คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1383/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ มาตรา 30 บัญญัติว่าให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนตามความเป็นธรรมไม่ได้บัญญัติถึงรายละเอียดของหลักเกณฑ์ที่จะนำมาใช้คำนึงในการกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนอย่างเป็นธรรมไว้เหมือนดังเช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติหลักเกณฑ์ไว้ว่าให้กำหนดโดยคำนึงถึงกรณีตาม (1) ถึง (5) ดังนั้น ในการที่จะกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนความเป็นธรรมตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศฯ มาตรา 30 ได้นั้น จึงควรคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ในทำนองเดียวกันกับที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) เพื่อใช้เป็นฐานในการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินโดยวันอันเป็นฐานที่ตั้งในการพิจารณาราคาของอสังหาริมทรัพย์และสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าคือ วันที่ประกาศกำหนดเขตสำรวจทั่วไปเพื่อเลือกแนวหรือที่ตั้งระบบไฟฟ้าในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 28 (2) (ข) แห่ง พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ
แม้ พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ มาตรา 30 มิได้กำหนดให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่อยู่นอกแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าไว้เลยก็ตาม แต่ในการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์นั้น ศาลก็จำต้องคำนึงถึงค่าแห่งความเจริญหรือความเสื่อมของที่ดินที่อยู่นอกแนวเขตสายส่งไฟฟ้าซึ่งไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินบริเวณนั้นได้เช่นเดิมด้วยในทำนองเดียวกันกับการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนอันมีราคาเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21 วรรคสามและวรรคสี่
พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ มาตรา 30 ทวิ วรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่าย วางหรือฝากเงินค่าทดแทนนั้น” ได้ความว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะทำการจ่ายเงินค่าทดแทนทรัพย์สินให้แก่โจทก์ในวันที่ 10 มกราคม 2539 เมื่อศาลได้เพิ่มเงินค่าทดแทนทรัพย์สินให้แก่โจทก์อีก ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนที่เพิ่มขึ้นนี้ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2539 อันเป็นวันที่จำเลยจะต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนด เนื้อที่ 108 ไร่ 1 งาน 48 ตารางวา จำเลยได้ดำเนินการก่อสร้างเสาไฟฟ้าแรงสูง และเดินสายส่งไฟฟ้าผ่านที่ดินของโจทก์คิดเป็นเนื้อที่ 5 ไร่ 54 ตารางวา จำเลยได้เสนอชดใช้เงินค่าทดแทนรวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 3,148,724 บาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวต่ำกว่าความเสียหายที่แท้จริง และจำเลยได้เข้าไปสำรวจที่ดินของโจทก์ โดยไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ขอคิดค่าเสียหายในส่วนนี้ 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย เมื่อที่ดินของโจทก์ถูกแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าของจำเลยพาดผ่าน คิดเป็นเนื้อที่ 5 ไร่ 54 ตารางวา และที่ดินของโจทก์เฉพาะส่วนที่อยู่นอกแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าของจำเลยเนื้อที่ 1 งาน 29 ตารางวา รวมกันแล้วเป็นเนื้อที่ 5 ไร่ 1 งาน 83 ตารางวา เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถใช้ประโยชน์และไม่ได้รับประโยชน์จากที่ดินบริเวณดังกล่าว ทำให้ที่ดินของโจทก์ส่วนดังกล่าวเสื่อมค่าและราที่ดินต่ำกว่าราคาที่ดินบริเวณดังกล่าว ซึ่งในท้องตลาดมีการซื้อขายกันตารางวาละ 15,000 บาท โจทก์ขอคิดค่าเสื่อมที่ดินรวมเป็นเงิน 27,287,500 บาท พร้อมดอกเบี้ย ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินท่าทดแทนทรัพย์สินแก่โจทก์จำนวน 31,986,257.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทเงินฝากประจำของธนาคารออมสิน ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายในมูลละเมิดเป็นเงิน 617,020.54 บาท พร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยจ่ายเงินค่าราคาที่ดินเสื่อมและตกต่ำเป็นเงิน 33,673,896.40 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยขอความร่วมมือไปยังกระทรวงมหาดไทยให้พิจารณาแล้วมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สิน คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนฯ มีมติให้กำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณเงินค่าทดแทนความเสียหายให้แก่โจทก์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,148,724 บาท ซึ่งนับว่าเหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายเรียกร้องเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินเนื้อที่ 1 งาน 29 ตารางวา เพราะเป็นที่ดินนอกแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้า