คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 416/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บรรยายฟ้องว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ไปซื้อสวน จำเลยที่ 1ทำสัญญากู้ไว้กับโจทก์โดยลงไว้ในสัญญาว่าเอาที่สวนนั้นเป็นประกันจำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินกู้โจทก์ทวงให้ชำระหรือมิฉะนั้นก็ให้โอนที่สวนให้โจทก์จำเลยบิดพลิ้วแล้วโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมยกที่สวนนั้นให้จำเลยที่ 2 โจทก์จึงรู้สึกว่าจำเลยทั้งสองทำการสมยอมกันฉ้อโกงโจทก์ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนนิติกรรมนั้นเป็นการตั้งประเด็นขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ไว้แล้ว (จำเลยอ้างว่ามิได้บรรยายให้แจ้งชัดว่าการโอนระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 เป็นการฉ้อฉล ทำให้โจทก์เสียเปรียบ)
คำขอท้ายฟ้องว่า ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันใช้เงินต้นและดอกเบี้ยถ้าไม่สามารถชำระเงินก็ให้จำเลยโอนที่สวนที่เอาเป็นประกันให้โจทก์ตามสัญญาโดยขอให้ศาลสั่งเพิกถอนหรือทำลายนิติกรรมยกให้ระหว่างจำเลยทั้งสองเสียศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงิน กับให้เพิกถอนนิติกรรมยกที่สวนให้ระหว่างจำเลยทั้งสอง นั้นไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ เพราะคำขอท้ายฟ้องนั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องบังคับคดีให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินก่อนเมื่อไม่สามารถชำระเงินแล้วจึงจะเพิกถอนนิติกรรมได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ไปซื้อสวน ต่อมาจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 1 ได้กู้เงินโจทก์ไปอีกเพื่อใช้รักษาตัวจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้ไว้กับโจทก์เอาเงิน 2 รายนั้นลงเป็นเงินกู้ และเอาที่สวนลงไว้เป็นประกัน จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ โจทก์ทวงให้ชำระหรือไม่ก็ให้โอนที่สวนให้โจทก์ จำเลยก็บิดพลิ้ว โจทก์เพิ่งทราบในภายหลังว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำนิติกรรมยกที่สวนนั้นให้จำเลยที่ 2 โจทก์จึงรู้สึกว่าจำเลยทำการสมยอมกันฉ้อโกงโจทก์ ขอให้บังคับให้จำเลยร่วมกันใช้เงินต้นและดอกเบี้ยถ้าจำเลยไม่สามารถชำระเงิน ก็ให้จำเลยจัดการโอนสวนให้โจทก์โดยขอให้ศาลสั่งเพิกถอนหรือทำลายนิติกรรมยกให้ระหว่างจำเลยนั้นเสีย

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินต้นและดอกเบี้ย กับให้เพิกถอนนิติกรรมยกที่ให้ระหว่างจำเลย

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า 1. ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวใช้เงินให้โจทก์ พิพากษาแล้วยังไม่มีคำบังคับให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตาม ยังรู้ไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 จะสามารถปฏิบัติตามหรือไม่ สิทธิที่จะขอให้บังคับให้เพิกถอนนิติกรรมจึงยังไม่เกิดขึ้น และคำขอในข้อนี้โจทก์ต้องการให้บังคับจำเลยให้โอนที่ดินให้โจทก์ ไม่ใช่ประสงค์ให้เพิกถอนนิติกรรมอย่างเดียว ที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมนั้นเรียกได้ว่าเกินคำขอ 2. โจทก์ไม่บรรยายฟ้องให้แจ้งชัดว่า การโอนระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 นั้นเป็นการฉ้อฉลทำให้โจทก์เสียเปรียบ แม้จะมีคำขอให้เพิกถอนนิติกรรมศาลก็บังคับให้ไม่ได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อ 1 ว่า โจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้และร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินให้จำเลยที่ 2 โดยสมยอมกันฉ้อโกงโจทก์ มาพร้อมกัน โดยอาศัยสิทธิของโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 คำขอท้ายฟ้องจึงมีหลายข้อเรียงลำดับกันไป ย่อมแปลได้ว่าโจทก์ขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดพิพากษาคดีให้เสร็จไปในคราวเดียวกัน คำขอของโจทก์ไม่หมายความว่าจะต้องบังคับคดีให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินก่อน ไม่สามารถชำระแล้วจึงจะเพิกถอนนิติกรรมได้ เพราะโจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนอยู่พร้อมแล้ว

วินิจฉัยปัญหาข้อ 2 ว่า ฟ้องได้บรรยายเหตุที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาขอให้เพิกถอนนิติกรรมไว้ว่า โจทก์ทวงเตือนจำเลยให้ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยหรือจัดการโอนที่สวนที่เป็นประกันให้ จำเลยบิดพลิ้วโจทก์เพิ่งทราบว่าจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมยกที่สวนดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 โจทก์จึงรู้สึกว่าจำเลยทำการสมยอมกันฉ้อโกงโจทก์แล้วมีคำขอให้เพิกถอนนิติกรรมฉบับนี้ เป็นการตั้งประเด็นขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 แล้ว

พิพากษายืน

Share