คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6658/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยกู้ยืมเงิน ม. แล้วมอบเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้ไว้เป็นประกันเงินกู้โดยลงแต่เพียงลายมือชื่อสั่งจ่าย ไม่ได้กรอกข้อความและจำนวนเงินไว้ ม. กรอกข้อความและจำนวนเงินในภายหลัง แล้วโจทก์นำมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ เช็คพิพาททั้งสองฉบับจึงมีรายการขาดตกบกพร่องในขณะออกเช็ค โดยไม่มีคำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 988 (2) ไม่สมบูรณ์เป็นเช็คตาม ป.พ.พ. มาตรา 987 และมาตรา 910 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง ทั้งเช็คพิพาททั้งสองฉบับก็มิใช่หลักฐานการกู้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 611,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 600,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยลงลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คทั้งสองฉบับโดยไม่ได้กรอกข้อความให้นางมาลัย กันมาลัย เพื่อเป็นประกันการที่จำเลยกู้ยืมเงินจากนางมาลัยต่อมาจำเลยได้ชำระหนี้ให้แก่นางมาลัยครบถ้วนแล้ว โจทก์กับนางมาลัยคบคิดกันฉ้อฉลโดยนำเช็คทั้งสองฉบับมากรอกข้อความปลอมแล้วนำไปเข้าบัญชีเรียกเก็บเงิน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 611,250 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 600,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายเช็ค 2 ฉบับ เมื่อเช็คทั้งสองฉบับถึงกำหนดชำระเงินแล้วโจทก์ได้นำไปเรียกเก็บเงินธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าเช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นเช็คที่จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายมอบให้แก่นางมาลัย กันมาลัยเพื่อเป็นการประกันการกู้เงิน โดยไม่ได้กรอกข้อความหรือไม่ จำเลยอ้างตนเองเบิกความว่า จำเลยไม่เคยรู้จักโจทก์มาก่อน นางมาลัยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลย จำเลยมอบเงินจำนวน 10,000 บาท ให้นางมาลัยไปติดต่อขอเปิดบัญชีกระแสรายวันกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาหล่มสัก และเป็นผู้รับเช็ค 2 เล่มจากธนาคารเมื่อปลายปี 2536 หรือต้นปี 2537 เป็นต้นมาประมาณ 2 ถึง 3 ปี จำเลยได้กู้ยืมเงินนางมาลัยประมาณ 4 ถึง 5 ครั้ง เป็นเงินประมาณ 300,000 บาท นางมาลัยให้จำเลยลงลายมือชื่อในเช็ค 2 ฉบับ โดยไม่ได้กรอกข้อความ เมื่อเช็คถึงกำหนดแล้วนางมาลัยให้จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คไปเปลี่ยนประมาณ 10 ฉบับ โดยมิได้กรอกข้อความ เพื่อเป็นประกันเงินกู้ เช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นเช็คในกลุ่ม 10 ฉบับดังกล่าว จำเลยได้ชำระเงินกู้คืนนางมาลัยแล้ว นางมาลัยได้นำเช็คเหล่านั้นไปแจกจ่ายให้แก่นายสุวิทย์ ภู่สุวรรณรัตน์ โจทก์ และบุคคลอื่น ๆ นางมาลัยได้นำเช็ค 2 ฉบับดังกล่าวมาฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญา และนายสุวิทย์ก็ได้นำเช็คมาฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาเช่นเดียวกัน ส่วนเช็คพิพาททั้งสองฉบับได้ตกมาอยู่ในความยึดถือของโจทก์โดยโจทก์กับจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน ข้อความในเช็คพิพาททั้งสองฉบับนางมาลัยเป็นคนเขียนเนื่องจากจำเลยจำลายมือของนางมาลัยได้ เห็นว่า ข้อความในเช็คพิพาททั้งสองฉบับมีลักษณะการเขียนเป็นการเขียนตัวตรง โดยเฉพาะอักษรตัว “ส” มีลักษณะและลีลาการเขียนเหมือนกัน เป็นลายมือของคนคนเดียวกัน คนเขียนข้อความในเช็คพิพาททั้งสองฉบับจึงต้องเป็นคนเดียวกัน เมื่อพิจารณาคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันแล้ว เห็นได้ชัดว่าข้อความในเอกสารดังกล่าวมีลักษณะตัวอักษรและลีลาการเขียนเหมือนข้อความในเช็คพิพาททั้งสองฉบับ น่าเชื่อว่าคนเขียนข้อความในเช็คพิพาททั้งสองฉบับและคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันเป็นคนเดียวกัน ได้ความจากคำเบิกความของนางมาลัยในคดีอาญาที่เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยว่า นางมาลัยเบิกความว่าข้อความที่เขียนในคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันไม่ใช่ลายมือของจำเลยคงยืนยันเฉพาะลายมือชื่อเท่านั้นว่าเป็นของจำเลย แสดงว่าจำเลยไม่ได้เขียนข้อความในคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันรวมทั้งเช็คพิพาททั้งสองฉบับด้วย นอกจากนี้ลายมือเขียนข้อความในเช็คพิพาททั้งสองฉบับก็ยังเหมือนกับลายมือเขียนข้อความในรายการเงินต้นและบันทึกการชำระหนี้ ซึ่งนางมาลัยได้เบิกความในคดีอาญาดังกล่าวรับว่าตนเป็นผู้ทำเอกสารนั้น ข้อความในเช็คพิพาททั้งสองฉบับจึงเป็นข้อความที่นางมาลัยเป็นคนเขียนไม่ใช่จำเลยเป็นคนเขียน ข้อเท็จจริงน่าเชื่อตามข้อต่อสู้ของจำเลยว่าจำเลยกู้ยืมเงินนางมาลัยแล้วมอบเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้ไว้เป็นประกันเงินกู้ โดยลงแต่เพียงลายมือชื่อสั่งจ่าย ไม่ได้กรอกข้อความและจำนวนเงินไว้ นางมาลัยกรอกข้อความและจำนวนเงินในภายหลัง แล้วโจทก์จึงนำมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ เช็คพิพาททั้งสองฉบับมีรายการขาดตกบกพร่องในขณะออกเช็ค โดยไม่มีคำสั่งปราศจากเงื่อนไขให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 988 (2) จึงไม่สมบูรณ์เป็นเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 987 และมาตรา 910 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง ทั้งเช็คพิพาททั้งสองฉบับก็มิใช่หลักฐานการกู้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับได้ ที่โจทก์อ้างตนเองเบิกความว่าเมื่อปี 2537 นางมาลัยแนะนำจำเลยให้รู้จักกับโจทก์ จำเลยเริ่มกู้เงินโจทก์ตั้งแต่ปี 2539 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยกู้เงินโจทก์จำนวน 350,000 บาท และวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยได้กู้เงินโจทก์อีก 400,000 บาท ในการกู้เงินดังกล่าวจำเลยติดต่อขอกู้เงินทางโทรศัพท์ โจทก์นำเงินไปให้จำเลยที่บ้านพักของจำเลย จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้าเขียนไว้แล้วมอบไว้ให้โจทก์ ตามเช็คเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ขัดต่อเอกสารหลักฐานได้วินิจฉัยมาแล้ว จึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share