คำวินิจฉัยที่ 14/2548

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๔/๒๕๔๘

วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๔๘

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดนนทบุรี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๗ นายวิสูตร ส่งสกุลชัย ผู้ฟ้องคดี ได้ยื่นฟ้อง กรมการแพทย์ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๕๓๖/๒๕๔๗ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นบิดาซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชายณภัทร ส่งสกุลชัย ผู้เยาว์ อายุ ๖ ปี ๓ เดือน โดยภริยาของผู้ฟ้องคดีได้คลอดเด็กชายณภัทรที่โรงพยาบาลราชวิถี เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๔๑ หลังจากนั้นจนถึงวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๕ บุตรของผู้ฟ้องคดีได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ และเข้ารับการรักษาพยาบาลโรคปอดอักเสบ หอบ และโรคต่าง ๆ รวมหลายครั้งที่โรงพยาบาลดังกล่าว สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ มหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) โรงพยาบาลปากเกร็ด นนทบุรี และโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จนได้ตรวจพบว่าบุตรของผู้ฟ้องคดีติดเชื้อเอชไอวี (HIV) โดยผู้ฟ้องคดีและภริยาได้รับการตรวจเลือดแล้วแต่ไม่พบเชื้อดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเหตุที่บุตรของผู้ฟ้องคดีติดเชื้อดังกล่าวเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลดังกล่าวข้างต้น ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๖ ร้องขอให้กระทรวงสาธารณสุขชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในผลแห่งละเมิดของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลดังกล่าวเป็นเงิน ๑,๓๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๖ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิเสธที่จะพิจารณาชดใช้ค่าเสียหายให้ตามหนังสือ ที่ สธ ๐๓๐๒/๓๒๑๓ ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๖ จึงขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดี และสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๑,๓๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ทราบว่าบุตรของผู้ฟ้องคดีติดเชื้อดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ฟ้องคดี และให้บุตรของผู้ฟ้องคดีได้รับยาต้านไวรัสตลอดชีวิต และได้รับการรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ตามคำสั่งที่ ๓๙๐/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๔๕ และคำสั่งที่ ๑๕๑/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๔๖ คณะกรรมการเห็นว่าในการรักษาบุตรของผู้ฟ้องคดี แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) ที่เกี่ยวข้องได้ใช้ความระมัดระวังและทำการตรวจรักษาถูกต้องตามหลักวิชาการแพทย์และการพยาบาลเหมาะสมแก่กรณีทุกประการแล้ว การติดเชื้อเอชไอวี รายนี้จึงไม่น่าจะเกิดจากการตรวจรักษาของแพทย์หรือพยาบาลของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) แต่อย่างใด และไม่มีการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อเกิดขึ้น กรณีจึงไม่เป็นละเมิด เจ้าหน้าที่หรือสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) จึงไม่ต้องรับผิด และได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบแล้ว ต่อมา ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องกระทรวงสาธารณสุขต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๙๘/๒๕๔๗ คดีหมายเลขแดงที่ ๕๐๘/๒๕๔๗ ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ผู้ฟ้องคดีจึงมาฟ้องต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีนี้ โรงพยาบาลราชวิถี และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) เท่านั้นเป็นหน่วยงานในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดี คำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากคดีนี้ไม่ใช่เป็นคดีละเมิดทางปกครอง ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่าคดีนี้เป็นคดีฟ้องเรียกค่าเสียหาย อันเนื่องมาจากการกระทำในหน้าที่ของแพทย์ในการตรวจรักษาโรคตามปกติทั่วไปในการรักษาพยาบาล ไม่ใช่การใช้อำนาจตามกฎหมาย กรณีจึงไม่เป็นละเมิดทางปกครอง อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจาก ผู้ถูกฟ้องคดีอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดของบุคลากรทางการแพทย์ของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีและของโรงพยาบาลราชวิถีซึ่งเป็นส่วนราชการในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ทำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ และทำการรักษาพยาบาลโรคปอดอักเสบ โรคหอบ และโรคต่าง ๆ รวมหลายครั้งให้แก่บุตรของผู้ฟ้องคดีไปโดยผิดพลาดบกพร่องขาดความระมัดระวัง อันเป็นการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จนเป็นเหตุให้บุตรของผู้ฟ้องคดีติดเชื้อเอชไอวี