คำวินิจฉัยที่ 17/2548

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๗/๒๕๔๘

วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๘

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดสงขลา
ระหว่าง
ศาลปกครองสงขลา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสงขลาโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีศาลที่รับฟ้องคดีเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
นายสมิต สมิตชัยจุฬารัตน์ โจทก์ ยื่นฟ้อง กระทรวงอุตสาหกรรม จำเลย ต่อศาลจังหวัดสงขลา เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๐๗๓/๒๕๔๖ ความว่า โจทก์และนางจุฬา ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ได้ครอบครองที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ เนื้อที่ประมาณ ๑๘ ไร่ ๗๕ ตารางวา ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยซื้อที่ดินมาจากนายธนา สุวรรณชนะ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๑ และครอบครองทำประโยชน์กับเสียภาษีบำรุงท้องที่โดยตลอด จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๓๖ โจทก์นำเงินไปเสียภาษี แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมรับ และเมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๓๘ ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐในท้องที่ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ต่อมากระทรวงอุตสาหกรรมนำที่ดินในท้องที่ดังกล่าวไปจัดหาผลประโยชน์โดยการขายให้แก่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และมีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ขายที่ดินรกร้างว่างเปล่า บริเวณตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ให้แก่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๓๘ ปรากฏว่า ที่ดินตามประกาศดังกล่าวเป็นที่ดินที่โจทก์และนางจุฬา ได้ครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องมาจากเจ้าของผู้ครอบครองคนก่อนๆ และการที่ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการรังวัดที่ดินเพื่อขอออกโฉนดตามประกาศดังกล่าว โจทก์เห็นว่าไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย จึงได้ทำการคัดค้านการรังวัด อีกทั้งจำเลยได้ให้เจ้าหน้าที่ไปทำการรื้อถอนพืชไร่และสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงยื่นฟ้องต่อศาลเป็นคดีนี้ ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ เพิกถอนประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๓๘ และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๓๘ ห้ามจำเลยเข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท เพิกถอนคำขอออกโฉนดที่ดินในที่ดินพิพาท และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์ในอัตราสูงสุด
จำเลยให้การว่า ที่ดินหมู่ที่ ๔ ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เนื้อที่ ๒,๒๗๑ ไร่ ๓๗ ตารางวา เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่ใช่ที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งเดิมอยู่ในเขตพื้นที่ประทานบัตรขององค์การเหมืองแร่ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การเหมืองแร่ พ.ศ. ๒๕๒๐ ซึ่งสืบสิทธิต่อเนื่องมาจากกรมโลหะกิจตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ที่พิพาทจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๔ (๑) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจที่จะมอบหมายให้ทบวงการเมืองอื่นไปจัดหาผลประโยชน์ได้ตามมาตรา ๑๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน การที่โจทก์บุกรุกเข้ามาครอบครองทำประโยชน์และเสียภาษีบำรุงท้องที่ในที่ดินพิพาทไม่ทำให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองเหนือที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแต่อย่างใด ทั้งนี้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สาขาหาดใหญ่ ได้ทำการสอบสวนเปรียบเทียบแล้วมีความเห็นว่า การได้มาในที่ดินของโจทก์นั้นเป็นการได้มาในภายหลังจากที่ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมผู้ขอออกโฉนดที่ดิน ซึ่งครอบครองมาก่อนโดยสืบสิทธิต่อเนื่องจาก กรมโลหะกิจตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ดังนั้นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมจึงเป็นผู้ขอออกโฉนดที่ดินที่มีหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินและการครอบครองดีกว่าโจทก์ จึงมีคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม หากไม่พอใจคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินให้ไปฟ้องศาลภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง เมื่อโจทก์ไม่ใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวถือว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ อันเป็นเวลาก่อนยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน เมื่อโจทก์อ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาท แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๔๖ ถือว่าโจทก์มิได้ฟ้องเอาคืน ซึ่งการครอบครองภายใน ๑ ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองคดีโจทก์จึงขาดอายุความ
