แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๕/๒๕๔๘
วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๘
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลปกครองระยอง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดปราจีนบุรี
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองระยองโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๖ นางสมถวิล อัมพรอารีกุล ที่ ๑ นางสมบูรณ์ บัวประเสริฐ ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง เทศบาลเมืองปราจีนบุรี ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองระยอง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๘๒/๒๕๔๖ ความว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๓๔๒ ตำบลคลองวัว อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี ออกให้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ร.ศ. ๑๒๗ พื้นที่ด้านหนึ่งจดแม่น้ำปราจีนบุรี ได้รับความเดือดร้อนและเสียหายจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีโดยเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๔๖ ได้มีรถไถเข้ามาไถดินในที่ดินดังกล่าว ทำให้ต้นไม้ใหญ่ และพืชพันธุ์ที่ปลูกไว้เสียหาย ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งสร้างบ้านเรือนอาศัยอยู่ในที่ดินดังกล่าวเป็นผู้เห็นเหตุการณ์ได้เข้าห้ามปราม และแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองปราจีนบุรี แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่รับแจ้งความ ต่อมาในวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๖ มีประกาศของผู้ถูกฟ้องคดี ลงวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๔๖ ให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างบริเวณริมแม่น้ำปราจีนบุรีเพื่อจะใช้พื้นที่ก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม ภายใน ๓๐ วัน โดยไม่มีการแจ้งเรื่องค่ารื้อถอนหรือค่าชดเชยที่ดินแต่อย่างใด ต่อมาผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ได้รับหนังสือของผู้ถูกฟ้องคดี ที่ ปจ ๕๒๐๐๔/๒๕๑๙ ลงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ดำเนินการติดต่อขยายเวลารื้อถอนอาคาร ตามคำสั่งรื้อถอนอาคารของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ที่ ปจ ๕๒๐๐๔/๓๖ ลงวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๖ อ้างว่าเป็นการก่อสร้างอาคารรุกล้ำที่สาธารณะในบริเวณโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมริมถนนปราจีนอนุสรณ์ ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านหนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีว่า อาคารดังกล่าวถูกสร้างขึ้นโดยถูกต้องตามกฎหมายบนที่ดินที่มีเอกสารสิทธิที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ มีสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินดังกล่าว และมีสิทธิที่จะปกป้องการรบกวนหรือการละเมิดใด ๆ ตามกฎหมาย ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ มีรถไถและกลุ่มบุคคลประมาณ ๕ คน ทำการไถที่ดินพร้อมรั้วไม้ที่อยู่ริมแม่น้ำของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง บิดาและน้องชายของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ได้เข้าห้ามปราม กลุ่มบุคคลดังกล่าวได้นำเอกสารที่อ้างว่าเป็นแผนผังเมืองของเทศบาลฉบับใหม่ ออกโดยสำนักงานที่ดินจังหวัดปราจีนบุรี และมีลายมือชื่อของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดกำกับไว้ โดยในแผนผังดังกล่าวไม่มีที่ดินกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ด้านทิศเหนือที่ติดถนนปราจีนอนุสรณ์กับแม่น้ำปราจีนบุรี แต่กลับกลายเป็นที่สาธารณประโยชน์ ซึ่งผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ไม่เคยได้รับทราบในการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ตามแผนผังดังกล่าว และโฉนดที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ได้ครอบครองอยู่ก็มิได้มีการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตตามแผนผังที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด บิดาของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ นำเรื่องดังกล่าวแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองปราจีนบุรี และทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แนะนำให้ไปรังวัดที่ดินเพื่อยืนยันกรรมสิทธิ์ โดยได้ออกหนังสือไปยังสำนักงานที่ดินจังหวัดปราจีนบุรี เพื่อให้สำนักงานที่ดินจังหวัดรังวัดที่ดินตรวจสอบกรรมสิทธิ์ ซึ่งผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงต้องมีการตรวจสอบกรรมสิทธิ์ เนื่องจากตามโฉนดที่ดินมีการยืนยันเขตที่ดินไว้แล้ว และในวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ได้มีกลุ่มบุคคลพร้อมรถไถและเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดำเนินการไถที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ อีกครั้ง โดยไม่สนใจคำห้ามปรามและอ้างว่าเป็นการกระทำตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี จากการกระทำดังกล่าวทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้รับความเสียหายและได้รับความไม่เป็นธรรมจากผู้ถูกฟ้องคดี จึงขอให้ศาลพิจารณาพิพากษา หรือมีคำสั่ง ดังนี้
๑. ให้ระงับการรื้อถอนบ้านของผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ที่ปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีที่ ๑
๒. ให้เพิกถอนการกระทำทั้งหมดที่ผู้ถูกฟ้องคดีสร้างเขื่อนบุกรุกในที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีที่ ๑
