แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า การเคหะแห่งชาติเคยมีหนังสือบอกเลิกการเช่าห้องพิพาทแก่จำเลยแล้ว จำเลยก็ยอมรับ แต่ปฏิเสธว่าหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าไม่มีผลบังคับ เพราะได้มีบัญชาของนายกรัฐมนตรีขณะนั้นให้ระงับโครงการรื้อถอนและให้ผู้เช่ารวมทั้งจำเลยเช่าอยู่ต่อไป แต่จำเลยไม่มีพยานมาสืบให้เห็นเป็นดังที่จำเลยอ้างเพียงกล่าวอ้างลอย ๆ ถือว่าการบอกเลิกการเช่ามีผลสมบูรณ์ จำเลยอยู่ในห้องพิพาทโดยละเมิด การที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยเนื่องจากการบอกเลิกการเช่าห้องพิพาทไม่มีผลตามกฎหมายนั้นเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงว่า หนังสือบอกเลิกสัญญาไม่มีผลบังคับเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยมีสิทธิการเช่าในห้องพิพาทดีกว่าโจทก์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 543 (3) อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ฎีกาของจำเลยในข้อที่ว่า โจทก์จะเรียกสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้ามาเป็นโจทก์ร่วม ไม่ต้องด้วยเหตุตาม ป.วิ.พ.มาตรา 57(3) (ก) เมื่อศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่า กรณีที่โจทก์เรียกสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้ามาเป็นโจทก์ร่วมต้องด้วยเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) (ข) แล้ว ดังนี้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงไม่เป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้
ตามสัญญาเช่าระบุว่า ผู้เช่าสัญญาจะเป็นผู้ดำเนินการให้ผู้ครอบครองผู้บุกรุก หรือบุคคลอื่นออกจากสถานที่เช่าและสิ่งปลูกสร้างในสถานที่เช่าจนสามารถครอบครองสถานที่เช่าได้ทั้งหมด โดยผู้ให้เช่าเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆตามที่ผู้เช่าจ่ายจริงภายในวงเงินไม่เกินสิบล้านบาทนั้น สัญญาได้ระบุไว้ชัดเจนว่าผู้เช่าคือโจทก์เป็นผู้ดำเนินการโดยผู้ให้เช่าคือโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายจึงเป็นเรื่องการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของโจทก์ มิใช่เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วมด้วยนั้น เมื่อปรากฏตามคำร้องเข้าเป็นโจทก์ร่วมว่า โจทก์ร่วมเพียงแต่ขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากห้องพิพาทและห้ามเข้าไปเกี่ยวข้องอีกเท่านั้น ดังนั้น คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองในส่วนนี้จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าคำขอ อันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ.มาตรา 142ศาลฎีกาสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องเป็นจำเลยไม่ต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วม