ศาลจังหวัดสงขลาเห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงหนึ่ง ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เนื้อที่ ๑๘ ไร่ ๗๕ ตารางวา โจทก์และนางจุฬาได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวต่อจาก นายธนา สุวรรณชนะ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ โจทก์และนางจุฬาขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอหาดใหญ่ ได้นัดรังวัดเพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้โจทก์และนางจุฬา แต่เจ้าหน้าที่การนิคมอุตสาหกรรมได้บุกรุกเข้าไปไถพืชผลและทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกประกาศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และฟ้องขอให้เพิกถอนประกาศกระทรวงมหาดไทย และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นคดีปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) คดีจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองสงขลา
ศาลปกครองสงขลาเห็นว่า คดีนี้แม้โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยคือกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐในท้องที่ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๓๘ และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ขายที่ดินรกร้างว่างเปล่าบริเวณตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ให้แก่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๓๘ เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนประกาศดังกล่าว แต่เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าความไม่ชอบด้วยกฎหมายของประกาศทั้งสองฉบับเป็นเพราะที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์มิได้เป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า จำเลยไม่มีสิทธินำที่ดินของโจทก์ไปจัดหาผลประโยชน์โดยออกประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าว ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท และเพิกถอนคำขอออกโฉนดที่ดินในที่ดินพิพาท จึงเป็นกรณีที่โจทก์มุ่งประสงค์ให้ศาลมีคำพิพากษารับรองและคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ ทั้งจำเลยให้การต่อสู้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะที่ดินพิพาทเป็นที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มิใช่เป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองตามที่โจทก์กล่าวอ้าง จึงเป็นคดีที่คู่ความโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินของโจทก์หรือเป็นที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ ซึ่งต้องพิจารณาให้ได้ความว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่โจทก์กล่าวอ้างหรือไม่ แล้วจึงจะพิจารณาว่าจำเลยออกประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม คดีจึงไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ โจทก์อ้างว่าตนเองเป็นเจ้าของและครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิเนื้อที่ประมาณ ๑๘ ไร่ ๗๕ ตารางวา ตั้งอยู่บริเวณ หมู่ที่ ๔ ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา แต่จำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ทำการรังวัดที่ดินดังกล่าวเพื่อออกโฉนดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐในท้องที่ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๓๘ และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ขายที่ดินรกร้างว่างเปล่า บริเวณตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ให้แก่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๓๘ อันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าที่ดินตามฟ้องเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยยุ่งเกี่ยวและเพิกถอนประกาศดังกล่าว ส่วนจำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทเดิมอยู่ในเขตพื้นที่ประทานบัตรขององค์การเหมืองแร่ ต่อมามีการยกเลิกประทานบัตร ที่พิพาทจึงตกเป็นที่รกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน รัฐมนตรีมีอำนาจที่จะมอบหมายให้ทบวงการเมืองอื่นไปจัดหาผลประโยชน์ได้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ประกาศทั้งสองฉบับตามฟ้องดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ดังนั้นตามคำฟ้องและคำขอของโจทก์จึงเป็นกรณีที่โจทก์มุ่งประสงค์ให้ศาลมีคำพิพากษารับรองและคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ทั้งคดีนี้คู่ความยังคงโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นของโจทก์หรือเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ แล้วจึงจะพิจารณาได้ว่าประกาศกระทรวงมหาดไทย ฯ และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฯ ดังกล่าวตามฟ้องของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายสมิต สมิตชัยจุฬารัตน์ โจทก์ กระทรวงอุตสาหกรรม จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ศุภชัย ภู่งาม (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายศุภชัย ภู่งาม) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท วิรัตน์ บรรเลง (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(วิรัตน์ บรรเลง) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

วัชรินทร์ คัด/ทาน
??

??

??

??

Share