แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๖/๒๕๔๘
วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๘
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลปกครองระยอง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดปราจีนบุรี
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองระยองโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๖ นางสมบูรณ์ บัวประเสริฐ ที่ ๑ นางสุชาดา เชาวนกิต ที่ ๒ นางนงเยาว์ แจ่มจันทร์ ที่ ๓ นางบุปผา พิชชาโชติ ที่ ๔ นายธเนศ วุฒิศิลป์ ที่ ๕ นางชัชย์ สกุลพราห์ม ที่ ๖ นางแพรวพรรณ บุญมี ที่ ๗ นายเหม อุทัยทอง ที่ ๘ นางยุพิน ยืนยงค์ ที่ ๙ นางสาวทัศนา คำแดง ที่ ๑๐ นายสุริยันต์ คำแดง ที่ ๑๑ นางสาวสุรางค์ มงคลพิมพ์ ที่ ๑๒ นางศรีนวล เพาะพืช ที่ ๑๓ นางอิศราพร บุตรคล้อ ที่ ๑๔ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง เทศบาลเมืองปราจีนบุรี ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองระยอง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๘๔/๒๕๔๖ ความว่า ที่อยู่อาศัยของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสี่ถูกเครื่องจักรกลของผู้ถูกฟ้องคดี ทำลายได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่ารื้อถอนให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๑๐ เป็นเงินจำนวน ๑๑๕,๑๐๐ บาท ๗๘,๓๐๐ บาท ๗๘,๕๐๐ บาท ๔๘,๘๐๐ บาท ๑๒,๒๐๐ บาท ๓๔,๗๐๐ บาท ๑๐๔,๔๐๗ บาท ๓๗,๕๐๐ บาท ๘๐๐,๐๐๐ บาท ๘๐๐,๐๐๐ บาท ตามลำดับ และค่าที่ดินให้แก่ผู้เสียหายที่ ๑๑ ถึงที่ ๑๔ เป็นเงินจำนวน ๘๐๐,๐๐๐ บาท ๘๐๐,๐๐๐ บาท ๘๐๐,๐๐๐ บาท ๕๒๐,๐๐๐ บาท ตามลำดับ ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๘ ยื่นคำขอถอนคำฟ้อง ศาลมีคำสั่งอนุญาต ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ ๑๒ ไม่ชำระค่าธรรมเนียมศาลภายในเวลาที่ศาลกำหนด ศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง คงรับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ ที่ ๑๓ และที่ ๑๔ ไว้พิจารณา ต่อมาผู้ฟ้องคดีที่ ๑ แจ้งต่อศาลว่าได้รับค่ารื้อถอนอาคารจากผู้ถูกฟ้องคดีแล้วและยินยอมรื้อถอนอาคารออกไป ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ ๙ มีคำขอถอนฟ้องศาลสั่งจำหน่ายคดีในส่วนคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และสั่งอนุญาตถอนคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีที่ ๙
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้รับจัดสรรงบประมาณประเภทงบลงทุนในวงเงิน ๑๑๗,๖๘๕,๐๐๐ บาท จากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ตามแผนงานพัฒนาเมือง โครงการพัฒนาพื้นที่ชุมชนเมืองในเขตพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก (ระยะที่ ๒) ก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำปราจีนบุรี (ริมถนนปราจีนอนุสรณ์) พร้อมระบบระบายน้ำปรับภูมิทัศน์ ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการประกวดราคาได้บริษัท ส. กนกวรรณอุตสาหกรรม จำกัด เป็นผู้รับจ้างและทำสัญญาเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๔๖ ต่อมาเกิดข้อพิพาทกับราษฎรบางส่วนที่กล่าวอ้างเป็นเจ้าของที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีได้ทำหนังสือถึงสำนักงานที่ดินจังหวัดปราจีนบุรีเพื่อตรวจสอบกรรมสิทธิ์ในที่ดินชายตลิ่งบริเวณริมถนนปราจีนอนุสรณ์ ซึ่งเป็นสถานที่ก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมช่วงบริเวณตั้งแต่เชิงสะพานปราจีนบุรีถึงสะพานวัดแก้วพิจิตร และสำนักงานที่ดินจังหวัดปราจีนบุรีได้ตรวจสอบที่ดินบริเวณดังกล่าว ปรากฏว่ามีโฉนดที่ดินอยู่ด้านฝั่งแม่น้ำปราจีนบุรี จำนวน ๔ แปลง คือโฉนดเลขที่ ๔๐๙๒ เลขที่ ๔๐๙๓ เลขที่ ๔๒๘๖๖ และเลขที่ ๔๒๘๖๗ ไม่ปรากฏหลักฐานการเป็นเจ้าของที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ ๑๐ ที่ ๑๑ และที่ ๑๓ แต่อย่างใด ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ ๑๔ มีโฉนดที่ดิน แต่เนื่องจากตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๐๙๒ และ๔๐๙๓ ระบุความกว้างของพื้นที่ดินยาวจากถนน ๙ เมตร และ ๑๐ เมตร ตามลำดับ แต่แนวเขื่อนที่ดำเนินการก่อสร้างห่างจากถนน ๑๗ เมตร