แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีที่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้
โจทก์ฟ้องว่า คำโฆษณาของจำเลยหยาบคายผิดวิสัยปัญญาชนของชาวหนังสือพิมพ์พึงกระทำ โดยกล่าวถ้อยคำดูหมิ่นเหยียดหยามโจทก์ ซึ่งโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานโฆษณาดูหมิ่น ตามมาตรา 393 การที่โจทก์อ้างความผิดฐานหมิ่นประมาทและขอให้ลงโทษตามมาตรา 326, 328 อันเป็นบทมาตราที่ผิด เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังโจทก์ฟ้องศาลมีอำนาจที่จะลงโทษจำเลยในข้อเท็จจริงนั้นและตามฐานความผิดที่ถูกต้อง คือ ความผิดฐานโฆษณาดูหมิ่น ตามมาตรา 393 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสี่
ย่อยาว
คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้อำนวยการบริษัทสยามรัฐจำกัด จำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามรัฐ จำเลยได้บังอาจพิมพ์ข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ลงในหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวันฉบับลงวันที่ 12 ตุลาคม 2507 ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีโจทก์มีมูล ให้ประทับฟ้องไว้
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การที่จำเลยตั้งหัวเรื่องว่า “บริการจิ้งเหลือง”กับภิกษุในพุทธศาสนานั้น ย่อมเป็นการล่วงเกินโจทก์เท่ากับจำเลยเอาพระภิกษุไปเปรียบเทียบกับสัตว์เลื้อยคลาน การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานโฆษณาดูหมิ่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 มิใช่เป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ แต่กรณีเป็นเรื่องที่มีข้อเท็จจริงคาบเกี่ยวกันอันจะเป็นความผิดกฎหมายได้หลายบท มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์สละสิทธิมิให้ลงโทษจำเลยตามมาตราอื่นที่มิได้อ้าง ทั้งนี้ ตามนัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรค 4 ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ จริงอยู่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 เป็นเรื่องที่ผู้ดูหมิ่นจะต้องกล่าวต่อผู้ถูกดูหมิ่นโดยตรง แต่เมื่อจำเลยเอาไปโฆษณาจึงต้องอยู่ในฐานะเป็นตัวการ สำหรับจำเลยที่ 1 เป็นผู้อำนวยการไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการและผู้พิมพ์ ต้องรับผิด และพระภิกษุมีสิทธิฟ้องความได้ จึงพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานโฆษณาดูหมิ่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 ปรับ 300 บาท บังคับค่าปรับตามมาตรา 29, 30 ข้ออื่นให้ยกเสีย ส่วนจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องในข้อหาเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 เสีย นอกจากที่แก้นี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาปรึกษาแล้วข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา บริษัทสยามรัฐจำกัดเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ จำเลยที่ 1 เป็นผู้อำนวยการ จำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์และผู้โฆษณาเมื่อเดือนสิงหาคม 2507 โจทก์จะไปทอดกฐินที่สิงคโปร์ โจทก์ได้ให้นายพิพัฒน์ไปจ้างโรงพิมพ์พิมพ์บัตรเชิญใจความว่า เพื่อส่งเสริมวัดไทยในต่างประเทศให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้น