แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โฉนดที่ดินพิพาทได้เปลี่ยนจากชื่อผ. เจ้ามรดกเป็นชื่อของจำเลยที่1และที่2ในฐานะผู้จัดการมรดกและโอนใส่ชื่อจำเลยที่1และที่2แล้วก็ตามแต่ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกยังไม่ได้แบ่งให้แก่ทายาทเหตุที่โอนใส่ชื่อจำเลยที่1และที่2เนื่องจากทายาทอื่นยินยอมเพื่อจะได้ไถ่ถอนจำนองจึงถือว่าจำเลยที่1และที่2ถือที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคนเมื่อจำเลยที่4ที่5ที่7และที่8ซึ่งเป็นทายาทของศ.เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อขายต่อโจทก์โจทก์ย่อมบังคับให้จำเลยที่4ที่5ที่7และที่8ไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่4ที่5ที่7และที่8ให้แก่โจทก์ได้แต่สำหรับจำเลยที่1ถึงที่3และที่6ไม่ได้ยินยอมขายให้โจทก์จึงไม่ผูกพันส่วนของจำเลยที่1ถึงที่3และที่6 ทางพิจารณาได้ความว่าทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผ.มี8คนคือจำเลยทั้งแปดที่ดินพิพาทจึงแบ่งออกเป็น8ส่วนจำเลยที่4ที่5ที่7และที่8ได้คนละ1ส่วนจึงต้องไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาท4ส่วนใน8ส่วนให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142(2)
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันโดยเรียกจำเลยในสำนวนแรกและโจทก์ในสำนวนหลังว่า โจทก์เรียกโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนแรกและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ในสำนวนหลังว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ตามลำดับ
สำนวนแรกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 1941 ตำบลบ้านกล้วยอำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท เนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน 67 ตารางวาเมื่อประมาณปี 2534 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตรวจสอบที่ดินดังกล่าวปรากฏว่าโจทก์บุกรุกเข้าไปกั้นรั้วทางด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ยาวตลอดแนวเขตที่ดิน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้แจ้งให้โจทก์รื้อถอนออกไป โจทก์เพิกเฉย ขอให้บังคับโจทก์รื้อถอนรั้วทางด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ยาวตลอดแนวเขตที่ดินออกไปห้ามโจทก์เกี่ยวข้อง
โจทก์ให้การว่า จำเลยทั้งแปดเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันและเป็นทายาทนางผาย ศรีน้อย ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทเมื่อต้นเดือนเมษายน 2533 จำเลยทั้งแปดโดยจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นตัวแทนได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์พร้อมทั้งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ โจทก์จึงล้อมรั้วที่ดินพิพาท โดยจำเลยทั้งแปดรับว่าจะขอเป็นผู้จัดการมรดกนางผายแล้วโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้วกลับไม่ปฏิบัติตามสัญญาจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
สำนวนฟ้องโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งแปดเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันและเป็นทายาทของนางผาย ศรีน้อย เจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 1941 ตำบลบ้านกล้วย อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาทเนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน 67 ตารางวา นางผายได้ถึงแก่ความตายไปแล้วเมื่อประมาณปี 2533 จำเลยทั้งแปดมอบให้จำเลยที่ 4 เป็นตัวแทนทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ในราคา 200,000 บาทโดยจำเลยทั้งแปดได้รับเงินค่าที่ดินในวันทำสัญญาจำนวน 80,000 บาทค่าที่ดินส่วนที่เหลือตกลงให้โจทก์ชำระในวันจดทะเบียนโอนที่ดินภายใน 30 วัน นับแต่จำเลยทั้งแปดได้จัดการมรดกในที่ดินดังกล่าวเรียบร้อยแล้วตามสำเนาหนังสือสัญญาจะซื้อขายเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 หลังจากทำสัญญาดังกล่าวจำเลยทั้งแปดได้มอบการครอบครองที่ดินให้โจทก์ โจทก์จึงได้เข้าไปล้อมรั้วที่ดินที่ซื้อขายรวมกับที่ดินของโจทก์ที่มีอยู่เดิมซึ่งอยู่ติดกัน ต่อมาจำเลยที่ 5และที่ 7 ได้รับเงินค่าที่ดินจากโจทก์เพิ่มเติมอีก 30,000 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์ชำระให้จำเลยทั้งแปดจำนวน 110,000 บาท ครั้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของนางผายแล้วกลับไม่ยอมโอนที่ดินให้โจทก์ตามสัญญา โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งแปดให้ปฏิบัติตามสัญญา