แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า ที่ดินภายในกรอบเส้นสีเขียวตามรูปจำลองแผนที่ท้ายคำฟ้องเป็นสิทธิครอบครองของโจทก์ จำเลยให้การว่า ที่ดินส่วนที่โจทก์อ้างการครอบครองเป็นของจำเลย ซึ่งซื้อมาจาก ล. จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของสิทธิครอบครองในที่ดิน และเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาท ซึ่งมีราคา 100,000 บาท จึงเป็นคดีที่มีราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในศาลชั้นต้นเป็นเงิน 100,000 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ขอให้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อราคาทรัพย์สินหรือทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์มีจำนวนเท่ากับราคาทรัพย์สินหรือทุนทรัพย์ที่พิพาทในศาลชั้นต้นไม่ได้ลดลง อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นคดีที่มีราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์เกินกว่า 50,000 บาท ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคแรก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณปี 2539 โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 84 หมู่ที่ 6 ตำบลท่าช้าง อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ด้านทิศใต้เนื้อที่ประมาณ 89 ตารางวา วันที่ 14 ตุลาคม 2542 โจทก์แจ้งความประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินที่โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ต่อมาวันที่ 22 สิงหาคม 2544 จำเลยยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินทั้งแปลงดังกล่าวและนำรังวัดรุกล้ำเข้ามาในที่ดินที่โจทก์ครอบครอง โจทก์คัดค้านการรังวัดออกโฉนดที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินทำการสอบสวนเปรียบเทียบแล้วได้มีคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินทั้งแปลงแก่จำเลย การกระทำของจำเลยถือเป็นการรบกวนสิทธิครอบครองที่ดินของโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 84 หมู่ที่ 3 (เดิมหมู่ที่ 6) ตำบลตลาดใหม่ (เดิมตำบลท่าช้าง) อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ด้านทิศใต้เนื้อที่ 89 ตารางวา ตามรูปจำลองแผนที่ในกรอบเส้นสีเขียว เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินแล้วเสร็จ ให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนของโจทก์ให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ไปดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทที่โจทก์อ้างการครอบครองเป็นของจำเลยซึ่งซื้อมาจากนางลุ่ย ทองสุข ในราคา 100,000 บาท นางลุ่ยรับมรดกและครอบครองทำประโยชน์ต่อจากนางงิ้ว แซ่ฉั่ว มารดา มาประมาณ 20 ถึง 30 ปีแล้ว จำเลยครอบครองต่อจากเจ้าของเดิมโดยสงบเปิดเผยและอย่างเป็นเจ้าของ โจทก์ไม่เคยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จำเลยไม่ได้นำรังวัดรุกล้ำที่ดินของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์ คืนค่าขึ้นศาล 1,942.50 บาท และคืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในปัญหาข้อกฎหมายว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ชอบหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นโจทก์และจำเลยแถลงร่วมกันว่าที่ดินพิพาทคดีนี้มีราคา 100,000 บาท ตามที่จำเลยแถลงว่าได้ซื้อที่ดินพิพาทแปลงดังกล่าวมาในราคา 100,000 บาท และโจทก์ได้ชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มเติมจนครบถ้วนแล้ว ราคาที่ดินพิพาทหรือทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท ไม่ใช่มีราคาไร่ละ 100,000 บาท และคิดเป็นจำนวนทุนทรัพย์ 22,250 บาท ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าที่ดินภายในกรอบเส้นสีเขียวตามรูปจำลองแผนที่ท้ายคำฟ้องเป็นสิทธิครอบครองของโจทก์ จำเลยให้การว่า ที่ดินส่วนที่โจทก์อ้างการครอบครองเป็นของจำเลยซึ่งซื้อมาจากนางลุ่ย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของสิทธิครอบครองในที่ดิน และเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาท ในระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นสอบถามคู่ความเกี่ยวกับราคาทรัพย์สินที่พิพาทคือที่ดินพิพาทจำนวนเนื้อที่ 89 ตารางวา โจทก์และจำเลยแถลงรับกันว่าที่ดินพิพาทมีราคา 100,000 บาท จึงเป็นคดีที่มีราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในศาลชั้นต้นเป็นเงิน 100,000 บาท ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่ม ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2546 และวันที่ 29 เมษายน 2546 โจทก์ได้เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มตามจำนวนทุนทรัพย์ 100,000 บาท ครบถ้วนแล้ว ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงว่า โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทด้วยเจตนายึดถือเพื่อตนมาเกินกว่า 1 ปี และนางลุ่ยก็มิได้โต้แย้งคัดค้าน ข้อเท็จจริงไม่อาจจะรับฟังได้ว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามสัญญาซื้อขาย และไม่อาจถือว่าโจทก์ได้สละสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย ขอให้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น เห็นได้ว่าราคาทรัพย์สินหรือทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์มีจำนวนเท่ากับราคาทรัพย์สินหรือทุนทรัพย์ที่พิพาทในศาลชั้นต้นไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด และโจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในทุนทรัพย์ 100,000 บาท เป็นการถูกต้องครบถ้วนแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นคดีที่มีราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์เกินกว่า 50,000 บาท ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคแรก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ชอบ ทั้งเป็นคดีที่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวตามลำดับชั้นศาลเสียก่อน ฎีกาข้ออื่นของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัย”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาพิพากษาใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่.