แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๘/๒๕๔๘
วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๘
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแพ่ง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลหนึ่งไม่รับฟ้อง เพราะเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้ว ศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีนั้น ไม่อยู่ในเขตอำนาจเช่นกัน
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๔๒ นายสามารถ มัททวีวงศ์ โจทก์ ยื่นฟ้องกรมบัญชีกลาง ที่ ๑ กระทรวงการคลัง ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ปค. ๒๓๓/๒๕๔๒ โดยอ้างว่า การดำเนินการสอบสวนทางวินัยของของกรมบัญชีกลางและ อ.ก.พ. กระทรวงการคลัง และคำสั่งลงโทษทางวินัยแก่นายสามารถไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งกรมบัญชีกลางที่แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย และเพิกถอนคำสั่งกรมบัญชีกลางที่ ก ๑๓๒/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๔๑ ให้ปลดออกจากราชการเนื่องจากกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงขณะรับราชการในตำแหน่งคลังจังหวัดยโสธรตามมาตรา ๘๔ วรรคสอง และประพฤติชั่วตามมาตรา ๙๘ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ และคำสั่งกรมบัญชีกลางที่ ก ๑๓๓/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๔๑ ให้ไล่ออกจากราชการเนื่องจากกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง กรณีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบขณะรับราชการในตำแหน่งคลังจังหวัดชัยภูมิตามมาตรา ๘๒ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ พร้อมทั้งให้เพิกถอนมติ อ.ก.พ. กระทรวงการคลังที่มีมติให้ไล่โจทก์ออกจากราชการทั้งสองมติ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดต่อชื่อเสียงและเกียรติยศ ทั้งนี้ หากไม่สามารถเพิกถอนคำสั่งและมติดังกล่าวได้ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเกี่ยวกับเงินเดือน บำนาญ และบำเหน็จตกทอดแก่โจทก์ด้วย
อนึ่ง เมื่อ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ ก่อนฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง นายสามารถได้อุทธรณ์คำสั่งกรมบัญชีกลางทั้งสองคำสั่งต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนตามมาตรา ๑๒๖ แห่งพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ และกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๖ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการอุทธรณ์และพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งต่อมา ก.พ. ได้แจ้งผลการพิจารณาว่า ก.พ. ได้พิจารณาอุทธรณ์และเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการแล้ว รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ทั้งสองเรื่อง หากประสงค์จะฟ้องคดีต่อศาลปกครองให้ทำคำฟ้องเป็นหนังสือยื่นต่อศาลปกครองภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รับแจ้งหรือทราบคำสั่งของนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม นายสามารถเห็นว่าข้อพิพาทดังกล่าวมีข้อเท็จจริงเดียวกับคดีที่ได้ยื่นฟ้องกรมบัญชีกลางและกระทรวงการคลังไว้ต่อศาลแพ่ง จึงเสนอคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๔๖ ขอให้มีคำพิพากษากลับคำวินิจฉัยของ ก.พ. ทั้งสองเรื่องดังกล่าว โดยอ้างว่าคำวินิจฉัยของ ก.พ. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ศาลแพ่งมีคำสั่งไม่รับคำร้องแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเป็นการฟ้องเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง เมื่อศาลปกครองเปิดทำการแล้วจึงควรดำเนินคดีต่อศาลปกครองซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเหนือคดี
เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๔๖ นายสามารถ ผู้ฟ้องคดี จึงยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรีผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๕๕๘/๒๕๔๖ ขอให้ศาลเพิกถอนมติ ก.พ. ที่พิจารณาเสนอรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี และขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองเรื่อง
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า การพิจารณาลงโทษทางวินัยแก่ผู้ฟ้องคดี ไม่ว่าจะเป็นการสอบสวนทางวินัยของกรมบัญชีกลาง การพิจารณาลงมติลงโทษของผู้ฟ้องคดีของ อ.ก.พ. กระทรวงการคลัง มติ ก.พ. ที่เห็นด้วยกับการลงโทษทางวินัยแก่ผู้ฟ้องคดี ตลอดจนการพิจารณาอุทธรณ์และมีคำสั่งยกอุทธรณ์ตามที่ ก.พ. เสนอรองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ได้ปฏิบัติโดยชอบด้วยกฎหมายตามระเบียบและขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้
ศาลปกครองกลางเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง โดยมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าการที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีคำสั่งยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองเรื่อง เป็นการออกคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ซึ่งในการพิจารณาวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว ศาลจำต้องพิจารณาถึงการที่กรมบัญชีกลางมีคำสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการและลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการว่าเป็นการดำเนินการและมีคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีได้ฟ้องกรมบัญชีกลางและกระทรวงการคลังต่อศาลแพ่ง คดีทั้งสองดังกล่าวนี้จึงเป็นคดีปกครองที่มีมูลความแห่งคดีเกี่ยวเนื่องกัน และอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เนื่องด้วยมาตรา ๑๐๕ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติว่าบรรดาคดีที่ได้ยื่นฟ้องหรืออยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอื่นอยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและมีลักษณะเป็นคดีปกครองตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ศาลนั้นดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาต่อไปจนคดีถึงที่สุด ดังนี้ เมื่อขณะที่ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องกรมบัญชีกลางและกระทรวงการคลังต่อศาลแพ่ง แม้คดีดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นคดีปกครอง แต่เมื่อศาลปกครองยังไม่เปิดทำการ ศาลแพ่ง จึงเป็นศาลที่มีเขตอำนาจและเมื่อศาลแพ่งได้รับคดีไว้พิจารณาแล้ว แม้ต่อมาภายหลังศาลปกครองได้เปิดทำการ ศาลแพ่งก็จำต้องดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาต่อไปจนคดีถึงที่สุด คดีในส่วนที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องกรมบัญชีกลางและกระทรวงการคลังเป็นจำเลยต่อศาลแพ่งตามคดีหมายเลขดำที่ ปค. ๒๓๓/๒๕๔๒ จึงไม่อาจโอนมาพิจารณายังศาลปกครองได้ แต่ถึงอย่างไรก็ดี แม้คดีนี้จะเป็นคดีปกครองซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองก็ตาม แต่เนื่องจากคดีนี้และคดีหมายเลขดำที่ ปค. ๒๓๓/๒๕๔๒ มีมูลความแห่งคดีเกี่ยวเนื่องกัน ดังนั้น เพื่อให้คดีทั้งสองได้ดำเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลใดศาลหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อให้คำพิพากษาเป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงเห็นควรให้ศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลที่ได้รับคดีนี้ไว้พิจารณาตั้งแต่ต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปจนคดีถึงที่สุดเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดีในส่วนที่ผู้ฟ้องคดีได้ฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีในคดีนี้รวมไปกับคดีหมายเลขดำที่ ปค. ๒๓๓/๒๕๔๒
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๖ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลด้วยกัน ซึ่งเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หรือเนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใดเนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
ข้อเท็จจริงตามฟ้องปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนมติ ก.พ. ที่พิจารณาเสนอรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี และขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีจากกรณีผู้ฟ้องคดีซึ่งเดิมรับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ถูกลงโทษปลดออกจากราชการตามคำสั่งกรมบัญชีกลางที่ ก ๑๓๒/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๔๑ และถูกลงโทษไล่ออกจากราชการตามคำสั่งกรมบัญชีกลางที่ ก ๑๓๓/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๔๑ และผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนตามมาตรา ๑๒๖ แห่งพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ และกฎ ก.พ. ฉบับที่ ๑๖ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่าด้วยการอุทธรณ์และพิจารณาอุทธรณ์ แต่ ก.พ. มีมติยกอุทธรณ์ ทั้งสองเรื่องและรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ทั้งสองเรื่องตามที่ ก.พ. เสนอ เมื่อคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้เพิกถอนมติ ก.พ. และคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยอ้างว่าการพิจารณาและวินิจฉัยของ ก.พ. ไม่ชอบด้วยมาตรา ๑๐๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๓๕ เช่น การพิจารณาวินิจฉัยจากกระบวนการสอบสวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของกรมบัญชีกลางและ อ.ก.พ. กระทรวงการคลัง ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีลักษณะเป็นคดีปกครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๖ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) คดีนี้จึงควรอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง อย่างไรก็ตาม ก่อนยื่นอุทธรณ์ต่อ ก.พ. และก่อนยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองกลาง ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องกรมบัญชีกลาง ที่ ๑ กระทรวงการคลัง ที่ ๒ ต่อศาลแพ่ง ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของกรมบัญชีกลาง ได้แก่ คำสั่งกรมบัญชีกลางที่ ก ๑๙๑/๒๕๔๐ ลงวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย คำสั่งกรมบัญชีกลางที่ ก ๑๓๒/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๔๑ ให้ปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ และคำสั่งกรมบัญชีกลางที่ ก ๑๓๓/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๔๑ ให้ไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ พร้อมทั้งขอให้เพิกถอนมติ อ.ก.พ. กระทรวงการคลังทั้งสองมติให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี และให้กรมบัญชีกลางและกระทรวงการคลังร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย ดังนั้น คดีดังกล่าวมีลักษณะเป็นคดีปกครองและมีมูลความแห่งคดีเดียวกับคดีนี้ เมื่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐๕ บัญญัติว่า บรรดาคดีที่ได้ยื่นฟ้องหรืออยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอื่นอยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและมีลักษณะเป็นคดีปกครองตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ศาลนั้นดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาต่อไปจนคดีถึงที่สุด พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีผลใช้บังคับวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นการยื่นฟ้องคดีปกครองก่อนวันที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ใช้บังคับ กรณีจึงอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา ๑๐๕ โดยศาลยุติธรรมเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเหนือคดีและจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาต่อไปจนคดีถึงที่สุด ดังนั้น คดีนี้ แม้เป็นคดีปกครองแต่เมื่อเป็นกรณีพิพาทที่มีมูลความแห่งคดีเดียวกันกับคดีซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมตามมาตรา ๑๐๕ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และเพื่อให้คดีทั้งสองได้ดำเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลเดียว ทั้งนี้ เพื่อให้คำพิพากษาเป็นไปในแนวทางเดียวกัน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายสามารถ มัททวีวงศ์ ผู้ฟ้องคดี นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ศุภชัย ภู่งาม (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายศุภชัย ภู่งาม) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท วิรัตน์ บรรเลง (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(วิรัตน์ บรรเลง) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
??
??
??
??
๖