แต่จำเลยทั้งแปดเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งแปดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1941ตำบลบ้านกล้วย อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท ให้แก่โจทก์หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนา ถ้าไม่สามารถโอนที่ดินได้ก็ขอให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันคืนเงินมัดจำค่าที่ดินให้แก่โจทก์ 110,000 บาท พร้อมกับให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามสัญญาเป็นเงิน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยทั้งแปดให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยทั้งแปดไม่เคยบอกขายที่ดินพิพาทตามฟ้องให้แก่โจทก์ และไม่เคยมอบหมายให้จำเลยที่ 4 เป็นตัวแทนในการทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์จำเลยที่ 4 เพียงแต่กู้เงินโจทก์และลงลายมือชื่อในฐานะผู้กู้เท่านั้น ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกัน จำเลยที่ 3ถึงที่ 8 มิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทแต่อย่างใดขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8ร่วมกันชำระเงินมัดจำและเบี้ยปรับรวม 200,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยที่ 5 และที่ 7ชำระเงินค่ามัดจำอีก 20,000 บาท และ 10,000 บาท ตามลำดับพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 20,000 บาท และ10,000 บาท ตามลำดับนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้โจทก์รื้อถอนรั้วด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ออกไปจากที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1941 ตำบลบ้านกล้วย อำเภอเมืองชัยนาทจังหวัดชัยนาท กับให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาจำเลยที่ 3 ถึงแก่กรรมจนล่วงเลยกำหนด 1 ปีแล้ว ปรากฏว่า ไม่มีบุคคลอื่นใดยื่นคำขอเข้าเป็นคู่ความแทนทั้งคู่ความอื่นก็ไม่มีคำขอให้เรียกบุคคลใดเข้ามาเป็นคู่ความแทน จึงให้จำหน่ายคดีโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 6 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 4 เป็นตัวแทนทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และได้รับเงินมัดจำจำนวน 110,000 บาท ไว้จากโจทก์หรือไม่ เห็นว่าโจทก์กับจำเลยที่ 4 ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทเมื่อวันที่3 มีนาคม 2533 ตามเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งขณะนั้นทายาทของนายผายเจ้าของที่ดินพิพาทยังไม่ได้เป็นผู้จัดการมรดก จำเลยที่ 1และที่ 2 เพิ่งขอให้ศาลตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของนางผายเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2533 ทายาทของนางผายมีถึง 8 คนไม่ได้อยู่ในบริเวณที่ดินพิพาทหรือใกล้เคียงกับที่ดินพิพาททุกคนและในขณะโจทก์กับจำเลยที่ 4 ทำสัญญาจะซื้อขายนั้นก็ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์นางมลฤดี เกิดรัตนศักดิ์ ภรรยาโจทก์และนายกิตติศักดิ์ ศรีสาสนรัตน ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 6ไม่ได้มาด้วย จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 6 ไม่ได้รับว่า รับเงินจากโจทก์ ดังนั้นลำพังได้ความเพียงว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 6ไม่ได้ไปห้ามปรามในกรณีที่โจทก์ทำรั้วล้อมที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 6 ได้รู้เห็นยินยอมในการซื้อขายที่ดินพิพาทเมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 และที่ 6 ได้รับเงินมัดจำจำนวน 80,000 บาท ร่วมกับจำเลยที่ 4 อีกทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 6 ได้ไปรับเงินเพิ่มเติมจากโจทก์ภายหลังทำสัญญา คงมีจำเลยที่ 5 และที่ 7 เท่านั้นที่ไปรับเงินเพิ่มจากโจทก์กับจำเลยที่ 5 และที่ 8ลงชื่อเป็นพยานในสัญญาจึงขาดน้ำหนักไม่พอให้รับฟังว่า จำเลยที่ 1ถึงที่ 3 และที่ 6 ยินยอมให้จำเลยที่ 4 เป็นตัวแทนหรือมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับการซื้อขายที่ดินพิพาทตามที่โจทก์ฎีกา
ปัญหาตามฎีกาโจทก์ประการต่อไปที่ว่า โจทก์ทำรั้วล้อมรอบที่ดินพิพาทโดยได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 4 กับพวกหรือไม่ เห็นว่าหนังสือสัญญาจะซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.2 ไม่ปรากฏมีข้อความระบุไว้ให้โจทก์เข้าไปครอบครองทำประโยชน์หรือทำรั้วล้อมรอบที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ถ้าหากโจทก์ประสงค์เช่นนั้นก็ชอบที่จะเขียนระบุลงไปว่าให้โจทก์ทำรั้วล้อมรอบที่ดินพิพาทได้เมื่อโจทก์ไม่มีหลักฐานอื่นมาแสดง ทั้งจำเลยทั้งแปดก็นำสืบปฏิเสธว่าไม่ได้ยินยอมให้โจทก์ทำรั้วดังกล่าว โจทก์มีแต่คำเบิกความลอย ๆ ของโจทก์และนางมลฤดี ภรรยาโจทก์ จึงขาดน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 4กับพวกอนุญาตให้โจทก์เข้าทำรั้วล้อมรอบที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่มีสิทธิทำรั้วล้อมรอบที่ดินพิพาทตามที่โจทก์ฎีกาเช่นกัน
