แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ยื่นเมื่อวันที่24 มิถุนายน 2536 นั้น เป็นฉบับที่โจทก์ยื่นปกติมิใช่ฉบับยื่นเพิ่มเติม แม้โจทก์มิได้ยื่นตามกำหนดเวลาตามประมวลรัษฎากร มาตรา 83 วรรคสอง ก็ตาม แต่ผลการตรวจสอบปรากฏว่า ยอดขายที่ต้องเสียภาษี ภาษีขาย ยอดซื้อที่เสียภาษีแล้ว ภาษีซื้อ ภาษีที่ชำระเงิน และภาษีสุทธิที่ชำระเกิน ตรงตามแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ยื่นไว้ทุกรายการ เช่นนี้ แบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มฉบับดังกล่าวซึ่งโจทก์ยื่นปกติสำหรับเดือนภาษีมีนาคม 2536จึงมิได้มีข้อผิดพลาดหรือมีการแสดงรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้องและไม่เป็นเหตุให้จำนวนภาษีในเดือนภาษีมีนาคม 2536คลาดเคลื่อนไปแต่อย่างใด ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้โจทก์เสียเบี้ยปรับตามมาตรา 89(4) และคณะกรรมการ พิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ชอบ ส่วนปัญหาที่ว่าโจทก์ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ในเดือนภาษีมีนาคม 2536 ภายในกำหนดเวลาโจทก์จะต้องรับผิด หรือไม่อย่างไร ไม่เป็นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในคดีนี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนมีนาคม 2536 และให้งดเบี้ยปรับตามมาตรา 89(4) แห่งประมวลรัษฎากรตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม(ภ.พ.73.1) เลขที่ 1016/5/108691 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2537
จำเลยให้การว่า โจทก์แจ้งยอดขายและแจ้งภาษีขายคลาดเคลื่อนไปมิใช่เป็นกรณีการยื่นแบบล่าช้าตามที่โจทก์กล่าวอ้างเจ้าพนักงานประเมินจึงประเมินเบี้ยปรับตามมาตรา 89(4)แห่งประมวลรัษฎากร แต่ได้พิจารณาลดเบี้ยปรับให้ร้อยละ 50ของเบี้ยปรับที่เรียกเก็บชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับเดือนมีนาคม 2536 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.73.1) เลขที่ 1016/5/108691 ลงวันที่19 ตุลาคม 2537 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 123/2539/2ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2538
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายวงจรอิเล็กทรอนิกส์โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร(ภ.พ.30) สำหรับเดือนมีนาคม 2536 จำนวน 2 ฉบับ คือแบบตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 8 แสดงยอดซื้อ 342,763.53 บาทภาษีซื้อ 23,993.40 บาท ภาษีชำระเกิน 23,993.40 บาทแสดงความประสงค์ขอรับภาษีคืนเป็นเงินสดและแบบตามเอกสารหมาย ล.1แผ่นที่ 2 แสดงยอดขาย 218,016,715.14 บาท ภาษีขาย 15,261,170.07 บาท ยอดซื้อ 259,950,528.22 บาท ภาษีซื้อ 18,196,533.08 บาท ภาษีชำระเกิน 2,935,363.01 บาท สำหรับภาษีที่ชำระเกินโจทก์แสดงความประสงค์จะขอนำไปในเดือนถัดไป ต่อมาเจ้าพนักงานของจำเลยตรวจสอบแล้วมีความเห็นว่าแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ยื่นตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 8 เป็นแบบที่ยื่นตามปกติ ส่วนแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 2 เป็นแบบที่ยื่นเพิ่มเติม โดยมียอดขายและภาษีขายแจ้งไว้ขาดทำให้ภาษีคลาดเคลื่อนไปจากการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ยื่นตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 8 โจทก์ต้องเสียเบี้ยปรับ 15,261,170.07 บาท โจทก์ยื่นคำร้องของดเบี้ยปรับ จำเลยเห็นว่า โจทก์มิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีและได้ให้ความร่วมมือด้วยดีมีเหตุอันควรผ่อนผัน ควรลดเบี้ยปรับลง คงเรียกเก็บร้อยละห้าสิบของเบี้ยปรับตามกฎหมาย หลังจากนั้นเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ออกหนังสือแจ้งการประเมินให้โจทก์เสียเบี้ยปรับจำนวน 7,630,585.04 บาท โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์