กรณีจึงเป็นการฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะหน่วยงานของรัฐให้รับผิดต่อผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่บุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีได้กระทำในการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ด้วยการให้บริการตรวจ วินิจฉัย บำบัดรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อพัฒนาวิชาการแพทย์เฉพาะทางด้านโรคในกลุ่มเด็กและด้านโรคทั่วไป ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ประกอบมาตรา ๕ แห่งพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๗ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดนนทบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากการที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า บุตรของผู้ฟ้องคดีติดเชื้อเอชไอวีจากการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเนื่องจากการกระทำในหน้าที่ของแพทย์เกี่ยวกับการตรวจรักษาโรค ตามปกติทั่วไปของการรักษาพยาบาล เป็นการกระทำทางกายภาพในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่รักษาพยาบาล ไม่ใช่การใช้อำนาจตามกฎหมาย ทั้งคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ปฏิเสธที่จะพิจารณาชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี ก็เป็นเรื่องการปฏิเสธตามธรรมดาของผู้ที่ถูกเรียกร้อง ไม่ใช่การกระทำที่เป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี และไม่ใช่คำสั่งทางปกครอง กรณีจึงไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ตามมาตรา ๒๗๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นที่ต้องพิจารณาเบื้องต้นมีว่า ผู้ถูกฟ้องคดี เป็นหน่วยงานทางปกครองหรือไม่ กรมการแพทย์ เป็นส่วนราชการระดับกรม สังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมีโรงพยาบาลราชวิถี และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) เป็นส่วนราชการในสังกัดตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๔๕ ผู้ถูกฟ้องคดี จึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้บุตรของผู้ฟ้องคดีติดเชื้อเอชไอวี (HIV) เมื่อเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ และการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในการให้บริการสาธารณะเกี่ยวกับการแพทย์ การสาธารณสุข เมื่อเกิดความเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่จากการปฏิบัติหน้าที่ กรณีจึงเป็นไปตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ แต่คดีที่ฟ้องเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐให้ต้องรับผิดทางละเมิดอาจอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองก็ได้ กรณีจำต้องพิจารณาอำนาจของศาลปกครองในการพิจารณาพิพากษาคดีเป็นสำคัญ ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้”ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร” อันเป็นการจำกัดประเภทคดีปกครองที่เกิดจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ โดยมุ่งหมายให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดที่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ไม่รวมถึงการกระทำละเมิดที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ธรรมดาทั่วไปของเจ้าหน้าที่ เมื่อการยื่นฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ให้วัคซีนและรักษาพยาบาลผู้ป่วยอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ธรรมดาทั่วไป มิได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ จึงไม่อยู่ในบังคับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แม้มาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ กำหนดให้ผู้เสียหายที่ยังไม่พอใจในผลการวินิจฉัยของหน่วยงานของรัฐให้มีสิทธิร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ตามกฎหมาย ว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ไปฟ้องยังศาลปกครองก็ตาม แต่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐๖ บัญญัติให้สิทธิร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ในคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองให้ถือว่าเป็นสิทธิฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรม เมื่อการกระทำละเมิดคดีนี้ไม่อยู่ในบังคับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมตามมาตรา ๒๗๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายวิสูตร ส่งสกุลชัย ผู้ฟ้องคดี กรมการแพทย์ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ศุภชัย ภู่งาม (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายศุภชัย ภู่งาม) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท วิรัตน์ บรรเลง (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(วิรัตน์ บรรเลง) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

วัชรินทร์ คัด/ทาน
??

??

??

??

Share