คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 64/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

รถบรรทุกของจำเลยที่ 1 ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับห้างฯ จำเลยที่ 2 เฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์เป็นเหตุให้มีคนตายถึง 3 คน ภายหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ทำหนังสือตกลงเรื่องค่าปลงศพของผู้ตายให้ไว้แก่ทายาทของผู้ตายทั้งสาม ส่วนค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ตกลงกันไม่ได้จึงนัดตกลงกันอีกครั้งหนึ่ง โดยไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าทั้งสองฝ่ายตกลงระงับข้อพิพาทโดยยอมสละสิทธิเรียกร้องอื่น แสดงว่าทั้งสองฝ่ายมีเจตนาตกลงเฉพาะเรื่องค่าปลงศพเท่านั้น หาได้รวมถึงค่าเสียหายอื่นไม่ ข้อความในหนังสือดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาว่า โจทก์ที่ 1เป็นมารดานางนุช พิมพะลา และเป็นผู้ปกครองของโจทก์ที่ 2 ส่วนโจทก์ที่ 3 เป็นมารดานายสุพรรณ ยาผา นางนุชอยู่กินฉันสามีภริยากับนายสุพรรณมีบุตรด้วยกัน 2 คน คือโจทก์ที่ 2 อายุ 3 ปีเศษ กับเด็กหญิงนุชาดา ยาผา อายุ 1 ปีเศษ จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80 – 9019 อุดรธานี และรถพ่วงหมายเลขทะเบียน81 – 1904 อุดรธานี มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัย เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2537 เวลา12.30 นาฬิกา บุคคลไม่ทราบชื่อซึ่งเป็นลูกจ้างและตัวแทนของจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงคันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ด้วยความเร็วสูงและประมาทเลินเล่อ พุ่งชนรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน เลย ง – 7554 ซึ่งนายสุพรรณเป็นผู้ขับ นางนุชกับเด็กหญิงนุชาดานั่งซ้อนท้าย เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหาย นายสุพรรณ นางนุช และเด็กหญิงนุชาดาถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 1 ขอเรียกค่าขาดไร้อุปการะอันเนื่องจากการตายของนางนุชเป็นเงิน 700,000 บาท และค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์ที่ได้ชดใช้ให้เจ้าของไปแล้วจำนวน 15,000 บาท โจทก์ที่ 1 และที่ 2เรียกค่าขาดไร้อุปการะอันเนื่องจากการตายของเด็กหญิงนุชาดาเป็นเงิน 500,000 บาทโจทก์ที่ 2 ขอเรียกค่าขาดไร้อุปการะอันเนื่องจากการตายของนางนุชและนายสุพรรณเป็นเงินจำนวน 480,000 บาท โจทก์ที่ 3 ขอเรียกค่าขาดไร้อุปการะอันเนื่องจากการตายของนายสุพรรณเป็นเงินจำนวน 800,000 บาท นอกจากนี้โจทก์ทั้งสามขอเรียกค่าปลงศพผู้ตายทั้งสามอีกเป็นเงินจำนวน 20,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ทั้งสามรวมเป็นเงินจำนวน 2,515,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ที่ 1 มิใช่มารดาของนางนุชและมิได้เป็นผู้ปกครองโจทก์ที่ 2 ส่วนโจทก์ที่ 3 มิใช่มารดาของนายสุพรรณ โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีอำนาจฟ้องผู้ขับรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงมิใช่ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสาม เหตุคดีนี้เกิดจากความประมาทของนายสุพรรณเพียงฝ่ายเดียว การตายของนางนุชโจทก์ที่ 1 เรียกค่าขาดไร้อุปการะได้ไม่เกินเดือนละ 500บาท เป็นเวลา 5 ปี โจทก์ที่ 2 เรียกค่าขาดไร้อุปการะได้ไม่เกินเดือนละ 300 บาท จนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ โจทก์ที่ 3 เรียกค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการตายของนายสุพรรณได้ไม่เกินเดือนละ 300 บาท เป็นเวลา 3 ปี สำหรับค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นของบุคคลอื่น การที่โจทก์ที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของไปแล้วก็ไม่อาจเรียกร้องเอาจากจำเลยทั้งสองได้ ทั้งค่าซ่อมรถไม่เกิน 5,000 บาท หลังเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 และที่ 3กับฝ่ายรถยนต์บรรทุกได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยโจทก์ที่ 1 ยอมรับชดใช้ค่าปลงศพนางนุชและเด็กหญิงนุชาดารายละ 50,000 บาท โจทก์ที่ 3 ยอมรับชดใช้ค่าปลงศพนายสุพรรณ 50,000 บาท หนี้ละเมิดระงับสิ้นไปแล้ว โจทก์ทั้งสามไม่อาจฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80 – 9019 อุดรธานี มีความรับผิดในความเสียหายอันเนื่องจากการตายของนางนุช นายสุพรรณและเด็กหญิงนุชาดา เพียงรายละ 50,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1เป็นเงินจำนวน 70,000 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงินจำนวน 150,000 บาท โจทก์ที่ 3เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 