คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6225/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ป. เป็นลูกหนี้โจทก์อยู่ เมื่อ ป. ถึงแก่กรรมแล้วจำเลยทั้งสองทำหนังสือเพื่อชำระหนี้แทน ป. ซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 1 และเป็นบิดาจำเลยที่ 2 โดยจำเลยทั้งสองมิได้เป็นหนี้โจทก์ โดยระบุว่า ขณะทำสัญญาฉบับนี้ ป.ยังคงเป็นลูกหนี้โจทก์อยู่เป็นจำนวนเงิน 2,720,000 บาทจำเลยทั้งสองยินยอมชดใช้หนี้จำนวนดังกล่าวโดยจะชำระเป็นงวดเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ป. ทำขึ้นเพื่อยอมรับสภาพหนี้ของเจ้ามรดก มิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันจะเป็นเหตุให้มูลหนี้เดิมระหว่างโจทก์กับ ป. ระงับลงเพราะ ป. ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนที่จะมีการจัดทำหนังสือดังกล่าวแล้วและข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงเจตนาที่ยอมตนเข้าผูกพันรับผิดต่อโจทก์ในฐานะทายาทผู้ตายมิใช่รับผิดเป็นส่วนตัวและเป็นสัญญาที่มีผลสมบูรณ์บังคับกันได้ตามกฎหมาย แต่คงรับผิดต่อโจทก์ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่จำเลยทั้งสองจะได้รับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2534 จำเลยทั้งสองได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองตกลงยินยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 2,720,000 บาท ชำระเป็นงวดงวดละไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท งวดแรกชำระในวันที่ 20 ตุลาคม 2534งวดต่อไปชำระภายในวันที่ 20 ของทุก ๆ เดือน โดยจะชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 25 มกราคม 2535 หากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดหรือไม่ชำระหนี้ให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนดให้ถือว่าผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมด ยินยอมให้โจทก์ฟ้องร้องบังคับคดีได้ทันทีนับแต่วันทำหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว จำเลยทั้งสองชำระเงินให้แก่โจทก์เพียง 900,000 บาท คงค้างชำระ 1,820,000 บาทขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน1,820,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า หนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยทั้งสองกับโจทก์ทำขึ้นเป็นเพียงหนังสือที่รับรองว่า นายโปร่ง ชัยกิจเป็นลูกหนี้โจทก์มิได้เกี่ยวกับจำเลยทั้งสอง เพราะจำเลยทั้งสองไม่เคยเป็นลูกหนี้โจทก์ หนังสือรับสภาพหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องไม่ใช่หนังสือรับสภาพหนี้ตามกฎหมาย และไม่ผูกพันจำเลยทั้งสองเพราะเป็นการทำขึ้นโดยฝืนใจลูกหนี้และจำเลยทั้งสองหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน1,820,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้นำเงินจากกองมรดกของนายโปร่ง ชัยกิจ มาชำระและให้จำเลยทั้งสองรับผิดไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่จำเลยทั้งสองได้รับจากกองมรดกของนายโปร่ง ชัยกิจ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในฐานะส่วนตัวไม่ใช่ในฐานะทายาทผู้รับมรดกของนายโปร่ง ชัยกิจ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันและไม่โต้แย้งกันฟังได้ว่า นายโปร่งเป็นลูกหนี้โจทก์อยู่เป็นเงินจำนวน 2,720,000 บาท เมื่อนายโปร่งถึงแก่กรรมแล้วจำเลยทั้งสองทำหนังสือตามเอกสารหมาย จ.1 เพื่อชำระหนี้แทนนายโปร่งผู้ตายซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 1 และเป็นบิดาจำเลยที่ 2โดยจำเลยทั้งสองมิได้เป็นหนี้โจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในปัญหาข้อกฎหมายว่า หนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ตามที่โจทก์ฟ้องมีผลบังคับหรือไม่และจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดหรือไม่เพียงใด พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยทั้งสองได้ทำหนังสือตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งความในข้อ 1 ระบุว่า”ขณะทำสัญญาฉบับนี้ นายโปร่ง ชัยกิจ ยังคงเป็นลูกหนี้นายกรีพล สถิตย์เสถียรอยู่เป็นจำนวนเงิน 2,720,000 บาทข้าพเจ้าทั้งสองตกลงยินยอมชดใช้หนี้จำนวนดังกล่าวโดยจะชำระเป็นงวด งวดละเดือนเดือนละไม่น้อยกว่า 200,000 บาท ชำระงวดแรกในวันที่ 20 ตุลาคม 2534 งวดต่อไปภายในวันที่ 20 ของทุกเดือนและจะชำระให้เสร็จภายในวันที่ 25 มกราคม 2535″ เป็นที่เห็นได้ว่าหนังสือตามเอกสารหมาย จ.1 ดังกล่าวเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของนายโปร่งผู้ตายลูกหนี้ทำขึ้นเพื่อยอมรับสภาพหนี้ของเจ้ามรดก เอกสารหมาย จ.1 มิใช่เป็นกรณีของการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันจะเป็นเหตุให้มูลหนี้เดิมระหว่างโจทก์กับนายโปร่งระงับลงเพราะนายโปร่งได้ถึงแก่กรรมไปก่อนที่จะมีการจัดทำเอกสารหมาย จ.1 ดังกล่าวแล้วและ เมื่อพิเคราะห์ข้อความในเอกสารหมาย จ.1 แล้วแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยทั้งสองที่ยอมตนเข้าผูกพันรับผิดต่อโจทก์ในฐานะทายาทผู้ตายมิใช่รับผิดเป็นส่วนตัวและเป็นสัญญาที่มีผลสมบูรณ์บังคับกันได้ตามกฎหมาย หากแต่จำเลยทั้งสองคงต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะทายาทของผู้ตายไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่จำเลยทั้งสองจะได้รับ กรณีหาใช่เป็นการวินิจฉัยนอกเหนือจากคำฟ้องและเกินคำขอของโจทก์ใหม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในฐานะส่วนตัวไม่ใช่ในฐานะทายาทผู้รับมรดกของนายโปร่งผู้ตายนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่าให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share