คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9237/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองให้การว่าโจทก์มอบเงินให้จำเลยที่1นำไปให้บุคคลภายนอกกู้โดยคิดดอกเบี้ยอัตราระหว่างร้อยละ7ถึง25ต่อเดือนแล้วแบ่งผลประโยชน์กันสัญญากู้เงินตามฟ้องโจทก์นำเงินมาให้จำเลยที่1ปล่อยกู้เพียง375,000บาทแต่โจทก์นำดอกเบี้ยอัตราร้อยละ25ต่อเดือนเป็นเวลา1ปีเป็นเงิน1,125,000บาทมารวมเข้ากับต้นเงินดังกล่าวเป็นเงิน1,500,000บาทแล้วให้จำเลยที่1ทำสัญญากู้เงินโดยมีจำเลยที่2เป็นผู้ค้ำประกันไว้เป็นหลักประกันจำเลยที่1ได้ขายบ้านพร้อมที่ดินของจำเลยที่1ชำระหนี้แทนโจทก์ให้แก่ส.ไปแล้วจำนวน250,000บาทส่วนที่เหลือจำเลยที่1ก็ชำระคืนให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วคำให้การของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจำเลยทั้งสองย่อมนำสืบพยานบุคคลหักล้างได้ว่าสัญญากู้เงินดังกล่าวไม่ถูกต้องสมบูรณ์ทั้งหมดไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา94วรรคท้ายนอกจากนี้การที่ห้ามนำสืบพยานบุคคลเพื่อให้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารอันเป็นการตัดรอนมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวย่อมขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483อันเป็นกฎหมายพิเศษที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งกำหนดให้เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องพิจารณาเอาความจริงให้ได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวจริงหรือไม่จำเลยทั้งสองชอบที่จะนำสืบพยานดังกล่าวได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2527 จำเลยที่ 1 กู้เงินจากโจทก์ 1,500,000 บาท ตกลงคิดดอกเบี้ยตามกฎหมาย และกำหนดชำระคืนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2528 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว เมื่อครบกำหนดเวลาแล้วจำเลยที่ 1ผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย คิดถึงวันฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์รวมเป็นเงิน 1,659,375 บาทโจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยทั้งสองให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่า2 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่จำเลยที่ 1ไม่ชำระหนี้ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่รับหนังสือทวงถามและหลบหนีไปจากเคหสถานที่เคยอยู่ไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด จำเลยทั้งสองไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่พอจะชำระหนี้ได้ ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย
จำเลยทั้งสองให้การว่า สัญญากู้ที่โจทก์นำมาฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ไม่ได้กู้และรับเงินจำนวน 1,500,000 บาทตามฟ้องโจทก์มอบเงินให้จำเลยที่ 1 นำไปให้บุคคลภายนอกกู้ โดยคิดดอกเบี้ยอัตราระหว่างร้อยละ 5 ถึง 25 ต่อเดือน แล้วแบ่งผลประโยชน์กัน สัญญากู้เงินตามฟ้องโจทก์นำเงินมาให้จำเลยที่ 1 ปล่อยกู้เพียง 375,000 บาท แต่โจทก์นำดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 25 ต่อเดือนเป็นเวลา 1 ปี เป็นเงิน 1,125,000 บาท รวมเข้ากับต้นเงินดังกล่าวเป็นเงิน 1,500,000 บาท แล้วให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินไว้เป็นผลประโยชน์ที่จะได้รับ จำเลยที่ 1 ได้ขายบ้านพร้อมที่ดินของจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แทนโจทก์ให้แก่นางสุพัตรา คูณเรืองไปแล้วจำนวน 250,000 บาท ส่วนที่เหลือ 125,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระคืนให้แก่โจทก์หมดสิ้นแล้ว แต่โจทก์ไม่ยอมคืนสัญญากู้ให้ จำเลยที่ 1เป็นข้าราชการครูได้มอบเงินเดือนเดือนละ 11,980 บาท และจำเลยทั้งสองไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว มีความสามารถที่จะชำระหนี้ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2527 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินและจำเลยที่ 2ทำสัญญาค้ำประกันให้แก่โจทก์ไว้ตามหนังสือสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ตามลำดับ ต่อมาโจทก์เห็นว่าครบกำหนดเวลาแล้วจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์จึงมีหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้แล้วรวม 2 ครั้งสำหรับ จำเลยที่ 1และรวม 4 ครั้งสำหรับจำเลยที่ 2 การทวงถามจำเลยแต่ละคนดังกล่าวมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้โจทก์จึงฟ้องคดีนี้
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ จำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัวและสมควรพิพากษาให้ล้มละลายหรือไม่ สำหรับปัญหาว่าจำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์หรือไม่นั้นเห็นว่า พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินกันโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันตามหนังสือสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ที่โจทก์มอบเงินให้จำเลยที่ 1 นำไปให้บุคคลภายนอกกู้แล้วแบ่งผลประโยชน์กันคนละครึ่งที่โจทก์ฎีกาว่าแม้ในคดีล้มละลายกฎหมายจะบัญญัติให้ศาลพิจารณาเอาความจริงให้ได้ว่าจำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัวจริง แต่จำเลยทั้งสองก็ไม่อาจนำสืบความจริงเพื่อให้มีผลขัดหลักการที่ห้ามมิให้รับฟังการสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร (หนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมายจ.1) นั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองให้การว่าโจทก์มอบเงินให้จำเลยที่ 1 นำไปให้บุคคลภายนอกกู้ โดยคิดดอกเบี้ยอัตราระหว่างร้อยละ7 ถึง 25 ต่อเดือน แล้วแบ่งผลประโยชน์ สัญญากู้เงินตามฟ้องโจทก์นำเงินมาให้จำเลยที่ 1 ปล่อยกู้เพียง 375,000 บาท แต่โจทก์นำดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 25 ต่อเดือน เป็นเวลา 1 ปี เป็นเงิน1,125,000 บาท มารวมเข้ากับต้นเงินดังกล่าวเป็นเงิน 1,500,000 บาทแล้วให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันไว้เป็นหลักประกัน จำเลยที่ 1 ได้ขายบ้านพร้อมที่ดินของจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แทนโจทก์ให้แก่นางสุพัตราไปแล้วจำนวน 250,000 บาทส่วนที่เหลือจำเลยที่ 1 ก็ชำระคืนให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วคำให้การของจำเลยทั้งสองดังกล่าว จำเลยทั้งสองย่อมนำสืบพยานบุคคลหักล้างได้ว่า สัญญากู้เงินดังกล่าวไม่ถูกต้องสมบูรณ์ทั้งหมดไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้าย นอกจากนี้การที่ห้ามนำสืบพยานบุคคลเพื่อให้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารอันเป็นการตัดรอนมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวย่อมขัดต่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 อันเป็นกฎหมายพิเศษที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งกำหนดให้เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องพิจารณาเอาความจริงให้ได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวจริงหรือไม่ จำเลยทั้งสองชอบที่จะนำสืบพยานดังกล่าวได้เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้และจำเลยทั้งสองนำสืบความจริงได้ว่า โจทก์มอบเงินให้จำเลยที่ 1 นำไปให้บุคคลภายนอกกู้เพียง 375,400 บาทแล้วแบ่งผลประโยชน์กันคนละครึ่ง จำเลยทั้งสองจึงไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง ปัญหาต่อไปว่าจำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัวและสมควรพิพากษาให้ล้มละลายหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share