คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3781/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองเช่าหลักทรัพย์ น.ส.3 ที่ดินของโจทก์เพื่อประกันตัว ว. พี่ของจำเลยที่ 2 ที่ถูกฟ้องในข้อหาฉ้อโกงประชาชนต่อศาล โดยโจทก์เรียกค่าตอบแทนและให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันไว้ เพื่อเป็นประกันในการที่โจทก์ยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัว ว. ซึ่งขณะจำเลยที่ 1 และที่ 2ทำสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันดังกล่าว สัญญาประกันตัว ว.ยังไม่ได้ทำและความเสียหายยังไม่เกิดขึ้น ไม่มีหนี้เดิมที่จะแปลงเป็นมูลหนี้ในสัญญากู้เงินได้ จึงไม่เป็นการแปลงหนี้ อีกทั้งยังไม่รู้ว่าศาลจะตีราคาประกันเท่าใด จึงเป็นหนี้ที่ไม่แน่นอนและไม่อาจทำสัญญากู้เงินเพื่อประกันหนี้นั้นได้ ดังนั้นจำเลยที่ 1ผู้กู้เงินและจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2527 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์ไป 100,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยตามกฎหมายกำหนดชำระเงินคืนภายในวันที่ 30 กันยายน 2527 จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าวไว้กับโจทก์เมื่อครบกำหนดจำเลยทั้งสองไม่ชำระ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินต้นและดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กู้เงินและรับเงินตามฟ้องไปจากโจทก์เหตุที่ต้องทำสัญญากู้เงินให้โจทก์ไว้เนื่องจากจำเลยทั้งสองได้ขอเช่าหลักทรัพย์ที่ดินโจทก์ไปทำสัญญาประกันตัวนายวิรัตน์ นิลภูผา ญาติของจำเลยที่ 2 ซึ่งต้องหาคดีอาญาเป็นเงิน 5,000 บาท โจทก์จึงให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ในสัญญากู้ฉบับแรกและให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันฉบับที่สองให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ และให้จำเลยที่ 1เป็นผู้ค้ำประกันให้บิดาจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ในสัญญากู้ฉบับที่สามและให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำนวนเงินกู้ฉบับละ 100,000 บาท หากจำเลยทั้งสองและบิดาของจำเลยที่ 2ไม่ยอมลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าว โจทก์จะไม่ยื่นประกันตัวนายวิรัตน์ ดังนั้น จึงไม่มีมูลหนี้ตามสัญญา จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิด
ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์จำนวน 100,000 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกันปรากฏตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 ปัญหามีว่าจำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินให้โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ จะวินิจฉัยปัญหาว่าจำเลยที่ 1ได้รับเงินกู้จำนวน 100,000 บาท ตามฟ้องไปจากโจทก์หรือไม่ก่อนจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินกู้จำนวน 100,000 บาท ตามฟ้องไปจากโจทก์ รูปคดีน่าเชื่อดังที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยทั้งสองเช่าหลักทรัพย์ น.ส.3 ที่ดินของโจทก์เพื่อประกันตัวนายวิรัตน์โดยโจทก์เรียกค่าตอบแทนและให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินโดยให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันให้ไว้เพื่อเป็นประกันในการที่โจทก์ยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัวนายวิรัตน์พี่ของจำเลยที่ 2 ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าฉ้อโกงประชาชน ปัญหาที่ว่าจำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินให้โจทก์ตามฟ้องหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญากู้เงินและค้ำประกันกับโจทก์ก่อนแล้วโจทก์จึงไปยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัวนายวิรัตน์ต่อศาลขณะทำสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันดังกล่าว สัญญาประกันตัวนายวิรัตน์ยังไม่ได้ทำและความเสียหายอันเกิดจากสัญญาประกันตัวนายวิรัตน์ยังไม่เกิดขึ้น ไม่มีหนี้เดิมที่จะแปลงเป็นมูลหนี้ในสัญญากู้เงินได้จึงไม่เป็นการแปลงหนี้อีกทั้งยังไม่รู้ว่าศาลจะตีราคาประกันเท่าใด จึงเป็นหนี้ที่ไม่แน่นอนและไม่อาจทำสัญญากู้เงินเพื่อประกันหนี้นั้นได้ ดังนั้น จำเลยที่ 1 ผู้กู้เงินและจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share