แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ร่วมขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยเพื่อนำเงินไปไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทแล้วโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลย แต่ธนาคารหาโฉนดที่ดินพิพาทไม่พบ จึงยังไม่ได้ดำเนินการ ต่อมาโจทก์ร่วมย้ายที่อยู่ จำเลยไม่สามารถติดตามโจทก์ร่วมมาดำเนินการได้ กรณีจึงไม่ใช่ปล่อยทิ้งไม่ดำเนินการแต่อย่างใด และการที่โจทก์ร่วมได้รับแจ้งจากธนาคารว่าโฉนดที่ดินสูญหายก็เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมจะต้องดำเนินการเพื่อให้ได้ใบแทนโฉนดที่ดินมาโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลย หาใช่กรณีที่จำเลยจะต้องเป็นผู้ดำเนินการไม่ เมื่อโจทก์ร่วมได้ดำเนินการขอออกใบแทนโฉนดที่ดินใหม่ได้แล้ว โจทก์ร่วมได้โอนขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์โดยคบคิดกันฉ้อฉลเพื่อไม่ต้องจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย ทำให้จำเลยซึ่งอยู่ในฐานะอันจะได้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนเสียเปรียบ จำเลยจึงฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมการโอนดังกล่าวได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากบ้านของโจทก์ กับใช้ค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากบ้านของโจทก์
จำเลยให้การ แก้ไขคำให้การ ฟ้องแย้งและแก้ไขฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องโจทก์และให้เพิกถอนการโอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทระหว่างโจทก์กับนายเกษม ให้โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้จำเลย
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกนายเกษม เข้ามาเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
โจทก์และโจทก์ร่วมให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 51226 ตำบลลาดพร้าว อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 132 หมู่ที่ 8 แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร ระหว่างโจทก์กับโจทก์ร่วมกับให้โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้จำเลย หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ร่วมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 51226 ตำบลลาดพร้าว อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลย ให้โจทก์และโจทก์ร่วมใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 20,000 บาท แทนจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยมีสิทธิฟ้องบังคับให้โจทก์และโจทก์ร่วมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทให้จำเลยหรือไม่ คดีนี้จากทางนำสืบของจำเลยได้ความว่า เดิมที่ดินและบ้านพิพาทเป็นของโจทก์ร่วม โดยโจทก์ร่วมกู้ยืมเงินธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) และจำนองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันไว้เมื่อปี 2519 ต่อมาโจทก์ร่วมผิดสัญญา ธนาคารจึงฟ้องให้ชำระหนี้กู้ยืมและบังคับจำนอง โจทก์ร่วมไม่สามารถชำระหนี้ได้จึงขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยในราคา 300,000 บาท จำเลยชำระราคาให้โจทก์ร่วมแล้ว ตามหนังสือสัญญาซื้อขาย แต่โจทก์ร่วมไม่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยอ้างว่าไปดำเนินการไถ่ถอนจำนองแล้ว แต่ธนาคารหาโฉนดที่ดินไม่พบจึงไม่อาจดำเนินการได้ ต่อมาโจทก์และโจทก์ร่วมมีปัญหาหย่าร้างกันต่างย้ายออกจากที่ดินและบ้านพิพาทไปมีครอบครัวใหม่ ส่วนบุตรของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามคนยังคงพักอาศัยอยู่กับจำเลย จำเลยไม่สามารถตามโจทก์ร่วมมาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้จึงยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินแต่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกคำร้องขอ โจทก์ร่วมและโจทก์ทราบเรื่องดังกล่าวจึงไปแจ้งความว่าโฉนดที่ดินพิพาทสูญหายและขอออกใบแทนโฉนดที่ดินใหม่แล้วโจทก์ร่วมจดทะเบียนโอนขายให้แก่โจทก์โดยคบคิดกันฉ้อฉลเพื่อไม่ต้องจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้จำเลย