ทำให้การก่อสร้างเขื่อนมิได้รุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ ๑๔ การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีชอบด้วยกฎหมาย ไม่ต้องรับผิดต่อผู้ฟ้องคดี ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ฟ้องคดีที่ ๑๐ ที่ ๑๑ ที่ ๑๓ และที่ ๑๔ คัดค้านคำให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดี ทั้งสี่มีหลักฐานเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๙๖, ๑๓๓๓, ๑๓๒๗ , ๔๐๙๒ – ๔๐๙๓ ตำบลคลองวัว อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี ตามลำดับโดยโฉนดทั้งหมดระบุว่าทิศเหนือจดแม่น้ำปราจีนบุรี ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้รับแจ้งจากผู้ถูกฟ้องคดีให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างออกจากพื้นที่ตามแนวก่อสร้างเขื่อนภายใน ๓๐ วัน และ ได้มีการนำรถไถเข้ามาไถทำลายทรัพย์สินรวมทั้งหมุดหลักเขตของที่ดินด้วย
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การเพิ่มเติมว่า ที่ดินบริเวณที่ใช้ในการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมเป็นที่ชายตลิ่งที่ติดกับถนนปราจีนอนุสรณ์โดยสภาพเมื่อพ้นจากขอบถนนจะเป็นที่ลาดลงสู่แม่น้ำปราจีนบุรี และในฤดูน้ำตามปกติน้ำจะท่วมถึงบริเวณขอบถนนทุกปี และจากการตรวจสอบของสำนักงานที่ดินจังหวัดปราจีนบุรีปรากฏว่าที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่มีถึงขอบถนนปราจีนอนุสรณ์เท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของที่ดินที่ลาดลงสู่แม่น้ำ ถือว่าเป็นที่ชายตลิ่งอันเป็นที่สาธารณะประเภทสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๔ สำหรับผู้ฟ้องคดีที่ ๑๔ ปรากฏว่าที่ดินติดริมถนนปราจีนอนุสรณ์ แต่ยังไม่สามารถกำหนดจุดที่ตั้งของที่ดินที่แน่ชัดเนื่องจากเจ้าของที่ดินต้องยื่นสอบเขตที่ดินเพื่อยืนยันกรรมสิทธิ์ที่แน่นอนก่อน แนวเขื่อนอยู่ห่างจากริมถนนปราจีนอนุสรณ์ประมาณ ๑๕ ถึง ๑๗ เมตร ไม่กระทบกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ ๑๔ แต่อย่างใด
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่าคดีนี้ประเด็นหลักเป็นเรื่องโต้แย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลได้เคยมีคำวินิจฉัยที่ ๓๐/๒๕๔๕ และที่ ๓๒/๒๕๔๕ ว่าการโต้แย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองระยองพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เหตุแห่งการฟ้องคดีคือ การที่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑๐ ที่ ๑๑ ที่ ๑๓ และที่ ๑๔ ฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้เข้าดำเนินการในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ เพื่อก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมโดยมิชอบ จึงเป็นการกระทำละเมิดของผู้ถูกฟ้องคดีอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายอันเป็นคดีตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยผู้ฟ้องคดีทั้งสี่เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์โฉนดที่ดินระบุทิศเหนือจดแม่น้ำปราจีนบุรี ผู้ถูกฟ้องคดีให้การโต้แย้งกล่าวอ้างว่าเป็นที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เห็นได้ว่าที่ดินพิพาทจะเป็นที่ชายตลิ่งตามข้อกล่าวอ้างของผู้ถูกฟ้องคดีหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่ว่าแนวเขตที่ดินตามโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ ด้านทิศเหนือซึ่งระบุว่าจดแม่น้ำปราจีนบุรีสิ้นสุดลงตรงจุดใด มิได้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ต้องพิสูจน์กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองระหว่างคู่กรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินว่าฝ่ายใดมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่ากันแต่อย่างใด ซึ่งศาลปกครองย่อมมีอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริงนี้ อันเป็นประเด็นหลักแห่งคดี ให้เป็นที่ยุติได้ คดีนี้มีข้อเท็จจริงแตกต่างจากกรณีตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๓๐/๒๕๔๕ และที่ ๓๒/๒๕๔๕ จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๒๗๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยประกอบกับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดปราจีนบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายจะโต้แย้งกันว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้ใช้อำนาจตามกฎหมายกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสี่หรือไม่ แต่ประเด็นหลักที่คู่กรณีโต้แย้งกันยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ หรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ทั้งนี้เพราะผู้ถูกฟ้องคดีให้การโต้แย้งว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่แต่เป็นที่สาธารณประโยชน์ กรณีจึงจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ตามข้ออ้างหรือไม่ จึงจะสามารถพิจารณาเกี่ยวกับความเสียหายของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ และข้อต่อสู้ของผู้ถูกฟ้องคดีในคดีนี้ต่อไปได้ ซึ่งการพิจารณาเรื่องสิทธิของบุคคลอันเกี่ยวกับที่ดินต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กับประมวลกฎหมายที่ดินเป็นหลัก อำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินตามกฎหมายดังกล่าวอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ดังนั้น คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ เมื่อศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีของในส่วนของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๙ ถอนฟ้อง และไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีที่ ๑๒ แล้ว จึงมีปัญหาที่จะต้องพิจารณาเฉพาะผู้ฟ้องคดีที่ ๑๐ ที่ ๑๑ ที่ ๑๓ และที่ ๑๔ กับผู้ถูกฟ้องคดีเท่านั้น ซึ่งข้อเท็จจริงตามฟ้องสรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่มีหลักฐานเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๑๙๖, ๑๓๓๓, ๑๓๒๗ , ๔๐๙๒ – ๔๐๙๓ ตำบลคลองวัว อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี ตามลำดับโดยโฉนดทั้งหมดระบุว่าทิศเหนือจดแม่น้ำปราจีนบุรี ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้รับแจ้งจากผู้ถูกฟ้องคดีให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างออกจากพื้นที่ตามแนวก่อสร้างเขื่อนภายใน ๓๐ วัน และนำรถไถบุกรุกเข้าไปไถทำลายทรัพย์สินรวมทั้งหมุดหลักเขตของที่ดิน ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่ารื้อถอน หรือค่าที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า มิได้ก่อสร้างเขื่อนบุกรุกที่ดินของผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด สำนักงานที่ดินจังหวัดปราจีนบุรีได้ทำการตรวจสอบกรรมสิทธิ์ในที่ดินชายตลิ่งบริเวณริมถนนปราจีนอนุสรณ์ ซึ่งเป็นสถานที่ก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวมีโฉนดที่ดินอยู่ด้านฝั่งแม่น้ำปราจีนบุรีเพียงจำนวน ๔ แปลงไม่ปรากฏหลักฐานการเป็นเจ้าของที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ ๑๐ ที่ ๑๑ และที่ ๑๓ แต่อย่างใด ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ ๑๔ มีโฉนดที่ดินสองแปลง แต่ห่างจากแนวเขื่อนที่ดำเนินการก่อสร้าง การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีชอบด้วยกฎหมาย ไม่ต้องรับผิดต่อผู้ฟ้องคดี ขอให้ยกฟ้อง และให้การเพิ่มเติมว่า ที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ดังนั้น คดีนี้ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่หรือเป็นที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันเป็นสำคัญ แล้วจึงพิจารณาได้ว่าการกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นละเมิดหรือไม่ จะต้องชดใช้ค่าเสียหายกันเพียงใด จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดี ระหว่าง นางสาวทัศนา คำแดง ที่ ๑๐ นายสุริยันต์ คำแดง ที่ ๑๑ นางศรีนวล เพาะพืช ที่ ๑๓ นางอิศราพร บุตรคล้อ ที่ ๑๔ ผู้ฟ้องคดี เทศบาลเมืองปราจีนบุรี ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ศุภชัย ภู่งาม (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายศุภชัย ภู่งาม) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท วิรัตน์ บรรเลง (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(วิรัตน์ บรรเลง) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
วัชรินทร์ คัด/ทาน
??
??
??
??
๕