คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5030/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งห้าตกลงจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่ผู้ล่อซื้อ โดยจำเลยทั้งห้าตรวจดูเงินที่ใช้ในการล่อซื้อและพาสิบตำรวจเอก อ. ไปตรวจรับเมทแอมเฟตามีนของกลางที่ซ่อนไว้ในบังกาโล จากนั้นได้นำของกลางทั้งหมดขึ้นรถยนต์กระบะคันที่จำเลยที่ 1 ขับ และวางเมทแอมเฟตามีนของกลางอยู่ที่วางเท้าด้านซ้าย ซึ่งเป็นด้านที่สิบตำรวจเอก อ. นั่งมาเพื่อส่งมอบต่อให้แก่ร้อยตำรวจเอก บ. ที่ลานจอดรถของห้างสรรพสินค้า แม้จำเลยทั้งห้าจะถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมก่อนรับเงินค่าซื้อขายของกลาง การซื้อขายเมทแอมเฟตามีนของกลางซึ่งตรวจนับจำนวนแน่นอนและส่งมอบแล้ว ย่อมเป็นอันเสร็จบริบูรณ์ ไม่ใช่เป็นแต่เพียงพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2542 เวลากลางวัน จำเลยทั้งห้าร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 102,000 เม็ด น้ำหนัก9,113 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 1,794.6 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อไปโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง ส่วนของกลางอื่นโจทก์จะร้องขอให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดต่อไป

จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้วเฉพาะจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง, 66 วรรคสอง แม้จำเลยที่ 1 จะให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณา และจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน แต่เมทแอมเฟตามีนของกลางมีจำนวนมากถึง 102,000 เม็ดคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 1,794.6 กรัม ซึ่งตามสภาพและลักษณะแห่งความผิดเป็นมหันตภัยต่อมวลมนุษยชาติ อีกทั้งสามารถทำลายทรัพยากรบุคคลบั่นทอนความสงบสุขของสังคมและเศรษฐกิจของชาติสุดคณานับ ประกอบกับจำเลยทั้งห้ามิได้สำนึกถึงการกระทำความผิดของตน กลับนำสืบปฏิเสธความผิดเสียอีก คดีจึงไม่มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 และสมควรลงโทษรุนแรงสาสมแก่ความผิดเพื่อเป็นบรรทัดฐานในการป้องกันผลร้ายที่บังเกิดแก่สังคม โดยให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งห้า ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง

จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ โดยจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้ลดโทษ