ในปัญหาที่ว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีมีนาคม 2536 ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาดอันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีในเดือนภาษีดังกล่าวคลาดเคลื่อนไปหรือไม่นั้น จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 2 ในวันที่ 24 มิถุนายน2536 มิใช่ยื่นในวันที่ 15 เมษายน 2536 ในข้อนี้ โจทก์มีนายสมบูรณ์ กริชชาญชัย รองผู้จัดการฝ่ายการเงินของโจทก์และนายเผชิญ เกษร ผู้จัดการฝ่ายการเงินและบัญชีของโจทก์เป็นพยานเบิกความยืนยันว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 2 เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2536แต่เจ้าพนักงานของจำเลยเพิ่งออกใบเสร็จรับเงินให้โจทก์เมื่อวันที่24 มิถุนายน 2536 แต่ปรากฏว่าก่อนที่เจ้าพนักงานประเมินจะออกหนังสือแจ้งการประเมินเรียกให้โจทก์เสียเบี้ยปรับจำนวน7,630,585.04 บาท นั้น เจ้าพนักงานของจำเลยได้เชิญโจทก์ไปชี้แจงเกี่ยวกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มโจทก์ได้มอบอำนาจให้นางสาวจารุวรรณ แก้ววิเชียรโชติ ไปชี้แจง นางสาวจารุวรรณให้การต่อนายอรุณ วัฒนโชติภิญโญ เจ้าพนักงานวิเคราะห์ภาษีของจำเลยว่า การยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีมีนาคม 2536 นั้นโจทก์ยื่น 2 ฉบับ คือฉบับยื่นเมื่อวันที่14 พฤษภาคม 2536 ตามใบเสร็จรับเงินเลขที่ 61598 ไม่มียอดขาย แจ้งยอดซื้อจำนวน 342,763.53 บาท ภาษีซื้อ 23,993.40 บาทคำนวณแล้วมีภาษีชำระเกิน 23,993.40 บาท ขอคืนภาษีเป็นเงินสด23,933.40 บาท และฉบับยื่นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2536 ตามใบเสร็จรับเงินเลขที่ 091616 แจ้งยอดขายไว้ 218,016,715.14บาท ภาษีขาย 15,261,170.07 บาท แจ้งยอดซื้อไว้ 259,950,528.22บาท ภาษีซื้อ 18,196,533.08 บาท คำนวณแล้วมีภาษีชำระเกิน2,935,363.01 บาท ขอคืนภาษีเป็นเครดิตจำนวน 2,935,363.01 บาทและในคำอุทธรณ์ของโจทก์ที่ยื่นต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โจทก์ยอมรับว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มล่าช้าโจทก์ขออุทธรณ์ว่า กรณีของโจทก์เป็นความผิดพลาดในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มล่าช้า มิได้เกิดจากการแจ้งยอดภาษีขายคลาดเคลื่อน คำเบิกความของนายสมบูรณ์และนายเผชิญพยานโจทก์ขัดกับที่นางสาวจารุวรรณผู้รับมอบอำนาจโจทก์ให้การต่อนายอรุณเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ภาษีของจำเลย ทั้งยังขัดกับคำอุทธรณ์ของโจทก์ คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองจึงมีน้ำหนักน้อยด้วย ส่วนจำเลยมีนายนิวัติชัย คันชาแก้ว เจ้าพนักงานบริหารงานสรรพากร 7 สำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 5 เป็นพยานเบิกความว่าในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม เจ้าพนักงานจะตรวจสอบความถูกต้องก่อนแล้วจึงออกใบเสร็จรับเงินให้เป็นหลักฐานในวันเดียวกัน และนายนิวัติชัยตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่าใบเสร็จรับเงินออกด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์จะมีผิดพลาดได้ในกรณีเป็นการกดของเจ้าหน้าที่ถ้าหากเป็นกรณีเกี่ยวกับการลงวันเดือนปีในใบเสร็จรับเงิน เครื่องคอมพิวเตอร์จะเป็นไปโดยอัตโนมัติเมื่อหมดแต่ละวัน วันถัดไปเครื่องก็จะขึ้นวันใหม่โดยอัตโนมัติกรณีที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มในวันสุดท้ายที่สามารถยื่นได้หากมีการออกใบเสร็จรับเงินในวันถัดไปก็จะต้องมีการเสียเบี้ยปรับ คำเบิกความของนายนิวัติชัยดังกล่าวสอดคล้องกับคำเบิกความของนางสาวนิภาภรณ์ กมลวารินทร์ ที่ว่า ขณะที่มีการออกใบเสร็จรับเงินพิพาท จำเลยใช้เครื่องประทับลงวันเดือนปีและออกใบเสร็จรับเงินแล้ว เจ้าพนักงานของจำเลยจะออกใบเสร็จรับเงินในวันเดียวกับวันที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี จะไม่มีการออกใบเสร็จรับเงินหลังจากวันที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี แม้นายนิวัติชัยและนางสาวนิภาภรณ์จะเป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยแต่ก็เบิกความมีเหตุผล และไม่มีเหตุให้สงสัยว่าเบิกความเข้าข้างจำเลยแต่อย่างใด คำเบิกความจึงมีน้ำหนักรับฟังส่วนที่โจทก์นำสืบว่า เจ้าพนักงานของจำเลยเคยออกใบเสร็จรับเงินผิดพลาดนั้นก็เป็นการผิดพลาดในส่วนที่เกี่ยวกับเดือนภาษี มิใช่ผิดพลาดในเรื่องวันเดือนปีที่ลงในใบเสร็จรับเงิน พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ฟังได้ว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 2เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2536 หลังจากที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 8 มีปัญหาว่าแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มฉบับใดเป็นฉบับยื่นปกติและฉบับใดเป็นฉบับยื่นเพิ่มเติม จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์มิได้ระบุว่าแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มฉบับใดเป็นฉบับยื่นปกติ ฉบับใดเป็นฉบับยื่นเพิ่มเติมจึงต้องถือตามวันเดือนปีที่ลงในใบเสร็จรับเงินของแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มที่ยื่น