คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2584/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) บัญญัติห้ามเฉพาะการขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างว่ายังมีข้อความเพิ่มเติมหรือแก้ไขข้อความในเอกสาร เมื่อมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงเท่านั้น การที่ผู้คัดค้านร่วมนำสืบกรรมการของผู้คัดค้านร่วมเป็นพยานประกอบสำเนาเช็คทั้งสี่ฉบับว่า ผู้คัดค้านร่วมชำระราคาที่ดินพิพาทที่ซื้อขายให้แก่จำเลยที่ 2 ต่างไปจากราคาที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน เป็นการนำสืบถึงข้อความจริงว่าผู้คัดค้านร่วมซื้อทรัพย์พิพาทจากจำเลยที่ 2 มาในราคาเท่าใด มิใช่เป็นการนำสืบเพื่อให้บังคับตามสัญญาซื้อขายจึงไม่ต้องด้วยหลักกฎหมายปิดปากและไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)
การซื้อขายทรัพย์พิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 และผู้คัดค้านร่วมได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 456 ดังนี้ การซื้อขายทรัพย์พิพาทโดยไม่ระบุราคาซื้อขายอันแท้จริงลงในหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินไม่ตกเป็นโมฆะ การที่ผู้คัดค้านร่วมกับจำเลยที่ 2 ระบุราคาซื้อขายทรัพย์พิพาทต่ำกว่าราคาซื้อขายที่แท้จริงลงในหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน แม้จะเป็นการหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม แต่ไม่เป็นข้อเท็จจริงที่แสดงว่าการโอนทรัพย์พิพาทได้กระทำโดยไม่สุจริตตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 114(เดิม)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลาย ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านดำเนินการขอเพิกถอนการโอนที่ดินพร้อมตึกสามชั้น อันเป็นทรัพย์พิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับบริษัทศรียนต์พัฒนา(1978) จำกัด ผู้รับโอนซึ่งได้กระทำการโอนกันในระหว่างระยะเวลา 3 ปี ก่อนมีการขอให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายผู้คัดค้านสอบสวนแล้วมีคำสั่งไม่ดำเนินการขอเพิกถอนการโอนทรัพย์พิพาท

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของผู้คัดค้านที่ไม่เพิกถอนการโอนทรัพย์พิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับบริษัทศรียนต์พัฒนา(1978) จำกัด เพราะจำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายทรัพย์พิพาทให้แก่บริษัทศรียนต์พัฒนา(1978) จำกัด ในราคา 1,300,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างมาก ถือไม่ได้ว่าบริษัทศรียนต์พัฒนา (1978) จำกัด รับโอนโดยสุจริต ส่วนที่ผู้คัดค้านสอบสวนได้ความว่า จำเลยที่ 2 กับบริษัทศรียนต์พัฒนา (1978) จำกัด ซื้อขายทรัพย์พิพาทในราคา 2,000,000 บาท เป็นการฟังพยานบุคคลเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 และที่บริษัทศรียนต์พัฒนา (1978) จำกัด กล่าวอ้างว่าซื้อขายทรัพย์พิพาทในราคา 2,000,000 บาท ก็มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน จึงตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 การที่ผู้คัดค้านฟังข้อเท็จจริงว่าทรัพย์พิพาทซื้อขายกันในราคา 2,000,000 บาท นอกเหนือไปจากหนังสือสัญญาขายที่ดินจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้คัดค้านต้องฟังตามราคาซื้อขายที่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นการซื้อขายกันในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงและเป็นการโอนกันโดยไม่สุจริต ขอให้กลับคำสั่งผู้คัดค้านโดยให้ผู้คัดค้านดำเนินการขอเพิกถอนการโอนทรัพย์พิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับบริษัทศรียนต์พัฒนา (1978) จำกัด

