คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 406/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแต่ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้ว และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีผลตามกฎหมายว่าประชาชนได้ทราบพระราชกฤษฎีกา และกรมป่าไม้ได้ส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้ว ถือได้ว่าเป็นการเพิกถอนสภาพป่าสงวนแห่งชาติในบริเวณพื้นที่พิพาทตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 26 (4) ที่ดินพิพาทจึงไม่มีสภาพเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อจำเลยโต้แย้งสิทธิครอบครองของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามใบภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. 5) เลขสำรวจที่ 229/37-40 หมู่ที่ 6 ตำบลท่าช้างคล้อง อำเภอผาขาว จังหวัดเลย เนื้อที่ประมาณ 39 ไร่ โดยซื้อมาจากนายบัวไหล พลหล้า และนายสุจิตร์ ระวาดชัย โจทก์ให้จำเลยทั้งสองดูแลรักษาที่ดินดังกล่าวแทนและอนุญาตให้ปลูกพืชในที่ดินบางส่วน ต่อมาวันที่ 25 ธันวาคม 2537 จำเลยทั้งสองทำบันทึกการตกลงไว้กับโจทก์ว่าจะตัดต้นยูคาลิปตัสที่จำเลยทั้งสองปลูกไว้ในที่ดินของโจทก์เนื้อที่ประมาณ 9 ไร่ ออกจากที่ดินให้หมดภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2540 ครั้นเมื่อถึงกำหนดจำเลยทั้งสองไม่ยอมปฏิบัติตามบันทึกการตกลงดังกล่าว โจทก์บอกกล่าวแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองตัดต้นยูคาลิปตัสพร้อมทั้งขุดรากแล้วนำออกไปจากที่ดินของโจทก์ และปรับที่ดินให้อยู่ในสภาพพร้อมเพาะปลูกพืชได้ตามปกติ ให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปและห้ามเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ตามฟ้อง ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์สามารถดำเนินการดังกล่าวได้โดยให้จำเลยทั้งสองเสียค่าใช้จ่าย
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินตามฟ้องอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าภูผาแดง ห้วยส้ม การที่โจทก์ซื้อที่ดินดังกล่าวมาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.ล.1 เฉพาะส่วนเส้นสีเขียว เนื้อที่ 8 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา ให้จำเลยทั้งสองตัดต้นยูคาลิปตัสออกไปจากที่ดินพิพาทดังกล่าว และปรับที่ดินพิพาทดังกล่าวให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาทดังกล่าวอีกต่อไป ส่วนที่โจทก์มีคำขอว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมตัดต้นยูคาลิปตัสและปรับที่ดินพิพาทดังกล่าวให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย โจทก์สามารถดำเนินการเองได้ โดยให้จำเลยทั้งสองเสียค่าใช้จ่ายเองนั้น เห็นว่า เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 ทวิ ได้อยู่แล้ว จึงให้ยกคำขอในส่วนนี้ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 3,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2534 โจทก์ซื้อที่ดินจากนายสุจิตร์ ระวาดชัย กับนายบัวไหล พลหล้า เนื้อที่ 30 ไร่เศษ โดยมีจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นมารดานางจุ๋ม จิราพงษ์ ซึ่งอ้างว่าเคยอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ขณะที่นางจุ๋มทำงานเป็นพนักงานที่ร้านอาหารของโจทก์เป็นนายหน้า เมื่อปี 2535 จำเลยทั้งสองเข้าทำนาในที่ดินดังกล่าว และปี 2536 จำเลยทั้งสองได้ปลูกต้นยูคาลิปตัสในที่ดินบางส่วนตามเส้นสีเขียวในแผนที่พิพาทหมาย จ.ล.1 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2537 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ที่ดินที่โจทก์ซื้อมาดังกล่าว รวมทั้งที่ดินภายในเส้นสีเขียวซึ่งเป็นที่ดินพิพาทที่อยู่ในเขตป่าภูผาแดง-ห้วยส้ม โซนอี ซึ่งเดิมเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ เป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 9 พฤศจิกายน 2537 และกรมป่าไม้ได้ส่งมอบที่ดินดังกล่าวให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้ว เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2537 โจทก์และจำเลยทั้งสองทำบันทึกการตกลงกรณีการปลูกพืชในที่ดิน (พิพาท) เอกสารหมาย จ.7 และเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2542 ได้ทำบันทึกเกี่ยวกับที่ดินพิพาทไว้ตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานเอกสารหมาย จ.8 โจทก์ได้ให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองตัดต้นยูคาลิปตัสที่จำเลยทั้งสองปลูกในที่ดินพิพาทและออกไปจากที่ดินดังกล่าว จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือบอกกล่าวของโจทก์แล้วไม่ยอมทำตาม…
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาตามฎีกาจำเลยทั้งสองข้อแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 26 (4) บัญญัติว่า “ถ้าเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติส่วนใดแล้ว เมื่อสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะนำที่ดินแปลงใดในส่วนนั้นไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินแปลงนั้น และให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนำที่ดินนั้นมาใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้โดยไม่ต้องดำเนินการเพิกถอนตามกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ” เมื่อบริเวณที่ดินพิพาทซึ่งเดิมอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้วเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2537 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีผลตามกฎหมายว่าประชาชนได้ทราบพระราชกฤษฎีกานี้แล้วเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2537 และกรมป่าไม้ได้ส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้ว ถือได้ว่าเป็นการเพิกถอนสภาพป่าสงวนแห่งชาติในบริเวณพื้นที่พิพาท ที่ดินที่พิพาทจึงไม่มีสภาพความเป็นป่าสงวนแห่งชาติตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาแล้ว เมื่อจำเลยทั้งสองโต้แย้งสิทธิครอบครองของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share