แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ทายาทหลายคนได้ปกครองเป็นเจ้าของทรัพย์มฤดกร่วมกันมาโดยยังไม่ได้แบ่งปันกัน ต่อมาทายาทคนหนึ่งฟ้องขอแบ่งทรัพย์มฤดกนั้น จากทายาทอีกคนหนึ่งเพียงคนเดียวมิได้ฟ้องทายาทอันเป็นเจ้าของร่วมคนอื่นเข้ามาในคดีด้วย ทายาทคนที่ถูกฟ้องยอมความเอาทรัพย์มฤดกที่ทายาทอื่นซึ่งเป็นคนนอกคดีเป็นเจ้าของร่วมด้วยไปแบ่งปันเอาเสียคนเดียว และยอมรับเงินจำนวนหนึ่งตกลงโอนทรัพย์นั้นให้เป็นของทายาทผู้ฟ้องคดีทั้งหมดโดยทายาทคนนอกคดีไม่ได้รู้ เห็นยินยอมด้วยนั้น ย่อมไม่ผูกพันทายาทคนนอกคดีตาม ป.ม.แพ่งฯ มาตรา 1361 วรรค 2
การกระทำของทายาทผู้เป็นโจทก์และทายาทผู้เป็นจำเลย เป็นเหตุให้ทายาทคนนอกคดีเสียสิทธิและเกิดเสียหายแก่ทรัพย์ของทายาทคนนอกคดี คำพิพากษาในคดีก่อนนั้นจึงใช้ยันทายาทคนนอกคดีไม่ได้ ทายาทคนนอกคดีมีสิทธิฟ้องทายาทผู้เป็นโจทก์และจำเลยขอให้ศาลแบ่งทรัพย์นั้นใหม่ได้ไม่จำต้องฟ้องขอให้ทำลายคำพิพากษา
คำว่าสิ่งปลูกสร้างย่อมหมายถึงเรือนด้วย เมื่อโจทก์ฟ้องว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นมฤดก จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธหรือต่อสู้ประการใดจึงไม่มีประเด็นในเรื่องเรือนโจทก์ไม่ต้องนำสืบ ศาลก็รับฟังได้ว่าเรือนเป็นทรัพย์มฤดกด้วยตายนัยแห่งฎีกาที่ 218/2488
การที่โจทก์ตีราคาทรัพย์มาในคำฟ้องนั้น เป็นการประมาณราคาเพื่อเรียกค่าธรรมเนียมเมื่อไม่มีเหตุที่ศาลควรสงสัยหรือฝ่ายใดโต้แย้ง ก็ไม่มีปัญหาเรื่องการเรียกค่าขึ้นศาลเพิ่ม
ย่อยาว
คดีได้ความว่า นางเป้ามีสวนพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้าง ตามโฉนดที่ ๒๔๗๙ นางเป้าตาย ๒๐ ปีแล้ว ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจึงตกเป็นมฤดกได้แก่นางกิมหลีจำเลยที่ ๑, และนางเล็กน้องสาว ซึ่งเป็นบุตรนางเป้าคนละครึ่ง นางเล็กเป็นภรรยานายจุ่นโจทก์ มีบุตร ๓ คน คือ นางชลอ จำเลยที่ ๒, ด.ช.เฉลี่ย, ด.ช. หรั่งโจทก์นางเล็กตายเมื่อ ๖ ปีมานี้ มฤดกของนางเล็กจึงตกได้แก่นายจุ่นและบุตรทั้ง ๓ คน ได้ครอบครองมฤดกมาด้วยกัน ต่อมานางกิมหลีเป็นโจทก์ฟ้องขอแบ่งส่วนของตนจากนางชลอแต่ผู้เดียว มิได้ฟ้องฟ้องโจทก์ทั้ง ๓ คนในคดีนี้ ซึ่งเป็นผู้รับมฤดกความของนางเล็กด้วยในที่สุดนางกิมหลีกับนางชลอทำสัญญาปราณีประนอมยอมความกันโดยให้ประ มูลหรือขายทอดตลาดที่ดินโดยหักค่าธรรมเนียมออกก่อนแล้วแบ่งเงินกันคนละครึ่ง ศาลแพ่งพิพากษาให้ไปตามยอมต่อมานางกิมหลีกับนางชลอตกลงกันใหม่ว่า นางกิมหลียอมให้เงินนางชลอ ๕๐๐๐ บาท นางชลอยอมโฉนดที่ดินให้เป็นของนางกิมหลี ศาลแพ่งอนุญาตให้เป็นไปตามที่ตกลงกัน