ที่โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาว่า แม้จำเลยจะมีหลักฐานการซื้อขายมาแสดงว่าโจทก์ขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยก็ตาม แต่ก็เป็นการกล่าวอ้างภายหลังจากที่จำเลยได้เคยยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นข้อพิรุธเพราะจำเลยเคยเบิกความในคดีดังกล่าวว่า การซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยไม่มีการทำสัญญาซื้อขายกันไว้นั้น ได้ความจากทางนำสืบของจำเลยว่า ในขณะนั้นจำเลยจำไม่ได้ว่าการซื้อขายที่ดินดังกล่าวมีการทำหนังสือสัญญากันไว้หรือไม่ประกอบกับเก็บไว้หาไม่พบและทนายความก็บอกว่าไม่ต้องใช้เพราะเป็นการร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ภายหลังสามีของจำเลยเสียชีวิตมีการทำความสะอาดบ้านจึงพบสัญญาซื้อขายซึ่งเมื่อพิจารณาคำเบิกความของจำเลยแล้ว เห็นว่า จำเลยยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์เมื่อปี 2537 หลังจากมีการซื้อขายที่ดินพิพาทกันถึง 16 ปี กรณีจึงอาจเป็นไปได้ว่าจำเลยอาจจำไม่ได้ว่ามีการทำสัญญาซื้อขายกันไว้หรือไม่ และที่สามารถนำหนังสือสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยมาเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ก็เนื่องจากพบสัญญาฉบับดังกล่าวโดยบังเอิญ กรณีจึงยังไม่เป็นข้อพิรุธสงสัย ที่โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาต่อมาว่า จำเลยไม่มีหลักฐานใดมานำสืบแสดงว่าจำเลยได้จ่ายเงินค่าซื้อที่ดินจำนวน 300,000 บาท ให้โจทก์ร่วมแล้วนั้น เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาซื้อขาย ข้อ 1. ระบุไว้ว่าผู้ขายได้ขายที่ดินพิพาทพร้อมบ้านเลขที่ 132 ให้แก่ผู้ซื้อเป็นจำนวนเงิน 300,000 บาท และผู้ขายได้รับราคาดังกล่าวแล้วไปจากผู้ซื้อเสร็จแล้วแต่วันที่ 5 มีนาคม 2521 ซึ่งเป็นการระบุจำนวนเงินและวันที่ที่มีการรับเงินกันไว้ชัดแจ้งตามสัญญาซื้อขายกรณีจึงรับฟังได้ว่า มีการชำระเงินเสร็จสิ้นแล้ว ส่วนที่ฎีกาอ้างว่า หากมีการซื้อขายกันจริงเหตุใดจำเลยไม่ขอให้ธนาคารไถ่ถอนจำนองในช่วงเวลานั้น เหตุใดจึงปล่อยให้ระยะล่วงเลยมาถึง 16 ปี จากปี 2521 ถึงปี 2537 ซึ่งเป็นปีที่จำเลยยื่นขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้น ก็ได้ความจากทางนำสืบของจำเลยว่า หลังจากธนาคารถอนฟ้องโจทก์ร่วมในคดีที่ธนาคารเป็นโจทก์ฟ้องให้โจทก์ร่วมซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวชำระหนี้กู้ยืมและบังคับจำนองแล้ว โจทก์ร่วมได้ไปดำเนินการไถ่ถอนจำนองเพื่อโอนที่ดินให้จำเลยแต่ปรากฏว่าธนาคารหาโฉนดที่ดินไม่พบจึงไม่อาจดำเนินการได้และระหว่างนั้นโจทก์และโจทก์ร่วมได้หย่าขาดกันและต่างก็แยกย้ายไปมีครอบครัวใหม่ จำเลยไม่สามารถติดตามหาโจทก์ร่วมมาดำเนินการไถ่ถอนที่ดินและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยได้ กรณีดังกล่าวมาจึงไม่ใช่กรณีของการปล่อยทิ้งไว้ไม่ดำเนินการแต่อย่างใด และการที่โจทก์ร่วมได้รับแจ้งจากธนาคารว่าโฉนดที่ดินสูญหายก็เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมจะต้องดำเนินการเพื่อให้ได้ใบแทนโฉนดที่ดินมาโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลย หาใช่กรณีที่จำเลยจะต้องเป็นผู้ดำเนินการตามที่โจทก์และโจทก์ร่วมกล่าวอ้างไม่
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมประการต่อมาว่า โจทก์เป็นผู้รับโอนที่ดินและบ้านพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนหรือไม่ โจทก์อ้างว่า โจทก์ชำระค่าที่ดินให้โจทก์ร่วมเป็นเงิน 300,000 บาท โดยซื้อแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 200,000 บาท และเงินสด 100,000 บาท ซึ่งธนาคารได้รับไว้และได้ไถ่ถอนจำนองให้แก่โจทก์ร่วมนั้น จากทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า ที่ดินพิพาทติดจำนองธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2519 และโจทก์ไปไถ่ถอนจากธนาคารในวงเงิน 300,000 บาท เมื่อปี 2544 ตามสารบัญจดทะเบียนท้ายโฉนดที่ดิน โดยโจทก์ชำระเป็นแคชเชียร์เช็ค จำนวน 200,000 บาท และชำระเป็นเงินสด 100,000 บาท และเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่าตามสำเนาโฉนดที่ดิน ในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 