คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2434/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นบุตรของ ศ. จึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกในที่ดินพิพาทส่วนของ ศ. เมื่อโจทก์ไปขอให้จำเลยดำเนินการแบ่งแยกที่ดินพิพาทแก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย ถือว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
แม้จำเลยจะเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทเพียงผู้เดียว แต่เมื่อจำเลยกับ ศ. เป็นเจ้ากรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท ศ. ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งและเมื่อจำเลยไม่ได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการบ่งชี้ว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดที่ดินพิพาท การที่จำเลยครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจึงเป็นการครอบครองไว้แทน ศ. เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมด้วย
โจทก์เป็นบุตรของ ศ. ผู้ตาย จึงอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (1) มีสิทธิรับมรดกของ ศ. ส่วนจำเลยเป็นเพียงพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับ ศ. เป็นทายาทโดยธรรมในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของ ศ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกรายนี้ และโจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยผู้ครอบครองแทน กรณีมิใช่เรื่องเรียกร้องส่วนแบ่งในทรัพย์มรดก จำเลยจึงไม่อาจยกอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง มาตัดฟ้องโจทก์ได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 3882 ตำบลครบุรี อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา แก่โจทก์เพื่อนำไปจดทะเบียนรับโอนที่ดินส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของนางศรีหรือสี เนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 90 ตารางวา และแบ่งแยกที่ดินให้จำเลยตามส่วน หากจำเลยไม่ส่งมอบโฉนดที่ดินและไม่ไปลงชื่อรับการแบ่งแยก ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และหากโจทก์จำเลยไม่สามารถแบ่งแยกที่ดินกันได้ ให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันกันตามส่วน
จำเลยให้การยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยดำเนินการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 3882 ตำบลครบุรี อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ให้โจทก์กึ่งหนึ่ง หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากโจทก์จำเลยไม่สามารถแบ่งที่ดินดังกล่าวได้ ให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันกันตามส่วน
จำเลยอุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน แต่ค่าธรรมเนียมศาลในศาลชั้นต้นที่จำเลยจะต้องใช้แทนโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นตันนั้น ให้จำเลยชำระต่อศาลในนามของโจทก์
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า จำเลยและนางศรีหรือสี พันกระโทก เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 3882 ตำบลครบุรี อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ตามสำเนาโฉนดที่ดิน นางศรีหรือสีถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2525 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์และนายอินทร์ ชาพล เบิกความเป็นพยานทำนองเดียวกันว่า โจทก์เป็นบุตร นายสมร ชาพล กับนางศรีหรือสี พันกระโทก บิดามารดาโจทก์ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน หลังจากนางศรีหรือสีถึงแก่ความตาย โจทก์ไปหานายอินทร์ให้พาไปพบจำเลยเพื่อขอแบ่งที่ดินส่วนของนางศรีหรือสี จำเลยให้โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจและบอกว่าจะนำเงินมาให้โจทก์หรือแบ่งที่ดินให้ แต่ไม่บอกว่าจะนำเงินมาให้เท่าใดหรือแบ่งที่ดินให้เท่าใด โจทก์จึงไม่ยอมลงลายมือชื่อ โจทก์คิดว่าจำเลยจะโกงจึงไปหาเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอครบุรีเล่าเหตุการณ์ให้ฟัง เจ้าพนักงานที่ดินตรวจสอบเอกสารสิทธิพบว่าที่ดินดังกล่าวมีหลักฐานเป็นโฉนดที่ดินและได้แนะนำโจทก์ให้ไปยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของนางศรีหรือสี ศาลจังหวัดบุรีรัมย์มีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางศรีหรือสี โจทก์นำคำสั่งศาลดังกล่าวไปหาเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอครบุรี