดปรากฏตามคำพิพากษาศาลฎีกาในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1106/2533 ของศาลชั้นต้นที่ผูกรวมอยู่กับคดีนี้ หลังจากนั้นโจทก์ไม่สามารถบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวได้ เนื่องจากที่ดินพิพาทได้โอนไปยังจำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วตามลำดับ โดยจำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนขายฝากให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2532 มีกำหนดไถ่ถอนภายใน 2 ปี ครบกำหนดแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ไถ่ถอน ต่อมาวันที่ 1 พฤศจิกายน 2538 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1106/2533 แล้ว จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3
คดีมีปัญหาในชั้นฎีกาของโจทก์ในข้อแรกว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 หยิบยกประเด็นในเรื่องอายุความมาวินิจฉัยยกฟ้องโจทก์ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่งหรือไม่ ในข้อนี้ โจทก์ฎีกาอ้างว่าประเด็นในเรื่องอายุความยุติในศาลชั้นต้นแล้ว เนื่องจากศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยในประเด็นเรื่องอายุความและจำเลยทั้งสามมิได้อุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าวไว้จึงเท่ากับว่าประเด็นดังกล่าวมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่า ประเด็นในเรื่องคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น ศาลชั้นต้นได้กำหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีในชั้นชี้สองสถานแล้วเพียงแต่เมื่อศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์ในประเด็นข้อพิพาทข้ออื่นจึงไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นเรื่องคดีโจทก์ขาดอายุความ แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องซึ่งมีผลเป็นการกลับคำชี้ขาดของศาลชั้นต้นแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจว่าจะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยและพิพากษาในประเด็นเรื่องอื่นที่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยซึ่งรวมทั้งประเด็นเรื่องอายุความด้วยหรือวินิจฉัยไปเสียทีเดียวหากเห็นว่าข้อเท็จจริงในสำนวนเพียงพอต่อการวินิจฉัยข้อกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าโจทก์และจำเลยทั้งสามต่างนำพยานหลักฐานของตนเข้าสืบจนเสร็จสิ้นแล้ว การที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยอาจเกิดความล่าช้าต่อการพิจารณาพิพากษาคดี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงมีอำนาจที่จะหยิบยกเรื่องอายุความอันเป็นประเด็นแห่งคดีที่ศาลชั้นต้นชี้สองสถานไว้และยังไม่ยุติไปขึ้นวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นไปเสียทีเดียว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240 และ 243 การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share