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า การฟังพยานบุคคล พยานเอกสารและหลักฐาน ต่าง ๆ ประกอบกันเพื่อทราบราคาซื้อขายทรัพย์พิพาทที่แท้จริงว่าเป็นราคาเท่าใดไม่ใช่เป็นการฟังพยานบุคคลเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร การโอนทรัพย์พิพาทจึงมีค่าตอบแทนที่เหมาะสมแล้ว ไม่ทำให้เจ้าหนี้คดีนี้เสียหาย นอกจากนี้ไม่ปรากฏพฤติการณ์ใด ๆ แสดงให้เห็นว่าการโอนมีพิรุธหรือสมยอมกัน ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นว่าบริษัทศรียนต์พัฒนา (1978) จำกัด ได้รู้เท่าถึงข้อความจริงว่าการรับโอนทรัพย์พิพาททำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เมื่อข้อเท็จจริงตามทางสอบสวนได้ความว่า การโอนทรัพย์พิพาทได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนเหมาะสมกับราคาทรัพย์พิพาทแล้ว จึงไม่มีเหตุเพิกถอนการโอน ขอให้ยกคำร้อง

ระหว่างพิจารณา บริษัทศรียนต์พัฒนา (1978) จำกัด ผู้รับโอน ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นผู้คัดค้านร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต

ผู้คัดค้านร่วมยื่นคำคัดค้านว่า การที่ผู้คัดค้านฟังข้อเท็จจริงว่าการโอนทรัพย์พิพาทมีค่าตอบแทน 2,000,000 บาท แตกต่างไปจากที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาขายที่ดินนั้น ไม่มีบทกฎหมายใดห้ามมิให้รับฟัง และไม่มีบทบัญญัติใดบังคับว่าในการจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานหากแจ้งราคาซื้อขายไม่ตรงกับความเป็นจริงแล้วหนังสือสัญญาขายที่ดินตกเป็นโมฆะ และราคาซื้อขายทรัพย์พิพาทที่แท้จริงก็สูงกว่าราคาประเมินของสำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดี จึงเป็นราคาที่เหมาะสมแล้วทั้งการโอนก็ได้กระทำโดยสุจริต ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ที่ผู้ร้องฎีกาว่า หนังสือสัญญาขายที่ดินตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย ร.1 ระบุว่าจำเลยที่ 2 ขายทรัพย์พิพาทให้แก่ผู้คัดค้านร่วมในราคา 1,300,000 บาท จึงต้องฟังราคาซื้อขายทรัพย์พิพาทตามที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาขายที่ดินที่จดทะเบียนไว้เท่านั้น เพราะหนังสือสัญญาขายที่ดินที่จดทะเบียนดังกล่าวมีผลผูกพันคู่สัญญาตามหลักกฎหมายปิดปากการที่ผู้คัดค้านร่วมนำสืบว่าซื้อทรัพย์พิพาทมาในราคา 2,000,000 บาท โดยราคาดังกล่าวไม่ได้ทำเป็นหนังสือจึงเป็นโมฆะและรับฟังไม่ได้ ทั้งเป็นการนำสืบพยานบุคคลเพื่อแก้ไขหนังสือสัญญาขายที่ดินดังกล่าว ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84(ข) นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) บัญญัติห้ามเฉพาะการขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างว่ายังมีข้อความเพิ่มเติมหรือแก้ไขข้อความในเอกสาร เมื่อมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงเท่านั้น แต่การที่ผู้คัดค้านร่วมนำสืบนายมนตรี อัศวาจารย์ และนางพรพิไล วงศ์กิตติโชติ กรรมการของผู้คัดค้านร่วมเป็นพยานประกอบสำเนาเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักพลับพลาไชย สำเนาแคชเชียร์เช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักพลับพลาไชย สำเนาบัญชีกระแสรายวันธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักพลับพลาไชยและสำเนาบัญชีกระแสรายวันธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ เอกสารหมาย ค.6, ค.7 และ ค.13 ว่าผู้คัดค้านร่วมชำระราคาทรัพย์พิพาทที่ซื้อขายให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นจำนวนเงิน 2,000,000 บาท