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง, 66 วรรคสองประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 80 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งห้าฎีกา โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ลดโทษ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องเจ้าพนักงานตำรวจได้วางแผนล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยที่ 1 กับพวกและในวันต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งห้าได้พร้อมของกลาง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีพันตำรวจโทนพดล นิลมานนท์ ร้อยตำรวจเอกบุญส่ง สนธยานานนท์ และสิบตำรวจเอกอภิสิทธิ์ เล็กอุทัยพาณิช เป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันตรงกันว่าร้อยตำรวจเอกบุญส่งและสิบตำรวจเอกอภิสิทธิ์ปลอมตัวเป็นพ่อค้าไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยทั้งห้า โดยมีสายลับเป็นผู้ประสานงานการเจรจาล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางมีการดำเนินงานหลายขั้นตอน ขั้นตอนแรกร้อยตำรวจเอกบุญส่ง สิบตำรวจเอกอภิสิทธิ์และสายลับนัดเจรจาซื้อขายเมทแอมเฟตามีนกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่สถานีบริการน้ำมันบางจากถนนเชียงใหม่ – ฝาง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ก่อน ตามภาพถ่ายหมาย จ.8 และ จ.9 ขั้นตอนที่สองนัดส่งมอบเมทแอมเฟตามีนและเงินที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย โดยจำเลยที่ 4 และที่ 5 ขอตรวจนับเงินก่อนตามภาพถ่ายหมาย จ.11 ถึง จ.16 จากนั้นจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5จึงพาสิบตำรวจเอกอภิสิทธิ์ไปดูเมทแอมเฟตามีนที่ซ่อนไว้ในบังกาโลเฟรนด์ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 อยู่กับร้อยตำรวจเอกบุญส่งที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี หลังจากสิบตำรวจเอกอภิสิทธิ์ดูของเรียบร้อยแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 และสิบตำรวจเอกอภิสิทธิ์เดินทางกลับมาที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีพร้อมเมทแอมเฟตามีนที่ตรวจนับแล้ว เพื่อส่งมอบให้แก่ร้อยตำรวจเอกบุญส่งและรับเงินตามที่ได้ตกลงกัน เมื่อพันตำรวจโทนพดลกับพวกจับกุมจำเลยทั้งห้าพร้อมเมทแอมเฟตามีนซึ่งอยู่ในรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับมา จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพโดยดีตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.3 โดยเฉพาะจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เขียนบันทึกคำรับสารภาพด้วยลายมือตนเองตามเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 4 และที่ 5 ก็คงให้การรับสารภาพเช่นเดิมตามเอกสารหมาย จ.30 และ จ.31 ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 แม้จะให้การในชั้นสอบสวนว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3เดินทางมาจังหวัดเชียงใหม่กับจำเลยที่ 1 โดยไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แต่ต่อมาเมื่อทราบแล้วจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ยังเดินทางมาจังหวัดเชียงรายกับจำเลยที่ 1 จนกระทั่งถูกจับกุมตามเอกสารหมาย จ.28 และ จ.29 พยานหลักฐานของโจทก์และคำให้การของจำเลยทั้งห้าสอดคล้องต้องกันมีน้ำหนักรับฟังได้ ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฎีกาว่า ไม่ได้กระทำความผิด เจ้าพนักงานตำรวจทำพยานหลักฐานขึ้นเอง และทำร้ายร่างกายเพื่อบีบบังคับให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 รับสารภาพนั้น โจทก์มีประจักษ์พยานและภาพถ่ายมาแสดงให้เห็นเริ่มตั้งแต่พยานโจทก์และสายลับนัดเจรจาตกลงซื้อขายเมทแอมเฟตามีนกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่สถานีบริการน้ำมันบางจากถนนเชียงใหม่ – ฝาง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ จนกระทั่งมีการตรวจนับเงินและส่งมอบเมทแอมเฟตามีนที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ยังคงอยู่ในที่เกิดเหตุ หากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีส่วนร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ดังที่กล่าวอ้าง จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็น่าจะแยกตัวออกห่างจากจำเลยที่ 1 ตั้งแต่อยู่ที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 เบิกความยอมรับว่าขณะอยู่ที่อำเภอแม่แตง จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทราบแล้วว่าจำเลยที่ 1 มาติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีน การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 อ้างว่าไม่สามารถแยกตัวออกห่างจากจำเลยที่ 1 เพราะไม่มีเงินค่ารถกลับบ้านนั้น ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ ส่วนที่จำเลยที่ 4และที่ 5 อ้างว่าไม่ได้ให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจและพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งสิทธิให้จำเลยทราบด้วยนั้น เห็นว่า โจทก์มีร้อยตำรวจตรีอาทิตย์ ใจมา พนักงานสอบสวนคดีนี้เบิกความเป็นพยานว่าจำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจ ในบันทึกคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้แจ้งสิทธิของผู้ต้องหาให้แก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ทราบแล้วโดยจำเลยที่ 4 และที่ 5 เต็มใจให้การ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจ และร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 จึงชอบแล้ว แต่การที่จำเลยทั้งห้าตกลงจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่ผู้ล่อซื้อ โดยจำเลยทั้งห้าตรวจดูเงินที่ใช้ในการล่อซื้อและพาสิบตำรวจเอกอภิสิทธิ์ไปตรวจรับเมทแอมเฟตามีนของกลางที่ซ่อนไว้ในบังกาโลเฟรนด์ จากนั้นได้นำของกลางทั้งหมดขึ้นรถยนต์กระบะคันที่จำเลยที่ 1 ขับและวางเมทแอมเฟตามีนของกลางอยู่ที่วางเท้าด้านซ้าย ซึ่งเป็นด้านที่สิบตำรวจเอกอภิสิทธิ์นั่งมาเพื่อส่งมอบต่อให้แก่ร้อยตำรวจเอกบุญส่งที่ลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีเช่นนี้ แม้จำเลยทั้งห้าจะถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมก่อนรับเงินค่าซื้อขายของกลางการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนของกลางซึ่งตรวจนับจำนวนแน่นอนและส่งมอบแล้ว ย่อมเป็นอันเสร็จบริบูรณ์ ไม่ใช่เป็นแต่เพียงพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ปัญหานี้แม้โจทก์จะไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เพราะเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า สมควรลดโทษให้แก่จำเลยทั้งห้าหรือไม่เพียงใด เห็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมแม้จะให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวน แต่คำให้การชั้นสอบสวนมีบางส่วนที่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน โดยเฉพาะจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณาด้วยจึงมีเหตุบรรเทาโทษ และเนื่องจากจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 เป็นตัวการสำคัญในการกระทำความผิดจึงสมควรลดโทษให้เท่ากับจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละหนึ่งในสาม

อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แต่คดีนี้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งห้า จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยทั้งห้า”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสอง, 66 วรรคสอง และ 102 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 อันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรากฏว่า ความผิดทั้งสองบทดังกล่าวมีโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งห้า แต่จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ สมควรลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52(1) คงจำคุกจำเลยทั้งห้าตลอดชีวิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share