แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การเบิกความในการพิจารณาคดีของศาล ไม่ว่าจะเป็นชั้นไต่สวนมูลฟ้องหรือชั้นพิจารณาก็เป็นการพิจารณาคดีของศาลเช่นเดียวกันส่วนคำว่าข้อสำคัญในคดีก็หมายถึงเนื้อหาหรือสาระของคำเบิกความหาใช่เรื่องขั้นตอนในการเบิกความไม่ ดังนั้นถ้าพยานเบิกความเท็จและข้อความที่เบิกความเป็นสาระสำคัญของคดีที่เบิกความ ไม่ว่าจะเป็นการเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องหรือในชั้นพิจารณาของศาล ก็เป็นการเบิกความเท็จที่เป็นข้อสำคัญในคดีอันเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จเช่นเดียวกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 นำเอาความเป็นเท็จฟ้องโจทก์ต่อศาลแขวงสุรินทร์ตามสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1801/2532 ในข้อหาลักทรัพย์และฉ้อโกง โดยบรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2526โจทก์มีเจตนาหลอกลวงจำเลยที่ 2 ให้ยืมหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 2207 เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 91 ตารางวาของจำเลยที่ 1 ไปจำนองเป็นประกันการกู้ยืมเงินจำนวน 250,000 บาทกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาสุรินทร์ โดยตกลงให้โจทก์เป็นผู้ไถ่ถอนต่อไปและโจทก์ได้หลอกลวงเอาเงินจำนวน 250,000 บาทไปจากจำเลยที่ 2 ต่อมาวันที่ 13 กันยายน 2526 โจทก์ได้หลอกลวงจำเลยที่ 1 ให้ขึ้นเงินจำนองเพิ่มอีก 100,000 บาท และถูกโจทก์หลอกเอาเงินดังกล่าวไปจากจำเลยที่ 2 อีก และวันที่ 14 กุมภาพันธ์2527 โจทก์ได้หลอกลวงให้จำเลยที่ 1 ยินยอมเซ็นชื่อให้โจทก์เพื่อโจทก์จะได้นำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองในนามของโจทก์เพื่อเพิ่มวงเงินจำนองเป็น 400,000 บาท การบรรยายฟ้องของจำเลยที่ 1แสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้กระทำความผิดทางอาญาฐานฉ้อโกง ซึ่งความจริงจำเลยที่ 1 เป็นมารดาจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 เป็นผู้กู้ยืมเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาสุรินทร์ ทั้งสองครั้งและรับเงินไปจากธนาคารด้วยตนเองโจทก์ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยและเมื่อวันที่14 กุมภาพันธ์ 2527 จำเลยทั้งสองได้ติดต่อขายที่ดินให้โจทก์ในราคา 350,000 บาท และดอกเบี้ยที่จำเลยทั้งสองค้างชำระอีก30,000 บาท โดยโจทก์เป็นผู้ชำระแทน เมื่อซื้อแล้วโจทก์จึงได้นำไปจำนองกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาสุรินทร์ ในวงเงิน400,000 บาท มิใช่เป็นการหลอกลวงจำเลยที่ 1 เพื่อขอเพิ่มวงเงินแต่อย่างใด และเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2532 เวลากลางวันจำเลยทั้งสองได้เบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาดังกล่าวโดยจำเลยที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ไม่ทราบว่าเงินจำนวนที่กู้จากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาสุรินทร์ จำเลยที่ 1ไม่ได้รับเงินหรือได้รับเอกสารจากธนาคาร ต่อมาวันที่ 19 กันยายน2532 จำเลยที่ 1 จึงทราบว่าถูกโจทก์ฉ้อโกงเงินทั้งหมดไป จำเลยที่ 1ไม่เคยถามจำเลยที่ 2 ว่าทำไมถึงไม่ได้รับเงินที่กู้และเบิกความอีกว่า ในการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินกับโจทก์ไม่ทราบว่าเป็นการซื้อขายที่ดินกับโจทก์แต่อย่างใด ความจริงจำเลยที่ 1 ทราบดีอยู่แล้วว่าได้ขายที่ดินให้แก่โจทก์เพราะจำเลยทั้งสองเคยไปขอซื้อที่ดินคืนแต่โจทก์ไม่ยอมขายให้ ส่วนจำเลยที่ 2 เบิกความว่า จำเลยที่ 2กู้ยืมเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาสุรินทร์ แต่ไม่ได้รับเงินจำนวน 250,000 บาท เข้าใจว่าโจทก์เก็บไว้ที่ธนาคารในวันที่กู้ยืมทั้งสองครั้ง จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้เอาเงินไป แต่ปัจจุบันจำเลยที่ 2 ทราบว่าโจทก์เป็นผู้เบิกเงินเอาไปเองซึ่งความจริงจำเลยที่ 2 เป็นผู้เซ็นรับเงินไปจากธนาคารทั้งสองครั้งเพราะจำเลยที่ 2 เป็นผู้กู้ยืมเอง การที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าไม่ได้รับเงินจากธนาคารจึงเป็นความเท็จและจำเลยที่ 2 ยังเบิกความอีกว่า ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2527 จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนซื้อขายที่ดินกับโจทก์ซึ่งเป็นความเท็จเพราะจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงชื่อเป็นพยานในการทำนิติกรรมซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ความเท็จที่จำเลยทั้งสองเบิกความต่อศาลแขวงสุรินทร์ดังกล่าวเป็นข้อสำคัญในคดีที่โจทก์ถูกฟ้องเป็นจำเลยซึ่งหากศาลแขวงสุรินทร์เชื่อคำเบิกความของจำเลยทั้งสองจะทำให้โจทก์ต้องได้รับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา เหตุทั้งหมดเกิดที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175, 177, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 175, 177 วรรคสอง เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานฟ้องเท็จ จำคุก 1 ปี กระทงหนึ่ง ฐานเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีอาญาจำคุก 1 ปี 6 เดือน อีกกระทงหนึ่ง รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 6 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคสอง ให้จำคุก 1 ปี 6 เดือนจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จำเลยที่ 1และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2532 จำเลยที่ 1ได้นำเอาความอันเป็นเท็จฟ้องโจทก์ต่อศาลแขวงสุรินทร์ในข้อหาลักทรัพย์และฉ้อโกงปรากฎตามคำฟ้องคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1801/2532ของศาลแขวงสุรินทร์ ต่อมาในวันที่ 25 ธันวาคม 2532 จำเลยทั้งสองได้ไปเบิกความต่อศาลแขวงสุรินทร์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องของคดีอาญาดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 เบิกความเท็จว่า เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน2526 จำเลยที่ 1 ขอกู้เงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาสุรินทร์250,000 บาท เพื่อให้จำเลยที่ 2 ยืมอีกต่อหนึ่ง หลังจากทำเรื่องเสร็จแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินและรับเอกสารจากธนาคาร ต่อมาจำเลยที่ 2 บอกให้จำเลยที่ 1 ไปกู้ยืมเงินเพิ่มอีก 100,000 บาทวันที่ 13 กันยายน 2526 จำเลยที่ 1 ได้ไปกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อให้จำเลยที่ 2 ยืมอีก การกู้ยืมเงินทั้งสองครั้ง จำเลยที่ 1ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2 ได้รับเงินหรือไม่ ต่อมาทราบว่าการกู้เงินทั้งสองครั้งโจทก์เป็นผู้เบิกเงินไปจากธนาคาร เมื่อวันที่ 14กุมภาพันธ์ 2527 จำเลยทั้งสองและโจทก์พร้อมเจ้าหน้าที่ธนาคารไปที่สำนักงานที่ดินอำเภอสังขะ จำเลยที่ 1 ลงชื่อในเอกสารโดยไม่ทราบว่าทำอะไร ต่อมาวันที่ 19 กันยายน 2532 จึงทราบว่าถูกโจทก์ฉ้อโกงไปทั้งหมดส่วนจำเลยที่ 2 เบิกความเท็จว่า เมื่อวันที่8 มิถุนายน 2526 เป็นผู้กู้ยืมเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัดสาขาสุรินทร์ จำนวน 250,000 บาท และเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2526จำเลยที่ 2 กู้เพิ่มอีก 100,000 บาท แต่ไม่ได้รับเงินทั้งสองครั้งโจทก์เป็นผู้รับเอาไป
พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คำเบิกความของพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องไม่เป็นข้อสำคัญในคดี จะต้องเป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณาจึงเป็นข้อสำคัญในคดีนั้น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 177 วรรคแรก บัญญัติว่า ผู้ใดเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาลถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ฯลฯ บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมีความหมายอยู่ชัดแจ้งแล้วว่า เป็นการเบิกความในการพิจารณาคดีของศาล ซึ่งไม่ว่าจะเป็นชั้นไต่สวนมูลฟ้องหรือชั้นพิจารณาก็เป็นการพิจารณาคดีของศาลเช่นเดียวกัน ส่วนคำว่าข้อสำคัญในคดีก็หมายถึงเนื้อหาหรือสาระของคำเบิกความ หาใช่เรื่องขั้นตอนในการเบิกความอย่างที่จำเลยทั้งสองอ้างไม่ ดังนั้นถ้าพยานเบิกความเท็จและข้อความที่เบิกความเป็นสาระสำคัญของคดีที่เบิกความไม่ว่าจะเป็นการเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องหรือในชั้นพิจารณาของศาล ก็เป็นการเบิกความเท็จที่เป็นข้อสำคัญในคดีเช่นเดียวกัน”
พิพากษายืน