คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3279/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 66 วรรคสาม อันเป็นคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต ซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นบัญญัติว่า “ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้” ศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยทั้งสองเรื่องทนายความแล้ว จำเลยที่ 1 แถลงไม่ต้องการทนายความแต่ศาลชั้นต้นให้มีหนังสือขอแรงทนายความให้จำเลยทั้งสอง ซึ่งรวมถึงจำเลยที่ 1 แต่หลังจากนั้นมีการตั้งทนายความให้จำเลยที่ 2 เพียงคนเดียวแล้วดำเนินคดีไปจนเสร็จการพิจารณา โดยไม่มีการตั้งทนายความให้จำเลยที่ 1 ด้วย แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาก็ตาม แต่เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 พอใจในผลแห่งคำพิพากษาแล้ว โดยเห็นได้จากจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ กับเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานมีฝิ่นเพื่อจำหน่ายอีกกระทงหนึ่ง โดยเพิ่มเติมโทษขึ้นอีกตามอุทธรณ์ของโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ก็มิได้ฎีกาโต้เถียงแต่อย่างใด และเนื่องจากศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย แสดงว่าข้อเท็จจริงในส่วนของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีทนายความในการต่อสู้คดีก็รับฟังได้มั่นคงเช่นนั้น เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ที่ใช้พิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 2 ก็เป็นพยานหลักฐานเดียวกันกับที่ใช้พิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 1 จึงเห็นได้ว่าการทำหน้าที่ของทนายจำเลยที่ 2 ในการดำเนินกระบวนพิจารณาแทนจำเลยที่ 2 มีผลเป็นการดูแลคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ด้วยในตัว ดังนี้ จำเลยที่ 1 จะมีทนายความในการดำเนินกระบวนพิจารณาหรือไม่ย่อมไม่อาจทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ทั้งปรากฏด้วยว่า ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดแก่จำเลยที่ 1 ไปแล้วกว่า 2 ปี ด้วย ซึ่งทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับสิทธิในฐานะนักโทษเด็ดขาดไปบ้างแล้ว แม้ปัญหาดังกล่าวจะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ก็ตาม แต่ศาลฎีกาไม่เห็นเป็นการจำเป็นที่จะพิพากษาสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาและพิพากษาหรือสั่งใหม่ตามรูปคดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 4, 11, 12, 18, 41, 62, 81 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 17, 66, 69, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 83, 91 นับโทษจำเลยทั้งสองต่อจากโทษของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 165/2547 ของศาลชั้นต้น และริบของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 3 ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในข้อหาเข้ามาในราชอาณาจักรตามช่องทางที่มิใช่ช่องทางที่รัฐมนตรีกำหนดและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 4 ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11, 62 วรรคหนึ่ง, 81 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) (3), 17 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคสอง และวรรคสาม, 69 วรรคหนึ่ง, 102 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเข้ามาในราชอาณาจักรตามช่องทางที่มิใช่ช่องทางตามที่รัฐมนตรีกำหนด จำคุก 6 เดือน ฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกตลอดชีวิต ฐานมีฝิ่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 25 ปี 12 เดือน และนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 165/2547 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11, 62 วรรคหนึ่ง, 81 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเข้ามาในราชอาณาจักรตามช่องทางที่มิใช่ช่องทางตามที่รัฐมนตรีกำหนด จำคุก 6 เดือน ฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 12 เดือน จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน และนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 4 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 165/2547 ของศาลชั้นต้น ริบเมทแอมเฟตามีน เฮโรอีนและฝิ่นของกลาง กับรถจักรยานยนต์ของกลาง ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) (3), 17 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคสอง และวรรคสาม, 69 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายกับฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกคนละตลอดชีวิตและปรับคนละ 1,000,000 บาท ฐานมีฝิ่นไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 6 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงลงโทษในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 25 ปี และปรับ 500,000 บาท ฐานมีฝิ่นไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 3 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงซึ่งรวมโทษในความผิดต่อพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว ลงโทษจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น จำคุก 28 ปี 6 เดือน และปรับ 500,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1,000,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ไม่ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 