คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1239/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทายาทที่จะถูกกำจัดมิให้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 ต้องเป็นผู้ปิดบังหรือยักย้ายทรัพย์มรดกแต่การที่ทายาทคนหนึ่งไปขอประกาศรับมรดกโดยไม่ระบุลงไปในบัญชีเครือญาติว่ายังมีบุคคลอื่นเป็นทายาทอีกด้วยนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก
เมื่อเจ้าพนักงานโอนโฉนดให้แก่ทายาทผู้ขอรับมรดกดังกล่าวแล้ว ภายหลังทายาทนั้นขอแบ่งที่ดินมรดกเพื่อจะขายและเอาเรือนที่ปลูกอยู่ในที่ดินนั้นไปประกันเงินกู้ ดังนี้ ไม่ใช่กรณียักย้ายหรือปิดบังมรดก
โจทก์และจำเลยต่างก็เป็นบุตรของผู้ตาย ผู้ตายทำพินัยกรรมยกที่ดินกับเรือนให้จำเลยและยกโคกระบือให้โจทก์ ดังนี้ จะนำเรื่องจำกัดมิให้รับมรดกตามมาตรา 1605 วรรคแรกมาใช้บังคับแก่การกระทำของจำเลยเกี่ยวกับที่ดินและเรือนมรดก หาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมนายเหล็งมีภรรยาชื่อนางสายซึ่งตายไปแล้วต่อมานายเหล็งได้นางทองดีเป็นภรรยาแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสเกิดบุตรที่ยังคงมีชีวิตอยู่คนหนึ่ง คือ โจทก์ซึ่งนายเหล็งได้รับรองว่าเป็นบุตร นายเหล็งตายเมื่อ พ.ศ. 2498 มีทรัพย์มรดกคือ ที่ดินโฉนดที่ 1457 กึ่งหนึ่ง กับเรือนซึ่งปลูกอยู่ในที่แปลงนั้น 1 หลังตกได้แก่โจทก์ ๆ ครอบครองตลอดมา จำเลยไม่ได้เป็นบุตรของนายเหล็ง เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2501 จำเลยปิดบังโจทก์โดยร้องเท็จหลอกลวงเจ้าพนักงานที่ดินว่าจำเลยเป็นบุตรของนายเหล็ง นางสาย เป็นทายาทคนเดียว ขอรับมรดกที่ดินของนายเหล็งดังกล่าว จนเจ้าพนักงานลงชื่อจำเลยในฐานะเป็นผู้รับมรดกที่ดินส่วนของนายเหล็งต่อมาจำเลยขอแบ่งแยกโฉนดส่วนที่จำเลยรับมรดกนั้นเพื่อโอนขายแก่ผู้อื่น โจทก์ได้ขออายัดไว้ ส่วนเรือนมรดกจำเลยก็เอาประกันหนี้ไว้ การกระทำของจำเลยไม่สุจริตเพราะรู้อยู่แล้วว่าเป็นการเสื่อมประโยชน์ของโจทก์ซึ่งเป็นทายาท หากจำเลยจะเป็นทายาทด้วยก็ย่อมถูกจำกัดไม่ให้ได้รับมรดก ขอให้พิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้รับมรดกตามฟ้อง เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนรับมรดกของจำเลยและถอนชื่อจำเลยในโฉนดเสียใส่ชื่อโจทก์แทน ฯลฯ

จำเลยให้การต่อสู้ว่านายเหล็งได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกตามฟ้องให้แก่จำเลยแต่ผู้เดียว จำเลยครอบครองทรัพย์มาฝ่ายเดียวการขอรับโอนมรดกนั้นกระทำไปโดยสุจริต ไม่ได้ปิดบังความจริงหากโจทก์จะมีอำนาจฟ้องก็ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นฟังว่า นายเหล็งได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ตามฟ้องให้แก่จำเลยการที่จำเลยแจ้งว่าเป็นทายาทของนายเหล็งแต่ผู้เดียวก็ไม่ถูกกำจัดสิทธิรับมรดก พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยเป็นบุตรนายเหล็ง แต่ไม่เชื่อว่านายเหล็งทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้แก่จำเลย โจทก์และมารดาครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา ส่วนเรือนพิพาทนั้นจำเลยครอบครองคนเดียวแต่ที่ดินนั้นจำเลยได้ไปแจ้งเท็จว่าจำเลยเป็นทายาทคนเดียวจนเจ้าพนักงานหลงเชื่อโอนใส่ชื่อจำเลยในโฉนด ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทเสื่อมเสียประโยชน์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 จำเลยจึงถูกตัดไม่ให้ได้รับมรดกที่ดิน ที่ดินนั้นตกได้แก่โจทก์ทั้งหมด พิพากษาแก้ว่าที่ดินโฉนดที่ 1457 เฉพาะส่วนของผู้ตายเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ให้เพิกถอนนิติกรรมจดทะเบียนรับมรดกของจำเลย และถอนชื่อจำเลยออกจากโฉนดใส่ชื่อโจทก์แทน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาฟังว่า จำเลยก็เป็นบุตรของนายเหล็ง นายเหล็งทำพินัยกรรมยกที่ดินกับเรือนที่พิพาทให้แก่จำเลย กับยกโคกระบือให้โจทก์และเมื่อพิจารณาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 แล้วเห็นว่า ตามมาตรานี้ ทายาทที่จะถูกกำจัดมิให้รับมรดกนั้นต้องเป็นผู้ที่ปิดบังหรือยักย้ายทรัพย์มรดกเรื่องที่ดินมรดกนี้จำเลยไม่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้แต่ยังได้ไปขอประกาศรับมรดกอย่างเปิดเผย การที่จำเลยไม่ระบุลงไปในเครือญาติว่าโจทก์เป็นบุตรนายเหล็งเป็นเรื่องไม่ใส่ชื่อบุคคลในบัญชีเครือญาติเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก ส่วนที่จำเลยขอแบ่งที่ดินมรดกเพื่อจะขาย และเอาเรือนไปประกันเงินกู้ก็เป็นการกระทำภายหลังที่เจ้าพนักงานโอนโฉนดให้แก่จำเลยผู้รับมรดกแล้ว จำเลยจึงถือว่าเป็นทรัพย์ของตนอันมีสิทธิจะจัดการอย่างไรก็ได้ จึงไม่ใช่กรณียักย้ายหรือปิดบังมรดกอันจะพึงถูกกำจัดฯ

ทั้งมาตรา 1605 วรรคท้ายก็ห้ามไม่ให้นำเรื่องกำจัดมิให้รับมรดกมาใช้บังคับแก่ผู้รับพินัยกรรม ซึ่งผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้เฉพาะสิ่งเฉพาะอย่างในอันที่จะได้รับทรัพย์สินนั้น จำเลยจึงไม่ควรถูกกำจัดฯ

ในที่สุดพิพากษาแก้ เป็นให้ยกฟ้องโจทก์เสียทั้งหมด

Share