โจทก์จึงฟ้องนางกิมหลีและนางชลอเป็นจำเลยในคดีนี้ว่าการที่จำเลยทั้ง ๒ ตกลงกระทำไปตามสำนวนคดีแดงที่ ๗๕๗/๒๔๙๑ ทำให้โจทก์เสียเปรียบและเสียหาย จึงขอให้ศาลแสดงว่าที่ดินกับสิ่งปลูกสร้างเป็นมฤดกได้แก่นางกิมหลีจำเลย และนางเล็กคนละเท่า ๆ กัน ส่วนของนางเล็กตกได้แก่โจทก์ทุกคนและจำเลยที่ ๒ คนละเท่า ๆ กัน โดยแบ่งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกันก่อนถ้าไม่สามารถจะแบ่งได้ ก็ให้ประมูลหรือขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกัน
นางกิมหลีต่อสู้ว่า จำเลยกับนางชลอได้ตกลงกันในคดีแดงที่ ๗๕๗/๒๔๙๑ โจทก์ทราบดีแล้ว และจำเลยชำระเงิน ๕๐๐๐ บาทไว้ในคดีนั้นแล้ว โจทก์ชอบที่จะไปขอส่วนแบ่งมฤดกจากนางชลอ
นางชลอให้การว่าไม่ได้สมยอมกับนางกิมหลี
ศาลแพ่งเห็นว่าไม่จำต้องสืบพะยานแล้วพิพากษาว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามโฉนดที่ ๒๔๗๙ เป็นมฤดกนางเป้าตกได้แก่จำเลยที่ ๑ และนางเล็กคนละครึ่ง การที่จำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ ผู้รับมฤดกนางเล็กยอมความตกลงกันนั้น ไม่ผูกพันโจทก์ผู้เป็นทายาทนางเล็กด้วยโจทก์จึงฟ้องขอให้แบ่งใหม่ได้ จึงให้ขายทอดตลาดที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แบ่งออกเป็น ๘ ส่วน ให้จำเลยที่ ๑ ได้ ๔ ส่วน โจทก์ทั้ง ๓ และจำเลยที่ ๒ ได้คนละ ๑ ส่วนแต่ให้หักใช้ค่าธรรมเนียมในคดีนี้และค่าธรรมเนียมในคดีเลขแดงที่ ๗๕๗/๒๔๙๑ ออกเสียก่อน
นางกิมหลีผู้เดียวอุทธรณ์
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ทั้ง ๓ กับจำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าของทรัพย์ร่วมกัน และเป็นเจ้าของทรัพย์ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ด้วย (เพราะครอบครองมฤดกมาด้วยกัน ยังมิได้แบ่ง) การที่จำเลยที่ ๑ ฟ้องขอแบ่งทรัพย์มฤดกจากจำเลยที่ ๒ เพียงคนเดียว มิได้ฟ้องโจทก์ผู้เป็นเจ้าของร่วมเข้ามาในคดีด้วย และจำเลยที่ ๒ ผู้เดียวยอมความเอาทรัพย์ของคนนอกคดีที่ที่เขาเป็นเจ้าของร่วมไปแบ่งปันเอาเสียคนเดียว และยอมรับเงิน ๕๐๐๐ บาทตกลงโอนทรัพย์นั้นให้จำเลยที่ ๑ ทั้งหมด โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมด้วยนั้น ย่อมไม่ผูกพันโจทก์ตามาตรา ๑๓๖๑ วรรค ๒ แห่ง ป.ม.แพ่งฯ การกระทำของจำเลยทั้ง ๒ เป็นเหตุให้โจทก์เสียสิทธิและเกิดเสียหายแก่ทรัพย์ของโจทก์ คำพิพากษาในคดีก่อนจึงใช้ยันโจทก์ในคดีนี้หาได้ไม่ โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้ง ๒ ในคดีนี้ได้ ไม่จำต้องฟ้องขอให้ทำลายคำพิพากษา
ปัญหาข้อ ๒ คำว่าสิ่งปลูกสร้างตามฟ้อง ย่อมหมายถึงเรือนด้วยจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธหรือต่อสู้ไว้ประการใด จึงไม่มีประเด็นเรื่องเรือนโจทก์ไม่ต้องนำสืบ ศาลรับฟังได้ ตามฎีกาที่ ๒๑๘/๒๔๘๘
ในปัญหาเรื่องเรียกค่าขึ้นศาลเพิ่มนั้น จำเลยหาได้โต้แย้งว่าราคาที่แท้จริงมีราคาสูงกว่าที่โจทก์ตีราคามาในฟ้อง การที่โจทก์ตีราคาทรัพย์มาในคำฟ้อง จึงเป็นราคาประมาณเพื่อเรียกค่าธรรมเนียม เมื่อไม่มีเหตุที่ศาลควรสงสัยหรือฝ่ายใดโต้แย้ง จึงไม่มีการเรียกค่าขึ้นศาลเพิ่มมานั้นเป็นการชอบแล้ว
จึงพิพากษายืน