ส่วนปัญหาตามฎีกาโจทก์ประการสุดท้ายที่ว่า แม้ที่ดินพิพาทจะโอนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่จำเลยทั้งแปดทุกคนยังมีส่วนได้ในที่ดินพิพาทและสามารถให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามฟ้องได้ หรือมิฉะนั้นก็ให้โอนที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ให้แก่โจทก์นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้โฉนดที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.1ได้เปลี่ยนจากชื่อนางผายเจ้ามรดกเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 และที่ 2ในฐานะผู้จัดการมรดกแล้วโอนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2ก็ตาม แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 และที่ 2ตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกยังไม่ได้แบ่งให้แก่ทายาท เหตุที่โอนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เนื่องจากทายาทอื่นยินยอมเพื่อจะได้ไถ่ถอนจำนอง นอกจากนี้จำเลยที่ 3 เบิกความว่า ที่ดินพิพาทนี้ตกลงกันว่าเมื่อขายได้แล้วนำเงินมาแบ่งกันทั้งยังได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 7 ตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกนั้นจำเลยที่ 1 บอกว่าหากขายได้แล้วจะนำเงินมาแบ่งกัน ดังนี้ถือได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปันกัน จึงถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถือที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคน สภาพแห่งหนี้ยังเปิดช่องให้จำเลยที่ 4ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ไปจดทะเบียนโอนขายให้แก่โจทก์ได้ เพราะจำเลยทั้งแปดเป็นทายาทของนางผาย ที่ดินพิพาทจึงตกได้แก่จำเลยทุกคนตามส่วนที่เป็นทายาทแต่ละคนได้รับเมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อขายต่อโจทก์ ฉะนั้นโจทก์ย่อมบังคับให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ให้แก่โจทก์ได้เพราะจำเลยทั้งแปดเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท สำหรับจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 และที่ 6 ไม่ได้ยินยอมขายให้โจทก์จึงไม่ผูกพันส่วนของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 6 และจากข้อนำสืบของจำเลยทั้งแปดประกอบกับคำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ขอให้ศาลตั้งจำเลยที่ 1และที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนางผาย ตามคดีหมายเลขแดงที่ 790/2533 ของศาลชั้นต้น ได้ความว่าทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนางผายมี 8 คน คือจำเลยทั้งแปดดังนั้น ที่ดินพิพาทจึงแบ่งออกเป็น 8 ส่วน จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ได้คนละ 1 ส่วนจึงต้องไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาท 4 ส่วนใน 8 ส่วน ให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(2) สำหรับราคาที่ดินนั้นปรากฏว่าในจำนวน 8 ส่วน ขายในราคา 200,000 บาทโจทก์ได้รับโอนเพียงครึ่งเดียวเท่ากับ 4 ส่วน จึงเป็นราคาที่ดินเพียง 100,000 บาท เมื่อจำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ได้รับค่าที่ดินไปจากโจทก์แล้ว 110,000 บาท เกินไป 10,000 บาท จึงต้องคืนส่วนที่รับเกินไปให้แก่โจทก์ เมื่อสภาพแห่งหนี้เปิดช่องให้โจทก์บังคับให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 โอนที่ดินเฉพาะส่วนได้โจทก์จึงไม่สมควรได้รับค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลยทั้งแปดอีก
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8โอนที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 1941ตำบลบ้านกล้วย อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท จำนวน 4 ส่วนใน 8 ส่วน ให้โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางผาย ศรีน้อย ไปจดทะเบียนโอนแทนจำเลยที่ 4 ที่ 5ที่ 7 และที่ 8 หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ไปจดทะเบียนโอนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 2ให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 ร่วมกันคืนเงินมัดจำให้โจทก์10,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2