คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่า โจทก์ตกลงยินยอมและสัญญาว่าจะไม่ดำเนินการฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและอาญาแก่จำเลย และไม่ติดใจเรียกร้องเงินใด ๆ จากจำเลยอีกต่อไป กับจำเลยไม่มีหนี้สินใด ๆ ที่จะต้องชำระให้โจทก์อีก เมื่อสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี แม้จะเป็นเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 45 แต่ก็อยู่ในความหมายของคำว่าเงินใด ๆ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเช่นเดียวกัน ซึ่งสัญญาดังกล่าวทำขึ้นหลังจากที่โจทก์พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลยไปแล้ว โจทก์ย่อมมีอิสระพ้นพันธะและอำนาจบังคับบัญชาของจำเลยโดยสิ้นเชิง การทำสัญญาเป็นไปโดยความสมัครใจของคู่สัญญาโดยแท้จริง จึงไม่ขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานและไม่เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150 มีผลผูกพันโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 240,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 90,999 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี59,499 บาท และค่าจ้างระหว่างพักงาน 85,354 บาท รวมเป็นเงิน 475,842 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 45,000 บาท จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2541เพราะโจทก์กระทำผิดอย่างร้ายแรง และเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2541 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเรียกค่าจ้างค้างจ่ายเดือนกุมภาพันธ์ 2541 จำนวน 40,000 บาท โดยอ้างว่าโจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ 85,000 บาท เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2541โจทก์และจำเลยสามารถตกลงกันได้ โดยจำเลยจ่ายเงินช่วยเหลือโจทก์จำนวน 20,000 บาท และโจทก์ไม่ติดใจดำเนินคดีอีกต่อไป ขอถอนฟ้อง หลังจากนั้นโจทก์เจรจากับจำเลยขอให้ทำเป็นว่าโจทก์ขอลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยแทนการเลิกจ้างและให้จำเลยจ่ายเงินช่วยเหลือแก่โจทก์โดยคำนวณจากฐานเงินเดือน 45,000 บาท เป็นสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย 180 วัน ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เงินช่วยเหลืออื่น ๆ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น491,196 บาท แล้วจะไม่ดำเนินการฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและทางอาญากับไม่ติดใจเรียกร้องเงินอื่นใดกับจำเลยอีกต่อไป เมื่อตกลงกันแล้ว โจทก์นำคดีมาฟ้องอีกจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามฟ้องและไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ เนื่องจากโจทก์ทำงานไม่ครบ 1 ปี จำเลยไม่ได้จัดให้พนักงานและฝ่ายบริหารหยุดพักรับประทานอาหารกลางวัน 30 นาที โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างระหว่างพักงาน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ตกลงไม่ติดใจเรียกร้องเงินใดจากจำเลยอีกต่อไปตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย ล.10เอกสารดังกล่าวขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง คุ้มครองแรงงาน จึงเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า จำเลยจ่ายเงินให้โจทก์ตามเอกสารหมาย ล.10 จำนวน 491,196บาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวมีค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วันจำนวน 270,000 บาท ที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46(3) รวมอยู่ด้วยครบถ้วนแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยนอกเหนือจากที่ระบุในเอกสารดังกล่าวอีก ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น โจทก์ได้รับไปแล้วเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 1 เดือนคงขาดไป 18 วัน แต่โจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามเอกสารหมาย ล.10 ข้อ 3. ว่า โจทก์ตกลงยินยอมและสัญญาว่าจะไม่ดำเนินการฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและอาญาแก่จำเลย และไม่ติดใจเรียกร้องเงินใด ๆ จากจำเลยอีกต่อไปกับจำเลยไม่มีหนี้สินใด ๆ ที่จะต้องชำระให้โจทก์อีก ดังนี้สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าก็เป็นเงินใด ๆ อย่างหนึ่งที่โจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ติดใจเรียกร้องเพิ่มเติมจากที่ได้ตกลงกันตามสัญญาดังกล่าว ส่วนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้น แม้จะเป็นเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 45 แต่ก็อยู่ในความหมายของคำว่าเงินใด ๆ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเช่นเดียวกัน ซึ่งสัญญาดังกล่าวทำขึ้นเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2541 อันเป็นเวลาหลังจากที่โจทก์พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลยเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2541ไปแล้ว โจทก์ย่อมมีอิสระพ้นพันธะและอำนาจบังคับบัญชาของจำเลยโดยสิ้นเชิงการทำสัญญาเอกสารหมาย ล.10 จึงเป็นไปโดยความสมัครใจของคู่สัญญาโดยแท้จริงจึงไม่ขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานและไม่เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150สัญญาประนีประนอมยอมความ ตามเอกสารหมาย ล.10 มีผลผูกพันโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามฟ้อง

พิพากษายืน

Share