คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1882/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ผู้คัดค้านสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดอุบลราชธานี สังกัดพรรคประชากรไทย แต่ปรากฏว่าผู้คัดค้านเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ทั้งพรรคประชากรไทยและพรรคประชาธิปัตย์ โดยผู้คัดค้านสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปี 2543 และลาออกเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2543 แล้วมาสมัครเป็นสมาชิกใหม่เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2545 การที่ผู้คัดค้านเป็นสมาชิกพรรคประชากรไทยและพรรคประชาธิปัตย์พร้อมกันในขณะสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองแต่เพียงพรรคเดียว ผู้คัดค้านจึงไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 107 (4) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาฯ มาตรา 29
(คำสั่งศาลฎีกา)

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องได้ประกาศรายชื่อผู้คัดค้านเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดอุบลราชธานี สังกัดพรรคประชากรไทย แต่ต่อมาผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งดังกล่าวโต้แย้งว่าผู้คัดค้านไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 107 (4) ผู้ร้องตรวจสอบแล้วผู้คัดค้านเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ด้วยในขณะเดียวกันในวันที่ยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งซึ่งถือว่าเป็นผู้ไม่มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตราดังกล่าว ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งเพิกถอนการสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเคยสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ก่อนปี 2543 แต่ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2543 หลังจากนั้นมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชากรไทยจนถึงปัจจุบัน โดยไม่เคยสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อีกแต่อย่างใด ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคประชากรไทยโดยชอบ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า ผู้คัดค้านสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดอุบลราชธานี สังกัดพรรคประชากรไทย ผู้ร้องได้รับสมัครและประกาศรายชื่อผู้คัดค้านว่าเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งดังกล่าวแล้ว ต่อมามีผู้มีสิทธิเลือกตั้งโต้แย้งว่า ผู้คัดค้านไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 107 (4) ซึ่งบัญญัติมีใจความว่า บุคคลผู้มีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันเนื่องจากในขณะสมัครผู้คัดค้านเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ด้วยในขณะเดียวกัน ผู้ร้องจึงร้องขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งเพิกถอนการสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้าน คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ เห็นว่า จากหลักฐานระบบบริหารฐานข้อมูลพรรคการเมืองสมาชิกพรรคการเมืองของสำนักกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติตามเอกสารแนบท้ายคำร้อง ปรากฏว่าผู้คัดค้านเป็นสมาชิกพรรคการเมืองทั้งพรรคประชากรไทยและพรรคประชาธิปัตย์ โดยสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2545 และผู้อำนวยการพรรคประชาธิปัตย์ก็มีหนังสือที่ ปชป.4990037/2549 ลงวันที่ 10 มีนาคม 2549 ถึงผู้ร้องยืนยันว่าผู้คัดค้านสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปี 2543 และลาออกเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2543 แล้วมาสมัครเป็นสมาชิกใหม่เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2545 โดยเป็นสมาชิกพรรคหมายเลข 452500326 ซึ่งสอดคล้องกันกับระบบบริหารฐานข้อมูลพรรคการเมือง สมาชิกพรรคการเมืองของทางราชการดังกล่าว พยานหลักฐานของผู้ร้องจึงมีน้ำหนักรับฟัง ที่ผู้คัดค้านอ้างว่าไม่เคยสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ใหม่ในปี 2545 เพราะปี 2544 ผู้คัดค้านประสบอุบัติเหตุได้รับอันตรายแก่กายสาหัสมีเลือดออกในสมองและปวดกระดูกสันหลังที่ 5 ทั้งถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งฟ้องคดีเรื่องการส่งบัญชีเลือกตั้งในปี 2545 จึงไม่คิดสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดเพิ่มอีกนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นการกล่าวอ้างเองลอย ๆ จึงไม่มีน้ำหนักรับฟังและไม่น่าเชื่อถือ เชื่อว่าผู้คัดค้านเป็นสมาชิกพรรคประชากรไทยและพรรคประชาธิปัตย์พร้อมกันในขณะสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองแต่เพียงพรรคเดียว ผู้คัดค้านจึงไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 107 (4) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 29 ตามคำร้องของผู้ร้อง อนึ่ง ที่ผู้คัดค้านแถลงต่อศาลฎีกาว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ยื่นคำโต้แย้งว่าผู้คัดค้านไม่มีคุณสมบัติสมัครรับเลือกตั้งมีเพียง 1 คน ไม่ถึง 10 คน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เมื่อรับฟังได้ว่าผู้คัดค้านไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวแล้ว คำแถลงนี้ก็ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป”
จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดอุบลราชธานี ของนายกูฏชิน หรือวิทยา รักษาศรี ผู้คัดค้าน

Share