คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3049/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ยื่นคำฟ้องอุทธรณ์และคำร้องขอดำเนินคดีในชั้นอุทธรณ์อย่างคนอนาถาพร้อมกับคำร้องขอเลื่อนการสาบานตัวออกไป 7 วัน อ้างว่าไม่สามารถมาศาลเพื่อสาบานตัวได้ โดยมิได้กล่าวอ้างเหตุที่มาศาลไม่ได้เพราะเหตุใดเป็นการกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอย แสดงว่ามิได้มีพฤติการณ์พิเศษตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ที่ศาลจะสั่งขยายระยะเวลาสาบานตัวที่จำเลยที่ 1 ต้องสาบานตัวพร้อมการยื่นคำฟ้องอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 ให้ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้เงินกู้ที่นาวาเอกพจน์ ปัจฉิมอนันต์ ผู้ตายได้กู้ยืมไปจากโจทก์ ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสามนำสืบก่อน แต่จำเลยที่ ๑และที่ ๒ ขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตและถือว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่มีพยานนำสืบแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวโดยจำเลยที่ ๑ ได้ยื่นคำร้องขอดำเนินคดีในชั้นอุทธรณ์อย่างคนอนาถาด้วยพร้อมคำร้องขอเลื่อนการสาบานตัวออกไป ๗ วัน
ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องขอเลื่อนการสาบานตัวของจำเลยที่ ๑ ว่าคำร้องไม่ปรากฏพฤติการณ์พิเศษที่จะขอขยายระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓ ยกคำร้อง
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์สั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา๑๕๖ วรรคแรก บัญญัติว่า “ผู้ใดมีความจำนงจะฟ้องหรือต่อสู้คดีอย่างคนอนาถาให้ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้นที่จะฟ้องหรือได้ฟ้องคดีไว้นั้นพร้อมคำสั่งคำฟ้องอุทธรณ์… และสาบานตัวให้คำชี้แจงว่าตนไม่มีทรัพย์สินพอจะเสียค่าธรรมเนียมศาล…”วรรคสองว่า “เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้จดถ้อยคำสาบานของผู้—ขอฟ้องหรือต่อสู้คดีอย่างคนอนาถาแล้ว ให้ศาลจัดส่งสำเนาถ้อยคำเช่นนี้ไปให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งพร้อมด้วยสำเนาคำขอฟ้องหรือต่อสู้คดีอย่างคนอนาถา…” ศาลฎีกาเห็นว่าจากบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว กฎหมายบังคับว่าคู่ความที่ยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาจะต้องสาบานตัวพร้อมกับการยื่นคำฟ้องหรือคำฟ้องอุทธรณ์จึงเป็นการที่กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้กำหนดระยะเวลาเอาไว้ซึ่งกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ศาลมีอำนาจที่จะออกคำสั่งขยายหรือย่นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓ แต่การที่ศาลจะมีคำสั่งขยายระยะเวลาได้นั้น บทบัญญัติมาตรา ๒๓ บัญญัติว่า ให้พึงทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ เมื่อตามคำร้องขอเลื่อนการสาบานตัวอันเป็นการขอขยายระยะเวลาของจำเลยที่ ๑ กล่าวแต่เพียงว่าจำเลยที่ ๑ไม่สามารถมาศาลเพื่อสาบานตัวได้ โดยมิได้กล่าวอ้างเหตุที่มาศาลไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ ๑ เองย่อมจะทราบดีว่าตนมาศาลไม่ได้เพราะเหตุใด เป็นการกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอย แสดงว่ามิได้มีพฤติการณ์พิเศษอย่างใด ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องขอเลื่อนการสาบานตัวของจำเลยที่ ๑ ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share