แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖๐/๒๕๕๕
วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๕
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๓ นายมงคล ศริวัฒน์ ที่ ๑ นางสาวอัมพร ดำรงเชื้อ ที่ ๒โจทก์ ยื่นฟ้อง กรมทางหลวง ที่ ๑ บริษัทศิริผลวัฒนา (๑๙๗๙) จำกัด ที่ ๒ จำเลย เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๐๒/๒๕๕๓ ความว่า เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๒ เวลาประมาณ ๑๗.๐๐ นาฬิกา โจทก์ที่ ๑ ขับรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า คันหมายเลขทะเบียน วว ๔๐๖๔ กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีโจทก์ที่ ๒ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ เมื่อถึงบริเวณที่เกิดเหตุช่วงทางเลี่ยงเมืองเพชรบุรี ส่วนที่ ๑ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างซ่อมแซมถนนตามโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข ๔ สายอำเภอปากท่อ-อำเภอชะอำ ของจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ผู้รับจ้าง ปรากฏว่า พื้นผิวถนนมีระดับสูงต่ำเหลื่อมกันมากจนเป็นพื้นต่างระดับ ผิวหน้าถนนเป็นหินลูกรัง แต่จำเลยทั้งสองไม่จัดให้มีเครื่องหมายหรือสัญญาณเตือนใดๆ ให้ผู้ใช้ถนนทราบว่าทางด้านหน้าชำรุดหรือระดับพื้นถนนไม่เท่ากัน เป็นเหตุให้รถยนต์ที่โจทก์ที่ ๑ ขับมาตกถนนและพลิกคว่ำได้รับความเสียหาย โจทก์ที่ ๑ ได้รับบาดเจ็บ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ ๑ เป็นเงินจำนวน ๒๓,๓๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และโจทก์ที่ ๒ เป็นเงินจำนวน ๓๑๗,๘๘๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง เนื่องจากจำเลยที่ ๑ ได้จัดให้มีป้ายเตือน ป้ายจราจร สัญญาณไฟและไฟฟ้าแสงสว่างตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งได้ตรวจตราและกำกับดูแลให้ป้ายสัญญาณไฟดังกล่าวอยู่ในสภาพดีและใช้การได้ ความเสียหายที่เกิดเป็นผลมาจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ที่ ๑ ฝ่ายเดียว ค่าเสียหายตามฟ้องสูงเกินจริง และสัญญาระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ เป็นสัญญาจ้างทำของตามข้อสัญญากำหนดให้จำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดแต่เพียงฝ่ายเดียวในผลแห่งอุบัติเหตุที่เกิดในพื้นที่และเส้นทางที่ได้รับมอบ ซึ่งจำเลยที่ ๑ ได้เลือกหาผู้รับจ้างที่มีความเชี่ยวชาญและความสามารถในการก่อสร้างถนน โดยใช้ความระมัดระวังในการคัดเลือกและการทำสัญญากับจำเลยที่ ๒ ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบของทางราชการทุกประการแล้ว จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า โจทก์ที่ ๒ เป็นเพียงผู้มีชื่อในรายการจดทะเบียน ไม่ได้เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์ จึงไม่ใช่ผู้เสียหายอันมีสิทธิฟ้องคดีนี้ คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองเคลือบคลุม จำเลยที่ ๒ มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อในการดำเนินงานก่อสร้าง โดยติดตั้งป้ายเตือน ไฟฟ้า แสงสว่างและกรวยยาง รวมถึงติดป้ายแนะนำเป็นระยะตลอดช่องทางที่ดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญาว่าจ้างก่อสร้างอย่างเคร่งครัดและสอดคล้องกับระเบียบและกฎหมายที่กำหนดไว้ทุกประการ นอกจากนี้จำเลยที่ ๑ ยังได้ควบคุมกำกับดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติงานของจำเลยที่ ๒ ให้ปฏิบัติตามมาตรการในการป้องกันและควบคุมอุบัติเหตุในงานก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยตลอดระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง ความเสียหายถ้าหากมีก็เกิดจากความประมาทของโจทก์ที่ ๑ ค่าเสียหายตามฟ้องสูงเกินจริง โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองในฐานะผู้ว่าจ้าง โดยมีจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเอกชนเป็นผู้รับจ้าง เหตุละเมิดตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองมิได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางศาลปกครอง หรือคำสั่งอื่น และไม่ได้เกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทกรม สังกัดกระทรวงคมนาคม จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยข้อ ๑ ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดเหตุพิพาท และข้อ ๒ ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ต่างกำหนดภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง การก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวงให้มีโครงข่ายทางหลวงที่สมบูรณ์ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ และเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทาง โดยมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการดำเนินการเกี่ยวกับทางหลวงหลายประการ ซึ่งการดำเนินภารกิจตามกฎหมายดังกล่าว จำเลยที่ ๑ อาจให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ดำเนินการเองหรืออาจมอบหมายหรือว่าจ้างให้บุคคลอื่นดำเนินการแทนก็ได้ และในกรณีที่จำเลยที่ ๑ มอบหมายหรือว่าจ้างให้บุคคลอื่นดำเนินการแทนก็หาเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ หลุดพ้นจากภาระหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ จำเลยที่ ๑ จึงมีหน้าที่ต้องควบคุมกำกับดูแลการดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทางตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นภาระหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ทั้งนี้ จำเลยที่ ๑ ย่อมมีหน้าที่ดูแลรักษาทางหลวงให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทาง ไม่ว่าทางหลวงดังกล่าวจะอยู่ระหว่างการซ่อมแซมหรือไม่ก็ตาม โดยจำเลยที่ ๒ ไม่ได้มีหน้าที่ดังกล่าวและไม่อาจเข้ากระทำการดังกล่าวด้วยตนเอง เพียงแต่ได้รับมอบหมายตามสัญญาให้ดำเนินการดังกล่าว การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยทั้งสองไม่จัดให้มีเครื่องหมายสัญญาณเตือนว่าทางชำรุดหรือระดับพื้นถนนไม่เท่ากัน จึงเป็นการกล่าวอ้างถึงการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายของจำเลยที่ ๑ เนื่องจากโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้ได้รับความเสียหายไม่มีหน้าที่ต้องตรวจสอบว่าจำเลยที่ ๑ ได้ดำเนินการจัดให้มีเครื่องหมายหรือสัญญาณเตือนโดยเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ เอง หรือมอบหมายหน้าที่ดังกล่าวให้ผู้อื่นดำเนินการแทน อันเป็นเรื่องภายในของจำเลยที่ ๑ นอกจากนี้ หากคดีนี้โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ แต่เพียงผู้เดียว ก็จะเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการละเลยต่อหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ โดยตรง และหากจะถือว่าเมื่อจำเลยที่ ๑ มอบหมายหรือว่าจ้างให้บุคคลภายนอกดำเนินกิจการใดแทนแล้ว จำเลยที่ ๑ ย่อมไม่ต้องรับผิดชอบในกิจการนั้น ย่อมเป็นการเปิดช่องให้หน่วยงานทางปกครองปฏิเสธหน้าที่ตามกฎหมายของตนเองได้ ดังนั้นไม่ว่าจำเลยที่ ๑ จะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของตนดำเนินการตามหน้าที่หรือมอบหมายให้บุคคลภายนอกดำเนินการแทน จำเลยที่ ๑ ก็หาอาจยกขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธหน้าที่ของตนได้ไม่ เพียงแต่การมอบหมายดังกล่าวอาจทำให้ผู้ได้รับความเสียหายมีสิทธิฟ้องบุคคลภายนอกให้รับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ หรือทำให้จำเลยที่ ๑ มีสิทธิของให้ศาลเรียกบุคคลภายนอกเข้าเป็นจำเลยร่วม หรือใช้สิทธิฟ้องไล่เบี้ยเอากับบุคคลดังกล่าวได้ในภายหลังเท่านั้น เมื่อโจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยทั้งสองไม่จัดให้มีเครื่องหมายหรือสัญญาณเตือนใดๆ ในระหว่างที่มีการก่อสร้างซ่อมแซมถนนเพื่อให้ผู้ใช้ถนนทราบว่าทางด้านหน้าชำรุดหรือระดับพื้นถนนไม่เท่ากัน จนเป็นเหตุให้รถยนต์ซึ่งมีโจทก์ที่ ๒ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และโจทก์ที่ ๑ เป็นผู้ขับมาตกถนนและพลิกคว่ำเสียหาย โจทก์ที่ ๑ ได้รับบาดเจ็บ โจทก์ทั้งสองจึงเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองเป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน ข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างตามคำฟ้องสรุปได้ว่า โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสองกรณีจำเลยที่ ๑ เจ้าของโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข ๔ สายอำเภอปากท่อ-อำเภอชะอำ ว่าจ้างให้จำเลยที่ ๒ ก่อสร้างปรับปรุงทางหลวงสายดังกล่าวในช่วงบริเวณที่เกิดเหตุตามฟ้อง แต่ระหว่างดำเนินการจำเลยทั้งสองไม่จัดให้มีเครื่องหมายหรือสัญญาณเตือนใดๆ ให้ผู้ใช้ถนนทราบว่าทางด้านหน้าชำรุดหรือระดับพื้นถนนไม่เท่ากัน เป็นเหตุให้รถยนต์ที่โจทก์ที่ ๑ ขับมาตกถนนและพลิกคว่ำ โจทก์ที่ ๑ ได้รับบาดเจ็บ และรถยนต์คันดังกล่าวซึ่งมีโจทก์ที่ ๒ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ ๑ ให้การสรุปได้ว่า ได้จัดให้มีป้ายเตือน ป้ายจราจร สัญญาณไฟและไฟฟ้าแสงสว่างตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งได้ตรวจตราและกำกับดูแลให้ป้ายสัญญาณไฟดังกล่าวอยู่ในสภาพดีและใช้การได้ ความเสียหายที่เกิดเป็นผลมาจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ที่ ๑ สัญญาระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ เป็นสัญญาจ้างทำของตามข้อสัญญากำหนดให้จำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดแต่เพียงฝ่ายเดียวในผลแห่งอุบัติเหตุที่เกิดในพื้นที่และเส้นทางที่ได้รับมอบ ซึ่งจำเลยที่ ๑ ได้เลือกหาผู้รับจ้างที่มีความเชี่ยวชาญและความสามารถในการก่อสร้างถนน โดยใช้ความระมัดระวังในการคัดเลือกและการทำสัญญากับจำเลยที่ ๒ ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบของทางราชการทุกประการแล้ว จำเลยที่ ๒ ให้การในทำนองเดียวกันว่า ได้ติดตั้งป้ายเตือน ไฟฟ้า แสงสว่างและกรวยยาง รวมถึงติดป้ายแนะนำเป็นระยะตลอดช่องทางที่ดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญาว่าจ้างก่อสร้างอย่างเคร่งครัดและสอดคล้องกับระเบียบและกฎหมายที่กำหนดไว้ทุกประการ นอกจากนี้จำเลยที่ ๑ ยังได้ควบคุมกำกับดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติงานของจำเลยที่ ๒ ให้ปฏิบัติตามมาตรการในการป้องกันและควบคุมอุบัติเหตุในงานก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยตลอดระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง ความเสียหายถ้าหากมีก็เกิดจากความประมาทของโจทก์ที่ ๑ ค่าเสียหายตามฟ้องสูงเกินจริง โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริต เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ สืบเนื่องมาจากการที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเอกชน ผู้รับจ้าง กระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังกระทำการปรับปรุงถนนทางหลวง โดยไม่จัดให้มีเครื่องหมายหรือสัญญาณเตือนใดๆ ให้ผู้ใช้ถนนทราบว่าทางด้านหน้าชำรุดหรือระดับพื้นถนนไม่เท่ากัน เป็นเหตุให้รถยนต์ที่โจทก์ที่ ๑ ขับมาตกถนนและพลิกคว่ำ โจทก์ที่ ๑ ได้รับบาดเจ็บ และรถยนต์คันดังกล่าวซึ่งมีโจทก์ที่ ๒ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้รับความเสียหาย ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นกรณีที่เอกชนฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดจากเอกชนด้วยกัน ที่โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง เพียงเพราะในฐานะผู้ว่าจ้างตามสัญญาจ้างเท่านั้น เหตุละเมิดตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองมิได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ ๑ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น และไม่ได้เกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายมงคล ศริวัฒน์ ที่ ๑ นางสาวอัมพร ดำรงเชื้อ ที่ ๒ โจทก์ กรมทางหลวง ที่ ๑ บริษัทศิริผลวัฒนา (๑๙๗๙) จำกัด ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท จิระ โกมุทพงศ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(จิระ โกมุทพงศ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