คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2568/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30, 31 เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งถึงที่สุดในชั้นอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง เมื่อผู้คัดค้านฎีกาโดยไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีการับคดีไว้พิจารณาพร้อมกับฎีกาภายในกำหนด ตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุด ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาผู้คัดค้านมาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโนเกีย หมายเลข08 1385 7132 และรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า หมายเลขทะเบียน ขคต สกลนคร 963 ของกลาง ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30, 31
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ประกาศในหนังสือพิมพ์ที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นสองวันติดต่อกันแล้ว เพื่อให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินมายื่นคำร้องขอเข้ามาในคดี
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องและคืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่ผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโนเกีย หมายเลข 08 1385 7132 ของกลาง ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดส่วนรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า หมายเลขทะเบียน ขคต สกลนคร 963 ของกลางให้คืนแก่ผู้คัดค้าน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับความผิดยาเสพติดจึงอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ซึ่งมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติว่า “ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยมิชักช้า และภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 16 และมาตรา 19 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด” และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่งแล้ว คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้” ดังนี้ เมื่อผู้คัดค้านฎีกาโดยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่งที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาผู้คัดค้านจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาผู้คัดค้าน

Share