เพื่อดำเนินการแบ่งแยกที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินเรียกจำเลยมาเจรจาให้แบ่งที่ดินแก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง จำเลยไม่ยอม และโจทก์มี นายสำราญ โพธิ์กิ่ง เจ้าพนักงานที่ดิน สำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาครบุรี เบิกความสนับสนุนว่า ปี 2541 โจทก์ไปพบพยานเพื่อขอตรวจสอบที่ดินของมารดาที่มีชื่อร่วมกับน้าชาย พยานสอบถามโจทก์แล้วปรากฏว่าชื่อและนามสกุลของมารดาโจทก์ไม่ตรงกัน โจทก์บอกว่ามารดาโจทก์ไปแต่งงานใหม่และใช้ชื่อสกุลของสามีเนื่องจากที่ดินมีหลักฐานเป็นโฉนดที่ดิน พยานแนะนำให้โจทก์ไปร้องต่อศาลขอตั้งผู้จัดการมรดก ต่อมาศาลจังหวัดบุรีรัมย์มีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของมารดา โจทก์นำคำสั่งศาลมาจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดิน พยานเรียกจำเลยมาและแนะนำให้จำเลยแบ่งที่ดินตามสิทธิที่มีอยู่คนละครึ่ง จำเลยไม่ยอมแบ่งโดยอ้างว่าดูแลมาแทนมารดาโจทก์ พยานจึงแนะนำโจทก์ให้ไปใช้สิทธิทางศาล ฝ่ายจำเลยมีตัวจำเลยเบิกความลอย ๆ ว่า จำเลยไม่เชื่อว่าโจทก์เป็นบุตรนางศรีหรือสีเพราะไม่มีหลักฐานมายืนยัน เห็นว่า พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องต้องกัน โจทก์นอกจากจะมีพยานบุคคลมาเบิกความแล้วยังมีพยานเอกสารคือ สำเนาคำสั่งศาลจังหวัดบุรีรัมย์ สำเนาทะเบียนบ้านและหนังสือรับรองของนายอำเภอประทาย มานำสืบประกอบเพื่อยืนยันว่าโจทก์เป็นบุตรของนางศรีหรือสี และนางศรี ผันกระโทก กับนางศรี พันกระโทก เป็นบุคคลคนเดียวกับนางสี พันกระโทก พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักน่ารับฟังมากกว่าพยานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นบุตรของนางศรีหรือสี พันกระโทก จึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกในที่ดินพิพาทส่วนของนางศรีหรือสีเมื่อโจทก์ไปขอให้จำเลยดำเนินการแบ่งแยกที่ดินพิพาทแก่โจทก์แต่จำเลยเพิกเฉยถือว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปมีว่า ก่อนถึงแก่ความตาย นางศรีหรือสี ยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยในที่ดินพิพาทหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า นางศรีหรือสีออกไปจากภูมิลำเนาโดยแสดงเจตนาชัดแจ้งขอสละที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทำกินโดยไม่ขอเกี่ยวข้องแต่อย่างใด จนกระทั่งนางศรีหรือสีถึงแก่ความตาย จำเลยทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน จำเลยมิได้ครอบครองแทนบุคคลอื่นนั้น เห็นว่าแม้จำเลยจะเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทเพียงผู้เดียวก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกับนางศรีหรือเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่ง นอกจากนี้ทางนำสืบของจำเลยก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการบ่งชี้ว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทแต่อย่างใด การที่จำเลยครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจึงเป็นการครอบครองไว้แทนนางศรีหรือสีเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมด้วย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า จำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเกี่ยวกับนางศรีหรือสี จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมาย โจทก์ไม่เคยใช้สิทธิในฐานะทายาทเรียกร้องขอแบ่งปันมรดกแต่อย่างใด ซึ่งเป็นการส่อเจตนาชัดแจ้งว่าโจทก์ขอสละมรดกของเจ้ามรดก ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า โจทก์เป็นบุตรของนางศรี หรือสีผู้ตาย จึงอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 (1) มีสิทธิรับมรดกของนางศรีหรือสี ส่วนจำเลยเป็นเพียงพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนางศรีหรือสี เป็นทายาทโดยธรรมในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิ์ในทรัพย์มรดกของนางศรีหรือสี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อจำเลยมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกรายนี้ และโจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยผู้ครอบครองแทน กรณีมิใช่เรื่องเรียกร้องส่วนแบ่งในทรัพย์มรดก จำเลยจึงไม่อาจยกอายุความมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง มาตัดฟ้องโจทก์ได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share