จึงขอเชิญท่านผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลายไปร่วมกุศลสามัคคี ณ วัดอนันทเมตตารามสิงคโปร์ ในวันที่ 22 สิงหาคม 2507 เวลา 19.30 นาฬิกา ออกเดินทางโดยสายการบินไทย จากดอนเมือง รุ่งขึ้นวันทอด เสร็จแล้วนำเที่ยวเมืองสิงคโปร์ มีกำหนด 7 วัน และในเดือนตุลาคม 2507 ได้มีหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเสียงอ่างทองลงโฆษณาว่า “ท่านอาจารย์พระมหาพิชิตคณะ 15 วัดมหาธาตุ ขอบอกบุญมายังสัปปุรุษและสีกาทั้งหลายร่วมการกุศลทอดกฐินสามัคคี ณ วัดอนันทเมตตาราม ที่สิงคโปร์เพื่อส่งเสริมวัดไทยในต่างประเทศให้เจริญยิ่งขึ้น โดยกำหนดออกเดินทางโดยเครื่องบินจากดอนเมืองวันที่ 22 ตุลาคม ศกนี้ เวลา 19.30 นาฬิกา เสร็จงานทอดกฐินแล้วจะมีการทัศนาจรสิงคโปร์มีกำหนด 7 วัน ค่าเดินทางทั้งไปและกลับตลอดจนค่าหนังสือเดินทางและที่พัก ค่านำเที่ยวค่าอาหารรวมคนละ 5,000 บาท ติดต่อไปที่พระมหาพิชิต คณะ 15 วัดมหาธาตุ หรือโทรศัพท์เลขหมาย 28616 เฉพาะหนังสือพิมพ์สยามรัฐฉบับลงวันที่ 12 ตุลาคม 2507 ได้พิมพ์ลงในช่องขัดจังหวะ โดยพาดหัวว่า “บริการจิ้งเหลือง” และลงท้ายว่า “(ใบฎีกาจากวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์)จงทำดี จงทำดี จงทำดี และในโอกาสนี้หวังว่าจะไม่มีบริการประกวดยอดสีกาด้วยนะครับ นายรำคาญ” และได้มีชาย 2 คน หญิง 6 คนไปทอดกฐินตามบัตรเชิญและคำโฆษณาดังกล่าว
คำโฆษณาของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยว่าเป็นข้อความที่ดูหมิ่นโจทก์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 มาถูกต้องแล้ว มีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเพียงข้อเดียวว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวในฟ้องและที่ปรากฏในทางพิจารณา เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยฐานโฆษณาดูหมิ่นหรือไม่เท่านั้น
ศาลฎีกาได้พิเคราะห์คำฟ้องของโจทก์และพยานหลักฐานโจทก์จำเลยโดยตลอดแล้วเห็นว่า ข้อความหมิ่นประมาทนั้นอาจเป็นข้อความตามข้อเท็จจริง หรือความคิดเห็นโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นเกลียดชัง หรือถูกเกลียดชัง ส่วนคำดูหมิ่นไม่เป็นการกล่าวข้อเท็จจริงใด ๆ แต่เป็นคำกล่าวอันทำให้เป็นที่ดูถูกดูหมิ่น เหยียดหยาม ด่าแช่ง ค่อนขอด ฯลฯ ตามฟ้องของโจทก์ได้ระบุว่า คำโฆษณาของจำเลยหยาบคาย ผิดวิสัยปัญญาชนชาวหนังสือพิมพ์พึงกระทำ เพราะคำว่า “จิ้ง”นั้นใช้นำหน้าสำหรับเรียกสัตว์เลื้อยคลาน หรือสัตว์สี่เท้าเท่านั้น เช่น จิ้งเหลน จิ้งจอก เป็นต้น คำว่า “เหลือง” ก็มีนัยหมายถึง โจทก์ซึ่งเป็นพระภิกษุนุ่งห่มผ้าเหลือง ทั้งนี้ เป็นการส่อสำแดงเหยียดหยามค่อนขอดโจทก์เท่านั้นย่อมถือได้ว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานโฆษณาดูหมิ่นตามมาตรา 393 การที่โจทก์อ้างความผิดฐานหมิ่นประมาท และขอให้ลงโทษตามมาตรา 393 การที่โจทก์อ้างความผิดฐานหมิ่นประมาท และขอให้ลงโทษตามมาตรา 326, 328 อันเป็นบทมาตราที่ผิด เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังโจทก์ฟ้อง ศาลย่อมลงโทษจำเลยในข้อเท็จจริงนั้น และตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้คือ ความผิดฐานโฆษณาดูหมิ่นตามมาตรา 393 ดังกล่าวได้ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น