320,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินแต่ละจำนวน นับแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1เป็นเงินจำนวน 50,000 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงินจำนวน 50,000 บาท โจทก์ที่ 3 เป็นเงินจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่าเมื่อวันที่ 3ธันวาคม 2537 เวลา 12.30 นาฬิกา รถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80 – 9019อุดรธานี และรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 81 – 1904 อุดรธานี ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 2 เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน เลย ง – 7554 ของนายสุเนตร พิมพะลา ซึ่งมีนายสุพรรณ ยาผา เป็นผู้ขับ นางนุช พิมพะลา กับเด็กหญิงนุชาดา ยาผา นั่งซ้อนท้าย เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหาย นายสุพรรณนางนุช และเด็กหญิงนุชาดา ถึงแก่ความตาย หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าปลงศพนายสุพรรณ นางนุช และเด็กหญิงนุชาดา ให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 รวมเป็นเงิน150,000 บาท ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี เอกสารหมาย ล.1 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าหลังเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 2 โดยชอบด้วยกฎหมายแล้วหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า แม้ข้อความในเอกสารหมาย ล.1 จะไม่ปรากฏข้อความในทำนองว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ไม่ติดใจดำเนินคดีกับฝ่ายจำเลยทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อไปโดยแจ้งชัดแต่หากพิจารณาเอกสารหมาย ล.1 ประกอบบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของโจทก์ที่ 1และที่ 3 ที่ให้การต่อพนักงานสอบสวนในทำนองเดียวกันว่า ทางบริษัทสินมั่นคงประกันภัยได้มาตกลงช่วยเหลือผู้ตายศพละ 50,000 บาท รวมเป็นเงิน 150,000 บาท โจทก์ที่ 1และที่ 3 มีความพอใจไม่ประสงค์จะเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ อันเกิดจากเรื่องนี้เอกสารหมาย ล.1 จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความโดยชอบด้วยกฎหมายระหว่างโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และจำเลยที่ 2 อันมีผลให้มูลละเมิดระงับสิ้นไป โจทก์ทั้งสามจึงไม่อาจฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในค่าเสียหายใด ๆ เกี่ยวแก่การตายของบุคคลทั้งสามได้อีกนั้น เห็นว่า ข้อความที่ปรากฏในเอกสารหมาย ล.1 คงมีแต่การตกลงเรื่องค่าปลงศพนายสุพรรณ ยาผา นางนุช พิมพะลา และเด็กหญิงนุชาดา ยาผา รวมเป็นเงิน150,000 บาท ซึ่งโจทก์ที่ 1 และที่ 3 มีความพอใจ ส่วนค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ตกลงกันไม่ได้ จึงได้นัดตกลงกันอีกครั้งหนึ่ง หาได้มีข้อความตอนใดระบุไว้โดยชัดแจ้งว่าคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงระงับข้อพิพาทโดยยอมสละสิทธิเรียกร้องอื่นทั้งสิ้นแต่อย่างใดไม่ ซึ่งร้อยตำรวจเอกเดชศักดา โทนุบล พนักงานสอบสวนเบิกความเป็นพยานโจทก์ทั้งสามยืนยันว่า ในวันดังกล่าวได้เจรจาตกลงกันเฉพาะเรื่องค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเท่านั้น สำหรับค่าเสียหายอื่น ๆ ไม่ได้ตกลงกันด้วย เนื่องจากในวันดังกล่าวเจ้าของรถยนต์บรรทุกไม่ได้มาด้วย โดยจะไปเจรจาตกลงกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง และจากคำเบิกความของนายประเสริฐ พราห์มไธสง ตัวแทนจำเลยที่ 2 ที่เข้าร่วมเจรจาตกลงกับโจทก์ที่ 1 และที่ 3 เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ทั้งสามยอมรับว่าค่าปลงศพ ศพละ 50,000 บาท ดังกล่าวเป็นการตกลงกันตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 กำหนดไว้ แสดงให้เห็นว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และนายประเสริฐ ตัวแทนของจำเลยที่ 2 มีเจตนาตกลงเฉพาะเรื่องค่าปลงศพเท่านั้น ที่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ให้การต่อพนักงานสอบสวนดังกล่าว จึงเป็นความพอใจในเรื่องค่าปลงศพไม่รวมถึงค่าเสียหายอื่น ซึ่งหากมีการตกลงเรื่องค่าเสียหายอื่นเพื่อให้มีผลเป็นการระงับข้อพิพาททั้งหมด นายประเสริฐก็น่าจะโต้แย้งให้พนักงานสอบสวนบันทึกข้อตกลงดังกล่าวในเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งทำขึ้นในวันเดียวกับบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของโจทก์ที่ 1และที่ 3 เมื่อเอกสารหมาย ล.1 ไม่มีข้อความโดยชัดแจ้งว่าคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงระงับข้อพิพาทโดยยอมสละข้อเรียกร้องอื่นทั้งสิ้น ข้อความในเอกสารหมาย ล.1 จึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share