โจทก์ยังสามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นได้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าราคาที่ดินเสื่อมลงของที่ดินของโจทก์ตามฟ้องและโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยตามฟ้อง เพราะเป็นกรณีเงินค่าทดแทนที่กำหนดไว้แล้วตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 อันมิใช่เป็นหนี้เงินที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินแก่โจทก์แต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้จำเลยชำระเงินจำนวน 4,120,550 บาท พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยว่า จำเลยได้จ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินของโจทก์ตลอดจนสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้พืชผลให้แก่โจทก์เหมาะสมและเป็นธรรมหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 บัญญัติว่า “ให้ กฟผ. จ่ายเงินค่าทดแทนตามความเป็นธรรมแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สิน… ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) การใช้ที่ดินปักหรือตั้งเสาเพื่อเดินสายส่งไฟฟ้าหรือสายจำหน่ายไฟฟ้า
(2) การใช้ที่ดินปักหรือตั้งสถานีไฟฟ้าย่อยหรืออุปกรณ์อื่น
(3) การใช้ที่ดินประกาศกำหนดเป็นเขตเดินสายไฟฟ้า
(4) การกระทำตามมาตรา 29 (3)…” เท่านั้น บทบัญญัติดังกล่าวนี้ได้บัญญัติไว้กว้างๆ ว่าให้จำเลยจ่าย
เงินค่าทดแทนตามความเป็นธรรม ไม่ได้บัญญัติถึงรายละเอียดของหลักเกณฑ์ที่จะนำมาใช้คำนึงในการกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนอย่างเป็นธรรมไว้เหมือนดังเช่นพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติหลักเกณฑ์ไว้ว่าให้กำหนดโดยคำนึงถึงกรณีตาม (1) ถึง (5) ดังนั้น ในการที่จะกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนตามความเป็นธรรมตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 ได้นั้น จึงควรคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ในทำนองเดียวกันกับที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) เพื่อใช้เป็นฐานในการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินโดยวันอันเป็นฐานที่ตั้งในการพิจารณาราคาของอสังหาริมทรัพย์และสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในแนวเขตเดินสายส่งสายไฟฟ้าคือ วันที่ประกาศกำหนดเขตสำรวจทั่วไปเพื่อเลือกแนวหรือที่ตั้งระบบไฟฟ้าในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 28 (2) (ข) แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 แต่เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานในสำนวนว่าได้มีการประกาศกำหนดเขตสำรวจทั่วไปเพื่อเลือกแนวหรือที่ตั้งระบบไฟฟ้าในราชกิจจานุเบกษาเมื่อใด เพื่อความเป็นธรรมเฉพาะคดีนี้ศาลฎีกาเห็นควรใช้วันที่ 30 ตุลาคม 2535 อันเป็นวันที่อนุมัติในแผนที่ประกาศกำหนดเขตเดินสายส่งไฟฟ้าเป็นวันที่พิจารณาถึงราคาอสังหาริมทรัพย์และสภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ซึ่งอยู่ในแนวเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้า
สำหรับค่าเสื่อมราคาที่ดินของโจทก์ส่วนที่เหลือนอกแนวเขตสายส่งไฟฟ้าของจำเลยเนื้อที่ 1 งาน 29 ตารางวา เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 มิได้กำหนดให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่อยู่นอกแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าไว้เลยก็ตาม แต่ในการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์นั้น ศาลก็จำต้องคำนึงถึงค่าแห่งความเจริญหรือความเสื่อมของที่ดินที่อยู่นอกแนวเขตสายส่งไฟฟ้าซึ่งไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินในบริเวณนั้นได้เช่นเดิมด้วยในทำนองเดียวกันกับการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนอันมีราคาเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคสามและวรรคสี่
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยประการสุดท้ายมีว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นพร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินตั้งแต่เมื่อใด เห็นว่า พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 ทวิ วรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายวางหรือฝากเงินค่าทดแทนนั้น” ได้ความจากหนังสือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เรื่อง การจ่ายเงินค่าทดแทนทรัพย์สิน ว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะทำการจ่ายเงินค่าทดแทนทรัพย์สินให้แก่โจทก์ในวันที่ 10 มกราคม 2539 เมื่อศาลได้เพิ่มเงินค่าทดแทนทรัพย์สินให้แก่โจทก์อีก ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนที่เพิ่มขึ้นนี้ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2539 อันเป็นวันที่จำเลยจะต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2539 นั้น ชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์และจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินเพิ่มขึ้นจำนวน 1,029,950 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share