แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงยานนาวา แขวงทุ่งวัดดอน และแขวงบางโคล่ เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2531 มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อประโยชน์สาธารณะในการสร้างทางหลวงเทศบาลเชื่อมระหว่างถนนสาธรกับแม่น้ำเจ้าพระยา โดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 63แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่28 พฤศจิกายน 2515 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2530 ซึ่งการก่อสร้าง ขยาย บูรณะและบำรุงรักษาตลอดจนการกำกับตรวจตราและควบคุมทางหลวงและงานทางที่เกี่ยวกับทางหลวงเทศบาลนั้น เป็นกิจการของเทศบาลและนายกเทศมนตรีตามความในข้อ 9 และ 20 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว และ พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 10 และ 21 ซึ่งเป็นกิจการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 ตามความในมาตรา 89 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 การเวนคืนที่ดินพิพาทเพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลจึงเป็นกิจการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ตามบทบัญญัติดังกล่าว ส่วนกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 3 เป็นกระทรวงในรัฐบาลมีฐานะเป็นนิติบุคคลและมีรัฐมนตรีว่าการจำเลยที่ 3 เป็นผู้กำกับดูแลงานของจำเลยที่ 3 โดยตรง เมื่อ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงยานนาวา แขวงทุ่งวัดดอน และแขวงบางโคล่ เขตยานนาวากรุงเทพมหานคร พ.ศ.2531 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการจำเลยที่ 3 รักษาการตามพ.ร.ฎ.ฉบับดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการจำเลยที่ 3 ก็มีอำนาจในการแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ และมีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหา-ริมทรัพย์ พ.ศ.2530 อันเป็นหน้าที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงยานนาวา แขวงทุ่งวัดดอนและแขวงบางโคล่ เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2531 ซึ่งหมายถึงว่ารัฐมนตรีว่าการจำเลยที่ 3 กระทำการดังกล่าวในนามของจำเลยที่ 3 นั่นเองเมื่อมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3
แม้ความในตอนต้นของข้อ 1 แห่งหนังสืออุทธรณ์คัดค้านเงินค่าทดแทนที่ดินจะระบุว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสี่แปลง แต่ในข้อ1.1 และข้อ 1.2 โจทก์ระบุขอค่าทดแทนเพิ่มเฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 27646,27648 และ 27649 โดยมิได้ขอเพิ่มค่าทดแทนสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 309 ซึ่งคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯได้กำหนดค่าทดแทนให้ตารางวาละ 20,000บาท แต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 309 ด้วย เมื่อโจทก์ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 309 ต่อรัฐมนตรีว่าการจำเลยที่ 3 ผู้รักษาการตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงยานนาวา แขวงทุ่งวัดดอน และแขวงบางโคล่ เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2531 ตามที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง บัญญัติบังคับไว้ก่อนที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาล ถือว่าโจทก์ปฏิบัติผิดขั้นตอนของกฎหมายดังกล่าว โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนเพิ่มสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 309
ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้นั้นประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหา-ริมทรัพย์ มีผลใช้บังคับแล้ว ตามข้อ 1 และข้อ 5 ของกฎหมายฉบับนี้ได้แก้ไขหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าทดแทนที่ดินจากเดิมซึ่งให้กำหนดโดยถือราคาตามมาตรา21 (2) หรือ (3) แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่าเป็นเกณฑ์มาเป็นว่าให้กำหนดโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21 และเนื่องจากการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์มิได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษใน พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะ ดังนั้นการกำหนดค่าทดแทนดังกล่าวต้องกำหนดโดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21(1) ถึง (5) ประกอบกัน
พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530วรรคสุดท้าย บัญญัติว่า ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น คดีนี้ปรากฏว่าไม่มีการตกลงทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่จะถูกเวนคืนตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง จึงไม่มีวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 11 ดังนั้นวันเริ่มต้นนับดอกเบี้ยจึงต้องนับแต่วันที่วางเงินค่าทดแทน เมื่อปรากฏว่าผู้ซี่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีหนังสือลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2533 แจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินจำนวน 7,768,000 บาท ภายใน 15 วัน นับแต่วันรับหนังสือโจทก์ลงลายมือชื่อรับเอกสารฉบับนี้เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2533 หลังจากครบกำหนด 15 วัน นับแต่วันรับหนังสือคือวันที่ 14 มิถุนายน 2533 จำเลยที่ 2มีหน้าที่ต้องนำเงินค่าทดแทนนั้นไปวางต่อศาลหรือสำนักงานวางทรัพย์หรือฝากไว้กับธนาคารออมสินในชื่อของโจทก์โดยพลันตามมาตรา 28 วรรคสอง ซึ่งเท่ากับจำเลยที่ 2 ต้องนำเงินค่าทดแทนไปวางในวันถัดจากวันครบกำหนด 15 วันนับแต่วันรับหนังสือดังกล่าวคือวันที่ 15 มิถุนายน 2533 จึงเป็นวันเริ่มต้นนับดอกเบี้ยหาใช่นับแต่วันที่ 22 เมษายน 2531 ซึ่งเป็นวันใช้บังคับ พ.ร.ฎ.หรือวันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ฝ่ายจำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มแก่โจทก์ไม่ และดอกเบี้ยเงินค่าทดแทนที่โจทก์จะพึงได้รับก็จะต้องเป็นดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่าอัตราที่โจทก์ขอมา