ใบเสร็จรับเงินของแบบที่ลงวันที่ก่อนต้องถือว่าเป็นฉบับที่ยื่นปกติ ใบเสร็จรับเงินของแบบที่ลงวันที่ภายหลังก็ต้องถือว่าเป็นฉบับที่ยื่นเพิ่มเติมศาลฎีกาได้ตรวจดูแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ยื่นต่อเจ้าพนักงานซึ่งเป็นปัญหาทั้งสองฉบับแล้ว ตามแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ยื่นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2536 ตามเอกสารหมาย ล.1แผ่นที่ 8 ในหัวข้อภาษีขายได้มีการทำเครื่องหมายในช่องสี่เหลี่ยมเล็กภายในวงเล็บที่มีคำว่าหรือกรณียื่นเพิ่มเติมของข้อ 1ยอดขายในเดือนนี้ ภาพถ่ายแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 8 ซึ่งอยู่ในเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 87และ 155 ก็มีเครื่องหมายเช่นเดียวกันนี้ แม้การทำเครื่องหมายดังกล่าวไม่ตรงตามหัวข้อภาษีซื้อที่โจทก์ขอคืน แต่ก็แสดงว่าโจทก์ได้ระบุในแบบแสดงภาษีมูลค่าเพิ่มตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 8เป็นฉบับยื่นเพิ่มเติมแล้ว มิใช่โจทก์ไม่ได้ระบุดังที่จำเลยอุทธรณ์ประกอบกับข้อเท็จจริงได้ความว่า แบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มฉบับปกติที่โจทก์ยื่นต่อเจ้าพนักงานทั้งก่อนหน้าและภายหลังเดือนภาษีมีนาคม 2536 ปรากฏว่าแต่ละเดือนภาษีมียอดขายและยอดซื้อที่โจทก์แสดงไว้ไม่ต่ำกว่า 100,000,000 บาท ทั้งนี้ตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 2, 8, 15, 33, 39, 56, 71, 100,118, 132 และ 144 เอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 2, 4, 28, 33, 36, 39, 42 และ 45 ส่วนแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ยื่นเพิ่มเติมมีมูลค่ายอดซื้อ ยอดขายเพียงหลักหมื่นบาทเท่านั้นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 2มียอดขายถึง 218,016,715.14 บาท ยอดซื้อถึง 259,950,528.22 บาท ซึ่งเป็นยอดซื้อและยอดขายจำนวนมากเช่นเดียวกับแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มฉบับปกติที่โจทก์ได้ยื่นก่อนหน้าและภายหลังเดือนภาษีมีนาคม 2536 ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับคำเบิกความของนายนิวัติชัยพยานจำเลยที่ว่าจำเลยได้ออกระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ พ.ศ. 2535ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 8 ซึ่งข้อ 5(2) กำหนดว่า กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ไม่ถูกต้องครบถ้วนหากประสงค์ขอคืนภาษีให้ขอคืนเป็นเงินสดเพียงอย่างเดียวก็ปรากฏตามแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 8 ว่าโจทก์ได้ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินสด ส่วนแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 2 โจทก์ขอนำภาษีที่ชำระเกินในเดือนภาษีมีนาคม 2536 ไปใช้ในเดือนถัดไป มิได้ขอคืนเป็นเงินสดแต่อย่างใด เชื่อได้ว่าแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 2เป็นฉบับยื่นปกติ แต่โจทก์มิได้ยื่นตามกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 83 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 8 เป็นฉบับยื่นเพิ่มเติมเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของเจ้าพนักงานประเมินตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 5 ว่าแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 2ที่โจทก์ยื่นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2536 นั้น ผลการตรวจสอบปรากฏว่า ยอดขายที่ต้องเสียภาษี ภาษีขาย ยอดซื้อที่เสียภาษีแล้วภาษีซื้อ ภาษีที่ชำระเกิน และภาษีสุทธิที่ชำระเกิน ตรงตามแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ยื่นไว้ทุกรายการ เช่นนี้แบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม เอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 2ซึ่งโจทก์ยื่นปกติสำหรับเดือนภาษีมีนาคม 2536 จึงมิได้มีข้อผิดพลาดหรือมีการแสดงรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้องและไม่เป็นเหตุให้จำนวนภาษีในเดือนภาษีมีนาคม 2536 คลาดเคลื่อนไปแต่อย่างใด ดังนั้นที่เจ้าพนักงานประเมินให้โจทก์เสียเบี้ยปรับตามมาตรา 89(4)แห่งประมวลรัษฎากร และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ชอบ สำหรับปัญหาที่ว่าโจทก์ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนภาษีมีนาคม 2536ภายในกำหนดเวลาโจทก์จะต้องรับผิดหรือไม่อย่างไร ไม่เป็นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในคดีนี้
พิพากษายืน