3134/2538 และโฉนดที่ดินมีรายการที่โจทก์ร่วมจดทะเบียนจำนองแก่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เพียงครั้งเดียว โจทก์ร่วมเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า หลังจากโจทก์ร่วมทำสัญญากู้ยืมและจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับธนาคารแล้ว โจทก์ร่วมไม่เคยชำระเงินกู้ยืม โจทก์จะติดต่อกับธนาคารอย่างไรโจทก์ร่วมไม่ทราบและไม่ทราบว่าโจทก์ชำระเงินให้ธนาคารเพื่อการไถ่ถอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์ร่วมจดทะเบียนจำนองไว้เป็นเงินเท่าใด นางสาวสุนิดา บุตรของโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เป็นใบเสร็จรับเงินไม่ใช่ตัวแคชเชียร์เช็ค ส่วนแคชเชียร์เช็คได้จ่ายให้แก่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ไปแล้ว พยานเป็นผู้ไปเบิกเงินสดมา 300,000 บาท แต่ซื้อแคชเชียร์เช็คเพียง 200,000 บาท ส่วนอีก 100,000 บาท มอบให้โจทก์ซึ่งจากทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมดังกล่าวมาเห็นได้ว่า โจทก์ร่วมนำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทไปจดทะเบียนจำนองแก่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เพียงครั้งเดียวในวันที่ 30 มีนาคม 2519 โดยทำสัญญากู้เงินจากธนาคารหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นเงิน 222,800 บาท กำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13 ต่อปี นับแต่วันทำสัญญากู้และจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทโจทก์ร่วมไม่เคยชำระหนี้เงินกู้ให้ธนาคารผู้ให้กู้เลย ซึ่งหากมีการคิดคำนวณดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวนับจากวันทำสัญญากู้เงินและจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันถึงวันที่โจทก์ไปไถ่ถอนซึ่งเป็นระยะเวลาถึง 25 ปี จำนวนเงินต้นและดอกเบี้ยน่าจะมีจำนวนมากกว่าจำนวนเงินที่โจทก์อ้างว่าชำระหนี้เพื่อการไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทเป็นจำนวนเงิน 300,000 บาท ประกอบกับแคชเชียร์เช็คที่โจทก์อ้างว่านำไปชำระหนี้จำนองตามใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียมการออกแคชเชียร์เช็คของธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) นั้น ก็ไม่ปรากฏพยานหลักฐานจากทางนำสืบของโจทก์ว่า ธนาคารนครหลวงไทยจำกัด (มหาชน) ได้รับแคชเชียร์เช็คฉบับดังกล่าวเพื่อการชำระหนี้ค่าไถ่ถอนจำนองหรือไม่อย่างไร และโจทก์ก็ไม่มีหลักฐานการรับเงินของธนาคารมาแสดงแต่อย่างใด ซึ่งหากมีการชำระเงินค่าที่ดินให้โจทก์ร่วมด้วยการชำระหนี้ค่าไถ่ถอนจำนองแทนโจทก์ร่วมกันจริงแล้ว นอกจากโจทก์ควรจะได้รับหลักฐานการชำระหนี้จากธนาคารมาแสดงแล้ว ยังกลับปรากฏว่าโจทก์ร่วมตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่าไม่ทราบว่าในการไถ่ถอนจำนองนั้นมีการชำระเงินกันเป็นจำนวนเท่าใด กรณีดังกล่าวมาจึงเชื่อว่านิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างโจทก์กับโจทก์ร่วมเป็นการโอนโดยไม่มีค่าตอบแทนกันจริงโจทก์และโจทก์ร่วมคบคิดกันฉ้อฉลเพื่อไม่ให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นของจำเลยตามสัญญาซื้อขาย กรณีการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์กับโจทก์ร่วมทำให้จำเลยซึ่งอยู่ในฐานะอันจะได้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนเสียเปรียบ จำเลยชอบที่จะฟ้องบังคับให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทระหว่างโจทก์กับโจทก์ร่วมได้ ส่วนฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมในเรื่องความเห็นผู้เชี่ยวชาญในการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของโจทก์ร่วมว่าเป็นเพียงดุลพินิจของผู้เชี่ยวชาญก็ดี หรือการที่จำเลยอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทหลังจากมีการทำสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยกับโจทก์ร่วมตลอดระยะเวลาประมาณ 20 ปี เป็นการส่งมอบการครอบครองหรือไม่ แม้จะวินิจฉัยฎีกาดังกล่าวก็ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้โจทก์และโจทก์ร่วมใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 20,000 บาท แทนจำเลย