คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5085/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ตามกรมธรรม์จะมีข้อยกเว้นระบุว่า “การประกันภัยตามกรมธรรม์ฉบับนี้ไม่คุ้มครอง… 2. ความสูญเสียหรือความเสียหายอันเกิดจากความบาดเจ็บทางร่างกายที่เกิดขึ้นในเวลาต่อไปนี้… ง. ขณะที่ผู้เอาประกันภัยเข้าร่วมทะเลาะวิวาทหรือมีส่วนยั่วยุให้เกิดการทะเลาะวิวาท” มิได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งถึงกรณีเสียชีวิตหรือถูกฆาตกรรม ดังนั้นข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องรับผิดดังกล่าวต้องตีความโดยเคร่งครัดว่าย่อมหมายถึงเฉพาะความสูญเสียหรือความเสียหายอันเกิดจากการบาดเจ็บทางร่างกายที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เสียชีวิต การที่ผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะถูกฆาตกรรมจึงไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดของจำเลยตามตารางกรมธรรม์ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 541,917.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 กันยายน 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 6 พฤศจิกายน 2546) คำนวณแล้วต้องไม่เกิน 41,917.80 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 2,500 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์เป็นพี่สาวของผู้ตายจึงเป็นญาติของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 โจทก์มีความสัมพันธ์ผูกพันเคยช่วยเหลือผู้ตายมาก่อน ทั้งโจทก์ยังเป็นผู้จัดการศพของผู้ตายจึงถือว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้ สัญญาประกันภัยมีผลผูกพัน จำเลยต้องรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์นั้น เห็นว่า โจทก์นำสืบความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับผู้ตายว่า โจทก์และผู้ตายเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน โจทก์และผู้ตายรวมทั้งมารดาพักอาศัยอยู่ด้วยกันที่จังหวัดอุตรดิตถ์ โจทก์ซึ่งเป็นบุตรคนโตของครอบครัวได้เอาประกันภัยบุคคลหลายคนในครอบครัวไว้แก่จำเลยซึ่งรวมถึงกรมธรรม์พิพาทคดีนี้ การเอาประกันภัยทั้งหมดระบุให้บุคคลในกลุ่มพี่น้องด้วยกันเป็นผู้รับประโยชน์และเป็นการกระทำในวันเดียวกันคือวันที่ 7 เมษายน 2542 โดยโจทก์เอาประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลของผู้ตาย นายภมร และนางสาวประภัสสร ซึ่งเป็นน้องของโจทก์ ระบุโจทก์ในฐานะพี่สาวเป็นผู้รับประโยชน์ และโจทก์ยังเอาประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลของตนเอง ระบุนางสายชลในฐานะน้องสาวเป็นผู้รับประโยชน์ด้วย เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย โจทก์เป็นผู้จัดการศพของผู้ตาย ซึ่งจำเลยมิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น ทั้งบันทึกถ้อยคำของนางจันทร์แรม ภริยาไม่จดทะเบียนสมรสของผู้ตาย ที่จำเลยอ้างส่ง ยังระบุความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับผู้ตายเพิ่มเติมว่า ผู้ตายเคยถูกจับคดีอาวุธปืนเมื่อกุมภาพันธ์ 2542 พี่สาวซึ่งหมายถึงโจทก์วิ่งเต้นคดี เสียเงิน 30,000 บาท เจือสมเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับผู้ตายดังที่โจทก์นำสืบ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์และผู้ตายมีความสัมพันธ์ช่วยเหลือเกื้อกูลกันตามหน้าที่ธรรมจรรยาในครอบครัวในลักษณะเป็นญาติสนิท และบุคคลในครอบครัวของโจทก์และผู้ตายต่างเอาประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลให้แก่กันโดยมีเจตนาให้เฉพาะบุคคลในครอบครัวที่เหลืออยู่เป็นผู้รับประโยชน์ นอกจากนี้โจทก์ยื่นคำขอเอาประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลของผู้ตายแก่จำเลยโดยระบุไว้ชัดเจนว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์มีความสัมพันธ์ในฐานะเป็นพี่สาวของผู้ตาย จำเลยพิจารณาคำขอเอาประกันภัยดังกล่าวแล้วมิได้บอกปัดการรับประกันภัยด้วยเหตุว่าโจทก์มิได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย กลับตกลงเข้ารับประกันภัยผู้ตายโดยออกตารางกรมธรรม์การประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลให้แก่ผู้ตายและระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ ทั้งยังระบุความสัมพันธ์กับผู้เอาประกันภัยว่าโจทก์เป็นพี่สาวของผู้ตาย เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายและโจทก์เรียกให้จำเลยชดใช้เงินตามตารางกรมธรรม์ จำเลยปฏิเสธการชดใช้เงินโดยอ้างเหตุแต่เพียงว่าการตายของผู้ตายอาจเข้าข้อยกเว้นที่จำเลยไม่ต้องรับผิดตามตารางกรมธรรม์ คือ ผู้ตายเข้าร่วมทะเลาะวิวาท หรือมีส่วนยั่วยุให้เกิดการทะเลาะวิวาท หรือขณะเกิดเหตุผู้ตายอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุราหรือยาเสพติดให้โทษร้ายแรงจนไม่สามารถครองสติได้ จำเลยเพิ่งยกเหตุว่าโจทก์มิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยขึ้นอ้างเมื่อยื่นคำให้การต่อสู้คดีอันเป็นระยะเวลาห่างจากวันทำสัญญาประกันภัยดังกล่าวถึง 4 ปีเศษ ตามพฤติการณ์ถือว่าจำเลยได้ยอมรับแล้วว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่จะประกันภัยได้ เมื่อพิจารณาประกอบความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับผู้ตายดังได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้วฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย สัญญาประกันภัยจึงมีผลผูกพันโจทก์และจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า การตายของผู้ตายเข้าข้อยกเว้นความรับผิดของจำเลยตามตารางกรมธรรม์ หรือไม่ ปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวน จำเลยอุทธรณ์ว่า การตายของผู้ตายเกิดจากผู้ตายซึ่งถือเป็นผู้เอาประกันภัยตามตารางกรมธรรม์ได้เข้าร่วมทะเลาะวิวาท หรือมีส่วนยั่วยุให้เกิดการทะเลาะวิวาทอันเป็นข้อยกเว้นความรับผิดของจำเลยตามตารางกรมธรรม์ ข้อ 2 (ง) แม้ข้อยกเว้นดังกล่าวจะระบุเพียงว่า ไม่คุ้มครองความสูญเสียหรือความเสียหายอันเกิดจากความบาดเจ็บทางร่างกายที่เกิดขึ้นในเวลาดังกล่าว แต่การเสียชีวิตของผู้ตายเป็นผลมาจากความบาดเจ็บทางร่างกาย กรณีจึงเข้าข้อยกเว้นดังกล่าว จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์ นั้น เห็นว่า ตารางกรมธรรม์ แบ่งความคุ้มครองออกเป็น 6 ข้อ แยกต่างหากจากกัน คือ ข้อ 1 เสียชีวิต ข้อ 2 สูญเสียอวัยวะและสายตา ข้อ 3 ทุพพลภาพถาวร ข้อ 4 ทุพพลภาพชั่วคราวสิ้นเชิง ข้อ 5 ทุพพลภาพชั่วคราวบางส่วน และข้อ 6 การรักษาพยาบาลต่ออุบัติแต่ละครั้ง จำเลยตกลงรับประกันภัยตามข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 6 โดยขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมถึงการฆาตกรรมหรือถูกทำร้ายร่างกายโดยเจตนาซึ่งจำกัดจำนวนเงินความรับผิดตามข้อตกลงคุ้มครอง ข้อ 1 ในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท โดยมีข้อยกเว้นระบุว่า “การประกันภัยตามกรมธรรม์ฉบับนี้ไม่คุ้มครอง…2. ความสูญเสียหรือความเสียหายอันเกิดจากความบาดเจ็บทางร่างกายที่เกิดขึ้นในเวลาต่อไปนี้…ง. ขณะที่ผู้เอาประกันภัยเข้าร่วมทะเลาะวิวาทหรือมีส่วนยั่วยุให้เกิดการทะเลาะวิวาท” มิได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งถึงกรณีเสียชีวิตหรือถูกฆาตกรรม ดังนั้นข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องรับผิดดังกล่าวต้องตีความโดยเคร่งครัดว่า ย่อมหมายถึงเฉพาะความสูญเสียหรือความเสียหายอันเกิดจากการบาดเจ็บทางร่างกายที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เสียชีวิต การที่ผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะถูกฆาตกรรมจึงไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดของจำเลยตามตารางกรมธรรม์ดังกล่าว เมื่อได้วินิจฉัยเช่นนี้แล้วจำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ 500,000 บาท ตามที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 กันยายน 2545 ตามที่โจทก์ฟ้อง
พิพากษากลับให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share