เป็นการนำสืบถึงข้อความจริงว่าผู้คัดค้านร่วมซื้อทรัพย์พิพาทจากจำเลยที่ 2 มาในราคาเท่าใด มิใช่เป็นการนำสืบเพื่อให้บังคับตามสัญญาซื้อขายจึงไม่ต้องด้วยหลักกฎหมายปิดปากและไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) แม้ทรัพย์พิพาทจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ แต่การซื้อขายทรัพย์พิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 และผู้คัดค้านร่วมได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 ดังนี้ การซื้อขายทรัพย์พิพาทโดยไม่ระบุราคาซื้อขายอันแท้จริงลงในหนังสือสัญญาขายที่ดินที่จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินจึงไม่ตกเป็นโมฆะ และการที่ผู้คัดค้านร่วมกับจำเลยที่ 2 ระบุราคาซื้อขายทรัพย์พิพาทต่ำกว่าราคาซื้อขายที่แท้จริงลงในหนังสือสัญญาขายที่ดินนั้น แม้จะเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีและค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมก็ตาม แต่ไม่เป็นข้อเท็จจริงที่แสดงว่าการโอนทรัพย์พิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 ผู้โอน และผู้คัดค้านร่วมผู้รับโอนได้กระทำโดยไม่สุจริตตามที่พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114(เดิม) มุ่งหมายบัญญัติไว้ เมื่อผู้ร้องไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าผู้คัดค้านร่วมรับโอนทรัพย์พิพาทไม่สุจริตอย่างไร ทั้งมิได้นำสืบโต้แย้งราคาซื้อขายทรัพย์พิพาทตามที่ผู้คัดค้านได้ความจากทางสอบสวนว่าไม่ถูกต้องแต่ผู้คัดค้านและผู้คัดค้านร่วมนำสืบนายมนตรีและนางพรพิไลเป็นพยานยืนยันว่าผู้คัดค้านร่วมซื้อทรัพย์พิพาทมาในราคา 2,000,000 บาท โดยนายมนตรีสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักพลับพลาไชย จำนวนเงิน200,000 บาท ตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย ค.6 เป็นค่าวางมัดจำ นอกจากนี้ผู้คัดค้านร่วมโดยนายมนตรี ยังสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)สำนักพลับพลาไชย จำนวนเงิน 1,487,607 บาท ให้นางพรพิไลซื้อแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) ให้จำเลยที่ 2 เพื่อชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองทรัพย์พิพาทจากธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) ตามสำเนาเช็คและสำเนาแคชเชียร์เช็คเอกสารหมาย ค.7 ซึ่งเช็คค่าวางมัดจำเช็คที่สั่งจ่ายเพื่อซื้อแคชเชียร์เช็ค และแคชเชียร์เช็คได้มีการเรียกเก็บเงินไปแล้ว ตามสำเนาบัญชีกระแสรายวันธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักพลับพลาไชย และสำเนาบัญชีกระแสรายวันธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ เอกสารหมาย ค.7 และ ค.13 สำหรับราคาทรัพย์พิพาทส่วนที่เหลือชำระเป็นเงินสด 312,393 บาท พยานหลักฐานของผู้คัดค้านและผู้คัดค้านร่วมจึงฟังได้ว่า การโอนทรัพย์พิพาทมีค่าตอบแทน2,000,000 บาท เมื่อราคาประเมินทรัพย์พิพาท ในปี 2531 อันเป็นระยะเวลาที่จำเลยที่ 2 โอนทรัพย์พิพาทให้แก่ผู้คัดค้านร่วมมีราคา 1,678,788 บาท ตามที่สำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดีประเมินราคาไว้ ดังนั้น ราคาซื้อขายทรัพย์พิพาทจึงสูงกว่าราคาประเมิน ถือได้ว่าเป็นราคาซื้อขายที่เหมาะสม ในขณะที่ผู้คัดค้านร่วมรับโอนทรัพย์พิพาทแล้ว จึงเห็นว่า พยานหลักฐานที่ผู้คัดค้านและผู้คัดค้านร่วมนำสืบมานั้นสามารถแสดงให้พอใจได้ว่าการโอนทรัพย์พิพาทได้กระทำโดยสุจริต ที่ผู้คัดค้านมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องที่ให้ดำเนินการขอเพิกถอนการโอนทรัพย์พิพาท และที่ศาลล่างทั้งสองให้ยกคำร้องของผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share