แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น มี พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2554 มาตรา 11 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 โดยมาตรา 14 วรรคสี่ เดิม ที่บัญญัติว่า “ถ้าผู้กระทำความผิดหรือผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม (1) (2) (3) เป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปีและปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสามแสนบาท” แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้ยกเลิกบทบัญญัติดังกล่าว กฎหมายใหม่จึงเป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายใหม่บังคับแก่จำเลยที่ 1 ส่วนมาตรา 14 (2) (3) วรรคหนึ่ง เดิม และ มาตรา 14 (3) (4) วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่มีองค์ประกอบความผิดและอัตราโทษเหมือนกัน กฎหมายใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยที่ 1 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องรวมทั้งกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบทกฎหมายดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 4, 11, 12, 18, 58, 62, 81 พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 4, 50 พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 4, 14 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 137, 264, 265, 267, 268 ริบบัตรประจำตัวประชาชนปลอมของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพข้อหาเข้ามาในราชอาณาจักรและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11, (ที่ถูก มาตรา 11, 12 (1), 18 วรรคสอง, 62 วรรคหนึ่ง, 81 ฐานเป็นคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง และฐานเป็นคนต่างด้าวพักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ลงโทษจำคุกกระทงละ 2 เดือน รวมจำคุก 4 เดือน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน กับจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 (ที่ถูกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265) พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (3), วรรคสี่ และจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท จำเลยที่ 1 ลงโทษฐานเป็นบุคคลต่างด้าวใช้แสดงบัตรประจำตัวประชาชนปลอม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี จำเลยที่ 2 ลงโทษฐานกระทำเพื่อให้ผู้อื่นมีชื่อหรือรายการทะเบียนบ้านหรือเอกสารทะเบียนราษฎรอื่นโดยมิชอบ (ที่ถูก ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี คำให้การในชั้นจับกุม ชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี รวมจำคุก 2 ปี 2 เดือน ยกฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาปลอมบัตรประจำตัวประชาชน (ที่ถูกข้อหาอื่นให้ยก)
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น มีพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2554 มาตรา 11 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 โดยมาตรา 14 วรรคสี่เดิม ที่บัญญัติว่า “ถ้าผู้กระทำความผิดหรือผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม (1) (2) (3) เป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปีและปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสามแสนบาท” แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้ยกเลิกบทบัญญัติดังกล่าว กฎหมายใหม่จึงเป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายใหม่บังคับแก่จำเลยที่ 1 ส่วนมาตรา 14 (2) (3) วรรคหนึ่ง เดิม และมาตรา 14 (3) (4) วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่มีองค์ประกอบความผิดและอัตราโทษเหมือนกัน กฎหมายใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยที่ 1 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องรวมทั้งกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบทกฎหมายดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 (2) (3) วรรคหนึ่ง (เดิม) ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน รวมกับโทษในความผิดฐานอื่นแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3