๓. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีจัดการกันส่วนพื้นที่กรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ที่ถูกบุกรุกให้เป็นพื้นที่ดังเดิม
๔. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดต่อที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ จำนวน ๒๕๐ ตารางวา ในอัตราตารางวาละ ๘,๐๐๐ บาท รวมเป็นจำนวนเงิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้รับจัดสรรงบประมาณประเภทงบลงทุนในวงเงิน ๑๑๗,๖๘๕,๐๐๐ บาท จากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ตามแผนงานพัฒนาเมือง โครงการพัฒนาพื้นที่ชุมชนเมืองในเขตพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก (ระยะที่ ๒) ก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำปราจีนบุรี (ริมถนนปราจีนอนุสรณ์) พร้อมระบบระบายน้ำและปรับภูมิทัศน์ ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการประกวดราคาได้บริษัท ส. กนกวรรณอุตสาหกรรม จำกัด เป็นผู้รับจ้างและทำสัญญาเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๔๖ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีได้ออกประกาศ ลงวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๔๖ ขอให้ผู้ก่อสร้างรุกล้ำ ที่สาธารณะทำการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างดังกล่าว และผู้ถูกฟ้องคดีโดยนายกเทศมนตรีเมืองปราจีนบุรีในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้ออกคำสั่งตามมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ รื้อถอนอาคารทั้งหมดที่ก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง แต่ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ มิได้ปฏิบัติตาม และมิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งกลับใช้วิธีร้องขอความเป็นธรรมตลอดมา ต่อมาผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ได้ร่วมลงนามในบันทึกต่อคณะกรรมการเจรจาไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทเรื่องราษฎรบุกรุกที่ดินริมแม่น้ำปราจีนบุรีเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๔๖ ผู้ถูกฟ้องคดีมิได้ก่อสร้างเขื่อนบุกรุกที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เพราะได้ทำหนังสือถึงสำนักงานที่ดินจังหวัดปราจีนบุรีเพื่อตรวจสอบกรรมสิทธิ์ในที่ดินชายตลิ่งบริเวณริมถนนปราจีนอนุสรณ์ ซึ่งเป็นสถานที่ก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมช่วงบริเวณตั้งแต่เชิงสะพานปราจีนบุรีถึงสะพานวัดแก้วพิจิตร และสำนักงานที่ดินจังหวัดปราจีนบุรีได้ตรวจสอบที่ดินบริเวณดังกล่าว ปรากฏว่ามีโฉนดที่ดินอยู่ด้านฝั่งแม่น้ำปราจีนบุรี จำนวน ๔ แปลง ไม่ปรากฏหลักฐานการเป็นเจ้าของที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ แต่อย่างใด การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดี ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ต้องรับผิดต่อผู้ฟ้องคดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลปกครองระยองมีคำสั่งจำหน่ายคดีของผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ออกจากสารบบความเนื่องจากผู้ฟ้องคดีที่ ๒ มีหนังสือชี้แจงว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้จ่ายเงินค่ารื้อถอนอาคารให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ แล้ว และดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในส่วนของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ต่อไปผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่าคดีนี้ประเด็นหลักเป็นเรื่องโต้แย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลได้เคยมีคำวินิจฉัยที่ ๓๐/๒๕๔๕ และที่ ๓๒/๒๕๔๕ ว่าการโต้แย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองระยองพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เหตุแห่งการฟ้องคือ การที่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้เข้าดำเนินการในที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เพื่อก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมโดยมิชอบ จึงเป็นการกระทำละเมิดของผู้ถูกฟ้องคดีอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายอันเป็นคดีตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์โฉนดที่ดินเลขที่ ๑๓๔๒ ออกเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ร.ศ. ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๒) ระบุทิศเหนือจดแม่น้ำปาจิณ (แม่น้ำปราจีนบุรี) เนื้อที่ ๓ ไร่ ๑ งาน ๔๐ ตารางวา ผู้ถูกฟ้องคดีให้การโต้แย้งกล่าวอ้างว่าเป็นที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เห็นได้ว่าที่ดินพิพาทจะเป็นที่ชายตลิ่งตามข้อกล่าวอ้างของผู้ถูกฟ้องคดีหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่ว่าแนวเขตที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๓๔๒ ของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ด้านทิศเหนือซึ่งระบุว่าจดแม่น้ำปราจีนบุรีสิ้นสุดลงตรงจุดใด มิได้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ต้องพิสูจน์กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองระหว่างคู่กรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินว่าฝ่ายใด มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่ากันแต่อย่างใด ซึ่งศาลปกครองย่อมมีอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริงนี้ อันเป็นประเด็นหลักแห่งคดีให้เป็นที่ยุติได้ คดีนี้มีข้อเท็จจริงแตกต่างจากกรณีตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๓๐/๒๕๔๕ และที่ ๓๒/๒๕๔๕ จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๒๗๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยประกอบกับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดปราจีนบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ จะยื่นฟ้องคดีโดยอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีใช้อำนาจตามกฎหมายกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่การกระทำละเมิดของผู้ถูกฟ้องคดีมาด้วยก็ตาม แต่ในการวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีจะเข้าลักษณะเป็นการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือไม่นั้น ในเบื้องต้นศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ตามที่อ้างหรือไม่ จึงจะสามารถพิจารณาเกี่ยวกับความเสียหายของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และข้อต่อสู้ของผู้ถูกฟ้องคดีที่อ้างว่าได้กระทำไปโดยชอบด้วยกฎหมายในคดีนี้ต่อไปได้ การพิจารณาถึงสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างคู่กรณี ทั้งสองฝ่ายต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดินประกอบกัน โดยจะต้องพิจารณาถึงกรรมสิทธิ์และการใช้ประโยชน์ในที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน ที่ศาลปกครองระยองมีความเห็นว่าที่ดินพิพาทจะเป็นที่ชายตลิ่งหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่ว่าแนวเขตที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๑๓๔๒ ของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ด้านทิศเหนือซึ่งระบุว่าจดแม่น้ำปราจีนบุรีสิ้นสุดลงตรงจุดใด มิได้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ต้องพิสูจน์กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองระหว่างคู่กรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งหรือประมวลกฎหมายที่ดินว่าฝ่ายใดมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่ากันแต่อย่างใด และศาลปกครองมีอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวซึ่งเป็นประเด็นหลักแห่งคดีให้เป็นที่ยุติได้นั้น ในข้อนี้ศาลยุติธรรมไม่เห็นพ้องด้วย ทั้งนี้ เนื่องจาก ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ อ้างว่าที่พิพาทซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีเข้าไปกระทำการอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ฟ้องคดีเป็นที่ดินมีโฉนดซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของตน ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีอ้างว่าที่ดินพิพาทไม่มีหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์แต่เป็นที่สาธารณประโยชน์ ประเด็นหลักแห่งคดีจึงมีว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดอันเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ หรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ หาได้มีประเด็นโต้แย้งกันเกี่ยวกับแนวเขตที่ดินแต่ประการใดไม่ ประเด็นแห่งคดีนี้จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินและยังเป็นที่โต้แย้งกันอยู่ระหว่างคู่ความทั้งสองฝ่าย ดังนั้นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดินคือศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ เมื่อศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีในส่วนของผู้ฟ้องคดีที่ ๒ แล้ว จึงมีปัญหาที่จะต้องพิจารณาเฉพาะผู้ฟ้องคดีที่ ๑ กับผู้ถูกฟ้องคดีเท่านั้น ซึ่งข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนดเลขที่ ๑๓๔๒ ตำบลคลองวัว อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี โดยมีพื้นที่ด้านหนึ่งจดแม่น้ำปราจีนบุรีได้รับความเดือดร้อนและเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีนำรถไถบุกรุกเข้าไปไถดินในที่ดินดังกล่าว บริเวณที่ติดกับริมแม่น้ำ เพื่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมทำให้ต้นไม้ใหญ่ และพืชพันธุ์ที่ปลูกไว้เสียหาย จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษา หรือคำสั่งให้เพิกถอนการกระทำทั้งหมด ให้ผู้ถูกฟ้องคดีจัดการกันส่วนพื้นที่กรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ที่ถูกบุกรุกให้เป็นพื้นที่ดังเดิม และให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดต่อที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ จำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า มิได้ก่อสร้างเขื่อนบุกรุกที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เพราะสำนักงานที่ดินจังหวัดปราจีนบุรีได้ตรวจสอบกรรมสิทธิ์ในที่ดินชายตลิ่งบริเวณดังกล่าวแล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานการเป็นเจ้าของที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ แต่อย่างใด การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีชอบด้วยกฎหมาย ไม่ต้องรับผิดต่อผู้ฟ้องคดี ขอให้ยกฟ้อง ดังนั้น คดีนี้ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ หรือเป็นที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาได้ว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นละเมิดหรือไม่ จะต้องชดใช้ค่าเสียหายกันเพียงใด จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดี ระหว่าง นางสมถวิล อัมพรอารีกุล ผู้ฟ้องคดี เทศบาลเมืองปราจีนบุรี ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ศุภชัย ภู่งาม (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายศุภชัย ภู่งาม) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท วิรัตน์ บรรเลง (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(วิรัตน์ บรรเลง) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
วัชรินทร์ คัด/ทาน
??
??
??
??
๖