แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยทั้งห้าได้สิทธิการเช่าในอาคารพิพาทต่อจากบิดามารดาซึ่งได้เช่าอาคารพิพาททั้งหลังจากโจทก์ มิได้แบ่งแยกว่าจำเลยคนใดเช่าส่วนใดของอาคารพิพาทนั้นและจำเลยทั้งห้ามิได้ให้การปฏิเสธว่ามิได้ร่วมกันเช่าอาคารพิพาท จำเลยทั้งห้าจึงต้องมีหน้าที่และความรับผิดตามสัญญาเช่านั้นร่วมกันต่อโจทก์ จำเลยที่ 5 นำอาคารพิพาทบางส่วนไปให้เช่าช่วงโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ถือว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4เป็นผู้ผิดสัญญาเช่าด้วย โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1ถึงที่ 4 ได้ ส่วนการกระทำของจำเลยที่ 5 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 อย่างไรก็ต้องไปว่ากล่าวกันต่างหากเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าทำสัญญาเช่าอาคารของโจทก์ 3 คูหาเลขที่ 928-930-932 มีกำหนดเวลา 7 ปี ต่อมาจำเลยทั้งห้านำอาคารไปให้ผู้อื่นเช่าช่วงโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์อันเป็นการผิดเงื่อนไขแห่งสัญญาเช่า โจทก์มีหนังสือบอกเลิกการเช่าขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากอาคารที่เช่าและส่งมอบอาคารคืนให้โจทก์ ให้จำเลยทั้งห้าใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 30,000 บาท ต่อคูหา
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4มิได้กระทำผิดเงื่อนไขแห่งสัญญาเช่า คือมิได้รู้เห็นยินยอมหรือนำอาคารที่เช่าไปให้ผู้อื่นเช่าช่วง จำเลยที่ 5 แต่ผู้เดียวนำอาคารที่เช่าไปให้ผู้อื่นเช่าช่วง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่ต้องรับผิดในการกระทำของจำเลยที่ 5 โจทก์ควรบอกเลิกสัญญาเช่าเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 5 โจทก์จะบอกเลิกสัญญาเช่าแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 5ทำสัญญาเช่าอาคารของโจทก์จริงแต่จำเลยที่ 5 มิได้ผิดสัญญาเช่าจำเลยที่ 5 ให้เช่าช่วงโดยได้รับอนุญาตจากโจทก์ และทุกครั้งที่มีการต่อสัญญาเช่าโจทก์ก็รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 5 ให้ผู้อื่นเช่าช่วง แต่โจทก์ก็ต่อสัญญาเช่าให้ทุกครั้ง จึงเป็นการอนุญาตให้เช่าช่วงได้โดยปริยาย โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกการเช่าขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากอาคารพิพาทเลขที่ 928, 930 และ 932 ถนนพญาไทแขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร รวม 3 คูหา และส่งมอบอาคารพิพาทคืนโจทก์ ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ 10,000 บาท ต่อหนึ่งคูหา รวมเป็นเงินเดือนละ 30,000 บาท
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าที่โจทก์ได้ให้จำเลยทั้งห้าเช่าอาคารพิพาทเป็นการเช่าร่วมกันทั้งอาคาร มิได้แบ่งแยกว่าจำเลยคนใดเช่าส่วนไหนสิทธิการเช่าของจำเลยทั้งห้าจึงเป็นสิทธิร่วมกัน ซึ่งหากผู้เช่าคนใดกระทำผิดสัญญาเช่าก็ต้องถือว่าผู้เช่าร่วมคนอื่น ๆ ผิดสัญญาเช่าด้วยดังนั้นแม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จะไม่ทราบเรื่องที่จำเลยที่ 5นำอาคารพิพาทไปให้เช่าช่วงก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4ได้กระทำผิดสัญญาเช่าดังกล่าวด้วยนั้น ข้อเท็จจริงได้ความเป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาว่า จำเลยทั้งห้าเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน เมื่อปี 2508 บิดามารดาของจำเลยทั้งห้าได้ปลูกสร้างอาคารพิพาทในที่ดินของโจทก์แล้วยกให้แก่โจทก์โดยมีสิทธิเช่าอยู่ได้นาน 15 ปี เมื่อครบกำหนดแล้วบิดามารดาของจำเลยทั้งห้าก็ยังคงเช่าอยู่ต่อมาจนกระทั่งบิดาถึงแก่กรรมจำเลยทั้งห้าเป็นผู้เช่าต่อโดยเป็นผู้ทำสัญญาเช่าโดยตรงกับโจทก์เช่นนี้เห็นได้ว่าจำเลยทั้งห้าได้สิทธิการเช่าในอาคารพิพาทต่อจากบิดามารดาซึ่งได้เช่าอาคารพิพาททั้งหลังจากโจทก์มิได้แบ่งแยกว่าจำเลยคนใดเช่าส่วนใดของอาคารพิพาทนั้นประกอบกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การรับว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4ได้ร่วมกับจำเลยที่ 5 เช่าอาคารพิพาทรวม 3 คูหาจากโจทก์จริงส่วนจำเลยที่ห้าก็มิได้ให้การปฏิเสธว่ามิได้ร่วมกันเช่าอาคารพิพาทจากโจทก์แต่อย่างใด คดีจึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันเช่าอาคารพิพาทจากโจทก์ตามฟ้อง จำเลยทั้งห้าจึงต้องมีหน้าที่และความรับผิดตามสัญญาเช่านั้นร่วมกันต่อโจทก์ การที่จำเลยที่ 5นำอาคารพิพาทบางส่วนไปให้เช่าช่วงโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นการผิดสัญญาเช่นนั้น ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1ถึงที่ 4 เป็นผู้ผิดสัญญาเช่าด้วยโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นคดีนี้ได้ ส่วนการกระทำของจำเลยที่ 5ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 อย่างไรก็ต้องไปว่ากล่าวกันต่างหากเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น