คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 482/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยเคยพิพาทกันมาก่อนเกี่ยวกับที่ดินพิพาท และคดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นของบิดามารดาของโจทก์จำเลย เมื่อบิดาถึงแก่กรรมโจทก์และจำเลยได้รับโอนมรดกเป็นเจ้าของร่วมกัน คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวจึงผูกพันโจทก์จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145ฉะนั้น เมื่อข้อเท็จจริงแห่งคดีไม่ปรากฏว่าหลังจากที่ศาลฎีกาพิพากษาคดีนั้นแล้ว จำเลยได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ว่าจำเลยจะยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของแต่ผู้เดียวต่อไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381จำเลยก็จะอ้างระยะเวลาหนึ่งปีมาเป็นข้อตัดสิทธิฟ้องร้องเรียกคืนซึ่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ของโจทก์หาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของรวมที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ทะเบียนเล่มที่ 1 หน้า 19792 ตารางวา กับจำเลย นายสาลี่ สุวรรณศิลป์นายบานเย็น สุวรรณศิลป์ และนางสมนึก สุวรรณศิลป์ รวม 6 คนเมื่อประมาณปลายปี พ.ศ. 2527 โจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีความประสงค์ที่จะแบ่งแยกที่ดินส่วนที่เป็นของโจทก์ออกจากเจ้าของรวม โจทก์ได้บอกกล่าวให้เจ้าของรวมคนอื่น ๆ ไปทำการแบ่งแยกที่ดินให้แก่โจทก์ตามส่วน ปรากฏว่าจำเลยผู้เดียวไม่ยินยอม โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยไปทำการแบ่งแยกที่ดินหลายครั้งจำเลยเพิกเฉย จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยไปทำการแบ่งแยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) ทะเบียนเล่มที่ 1 หน้า 197 แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามส่วนหากจำเลยไม่ไปทำการแบ่งแยกที่ดินแก่โจทก์ก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ถ้าไม่อาจแบ่งแยกได้ก็ขอให้เอาที่ดินแปลงดังกล่าวออกประมูลราคากันในระหว่างเจ้าของรวม หรือขายทอดตลาดแล้วจ่ายเงินที่ขายได้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ตามส่วน จำเลยให้การว่า ที่ดินที่โจทก์ฟ้องเป็นของจำเลยผู้เดียวจำเลยเป็นผู้ซื้อที่ดินแปลงนั้นมาจากนายเจือ ทองคำชู เมื่อปี พ.ศ. 2508 หลังจากนั้นจำเลยก็ได้เข้าครอบครองทำกินตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2520 จำเลยได้ไปตรวจดูทะเบียนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ฉบับพิพาท จึงทราบว่าโจทก์กับพวกได้ลงชื่อในทะเบียนฐานะผู้รับมรดกของนายผาด สุวรรณศิลป์ ซึ่งความจริงแล้วที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียว จำเลยเพียงแต่ใส่ชื่อนายผาด สุวรรณศิลป์ ไว้แทนจำเลยเท่านั้น ดังนั้นเมื่อวันที่ 24พฤษภาคม 2520 จำเลยจึงได้ฟ้องโจทก์ทั้งสองคดีนี้กับพวกให้เพิกถอนชื่อโจทก์กับพวกออกจากทะเบียน น.ส.3 ฉบับดังกล่าว ดังปรากฏตามคดีแพ่ง หมายเลขดำที่ 61/2520 ของศาลจังหวัดสุโขทัย โจทก์กับพวกไม่ได้ฟ้องแย้งให้จำเลยจัดการแบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์กับพวก ซึ่งจากวันดังกล่าวจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีแล้ว จึงขาดอายุความต่อมาเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2525 โจทก์ทั้งสองได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดสุโขทัยเรียกจำเลยและพนักงานที่ดินอำเภอเมืองสุโขทัยมาสอบถามเรื่องจำเลยไม่แบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์ ศาลได้นัดพร้อมในวันที่ 11 มิถุนายน 2525 และศาลได้มีคำสั่งในวันนัดว่าโจทก์กับพวกไม่ได้ที่ดินพิพาทตามคำพิพากษาของศาลในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 61/2520หมายเลขแดงที่ 26/2521 แต่อย่างใด จึงยกคำร้องของโจทก์เสียซึ่งนับจากวันดังกล่าวจนถึงวันฟ้องคดีนี้เป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีแล้วเช่นกัน โจทก์ก็ไม่ได้ฟ้องขอแบ่งที่พิพาทจากจำเลย คดีของโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว ขอให้พิพากษายกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปจัดการแบ่งแยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)ทะเบียนเล่มที่ 1 หน้า 197 เลขที่ 93 หมู่ที่ 3 ตำบลยางซ้ายอำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2ตามส่วน หากจำเลยไม่ไปจัดการแบ่งแยกที่ดินให้ ก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และหากไม่สามารถแบ่งแยกได้ก็ให้เอาที่ดินออกประมูลกันในระหว่างเจ้าของรวมหรือขายทอดตลาดแล้วจ่ายเงินที่ขายให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามส่วนจำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลยและมีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ คดีนี้โจทก์จำเลยเคยพิพาทฟ้องร้องกันมาก่อนและคดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาว่าที่ดินพิพาทนี้เดิมเป็นของนายผาดและนางกุหลาบบิดามารดาของโจทก์จำเลย เมื่อนายผาดถึงแก่กรรมแล้ว โจทก์และจำเลยได้รับโอนมรดกเป็นเจ้าของร่วมกัน จำเลยเป็นผู้มีบ้านอยู่ในที่ดินพิพาท แต่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมก็เข้าเก็บผลไม้และตัดไม้ไผ่อันเป็นการครอบครองร่วมกันตลอดมา คำพิพากษานี้จึงผูกพันโจทก์จำเลยอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 การที่โจทก์ยื่นคำร้องในคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2525 ว่าจำเลยไม่แบ่งแยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ ขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยมาสอบถามวันที่ 11 มิถุนายน 2525 ซึ่งเป็นวันที่ศาลนัดสอบถามนั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้แถลงข้อเท็จจริงต่อศาลแต่ประการใด และข้อเท็จจริงแห่งคดีไม่ปรากฏว่า หลังจากศาลฎีกาพิพากษาคดีแล้ว จำเลยได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ว่าจำเลยจะยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของแต่ผู้เดียวต่อไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 ฉะนั้น จำเลยจะอ้างระยะเวลาหนึ่งปีมาเป็นข้อตัดสิทธิฟ้องร้องเรียกคืนซึ่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ของโจทก์หาได้ไม่และจำเลยจะยกขึ้นโต้เถียงในชั้นนี้อีกว่าความจริงที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียว จำเลยได้ครอบครองเป็นเจ้าของตลอดมาย่อมเป็นการเถียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ผูกพันจำเลยอยู่ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าจำเลยได้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรวมด้วยตลอดมา โจทก์จึงมีสิทธิและอำนาจที่จะฟ้องให้จำเลยแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมเมื่อใดก็ได้”
พิพากษายืน

Share