สำหรับความผิดฐานเข้ามาในราชอาณาจักรตามช่องทางที่มิใช่ช่องทางตามที่รัฐมนตรีกำหนด และความผิดฐานอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต โจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างไม่อุทธรณ์จึงฟังได้ยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกกระทำความผิดฐานมีเฮโรอีน เมทแอมเฟตามีน และฝิ่นไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2545 เวลา 0.10 นาฬิกา นายอาทิตย์ จิตตางกูร ปลัดอำเภอฝาง และนายวสันต์ มหานาม เจ้าหน้าที่ปกครองอำเภอฝางร่วมกันจับกุมจำเลยทั้งสองพร้อมยึดได้เฮโรอีนจำนวน 1 ขวด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 8.903 กรัม เมทแอมเฟตามีนจำนวน 2,203 เม็ดคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 34.885 กรัม และฝิ่นจำนวน 1 ห่อ น้ำหนัก 384.79 กรัม อยู่ในถุงย่ามที่แขวนไว้ที่คันบังคับรถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับ โดยมีจำเลยที่ 2 ซึ่งแต่งตัวเป็นพระภิกษุนั่งซ้อนท้ายเป็นของกลาง เห็นว่า แม้เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองมิได้ยึดยาเสพติดให้โทษของกลางได้จากตัวจำเลยที่ 2 แต่การที่จำเลยที่ 2 ร่วมเดินทางกับจำเลยที่ 1 ในเวลา 0.10 นาฬิกา ซึ่งเป็นยามวิกาลด้วยรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 ที่ใช้ขนยาเสพติด ให้โทษของกลางหลายประเภท และแต่ละประเภทมีจำนวนมากอยู่ในถุงย่ามซึ่งแขวนไว้ที่คันบังคับรถจักรยานยนต์โดยเปิดเผย เป็นพฤติการณ์ที่ทำให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมรู้เห็นและเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษของกลาง นอกจากนี้โจทก์มีบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวน ซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพไว้มีใจความว่า เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 เวลาประมาณ 18 นาฬิกา จำเลยที่ 1 เดินทางไปรับยาเสพติดให้โทษของกลางจากนายไอ่อาลิ่งที่บ้านต้นฮุงใกล้บ้านเวียงหวายเพื่อนำไปส่งที่บ้านโล๊ะป่าไคร้ โดยนายไอ่จาลิ่งให้จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยายนต์ของนายไอ่จาลิ่งไปรับจำเลยที่ 2 ซึ่งรออยู่ที่ถนนใกล้วัดเวียงหวายไปด้วยและให้จำเลยที่ 2 ออกเงินค่าน้ำมันรถให้จำเลยที่ 1 ไปก่อน หลังจากรับจำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ไปตามถนนสันทราย – คลองน้อย ก็ถูกเจ้าหน้าที่เรียกตรวจค้นและจับกุมพร้อมยึดยาเสพติดให้โทษของกลาง เจ้าหน้าที่ได้สอบถามถึงยาเสพติดให้โทษของกลาง จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นของจำเลยทั้งสองร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อนำไปส่งที่บ้านโล๊ะป่าไคร้ให้นายไอ่จาลิ่งเพื่อจำหน่ายจริง แม้คำให้การของจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวนดังกล่าวเป็นเพียงพยานบอกเล่าและเป็นคำซัดทอดของผู้ที่กระทำความผิดด้วยกัน แต่คำซัดทอดดังกล่าวกอปรด้วยเหตุผลและมิได้เป็นเรื่องปัดความรับผิดของตนให้เป็นความผิดของจำเลยที่ 2 คนเดียว อีกทั้งจำเลยที่ 1 ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนในวันเดียวกับที่ถูกจับกุมย่อมไม่มีเวลาที่จะคิดไตร่ตรองเพื่อปรักปรำหรือช่วยเหลือผู้หนึ่งผู้ใด เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้การไปตามความจริงที่เกิดขึ้นจึงรับฟังคำให้การของจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวนประกอบการพิจารณาลงโทษจำเลยที่ 2 ได้เมื่อพิจารณาถึงเหตุผลแล้ว เห็นว่า การขนยาเสพติดให้โทษของกลางเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและมีอัตราโทษสูง ปกติผู้กระทำความผิดต้องกระทำอย่างลับๆ เพื่อปกปิดไม่ให้ผู้อื่นล่วงรู้ได้ หากจำเลยที่ 2 ไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดแล้วก็ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 จะกล้าให้จำเลยที่ 2 ร่วมเดินทางไปด้วย ตามพฤติการณ์แห่งคดีที่โจทก์นำสืบมาจึงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกกระทำความผิดฐานมีเฮโรอีน เมทแอมเฟตามีน และฝิ่นไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษของกลาง เหตุที่จำเลยที่ 2 ไปกับจำเลยที่ 1 เพราะรู้จักกันมาก่อนขณะบวชเป็นสามเณรด้วยกันที่ประเทศสหภาพพม่า และพบกันโดยบังเอิญจึงขอให้จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ไปส่งที่อำเภอแม่อายเพื่อตามหาน้องสาว โดยจำเลยที่ 2 มีจำเลยที่ 1 มาเบิกความสนับสนุนนั้น เห็นว่า คำเบิกความของจำเลยทั้งสองขัดแย้งกับคำให้การของจำเลยทั้งสองในชั้นสอบสวน ซึ่งจำเลยทั้งสองให้การว่าไม่รู้จักกันมาก่อน และคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ยังขัดกับที่จำเลยที่ 1 ได้ให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวนว่า นายไอ่จาลิ่งให้จำเลยที่ 1 ไปรับจำเลยที่ 2 ก่อนนำยาเสพติดให้โทษของกลางไปส่งและยาเสพติดให้โทษของกลางเป็นของจำเลยทั้งสอง ทั้งคำเบิกความของจำเลยทั้งสองที่ว่า พบกันโดยบังเอิญที่วัดหนองบัว เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไปเที่ยวงานปอยเตียนที่วัดดังกล่าวก็ขัดต่อเหตุผล เพราะยาเสพติดให้โทษของกลางเป็นทรัพย์ที่มีไว้เป็นความผิดและมีจำนวนมาก ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 จะนำติดตัวไปเที่ยวก่อนนำไปส่งให้ผู้รับ เพราะอาจถูกตรวจค้นและจับกุมได้ง่าย ข้อนำสืบของจำเลยที่ 2 จึงไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 รับยาเสพติดให้โทษของกลางมาก่อนพบกับจำเลยที่ 2 แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 มิได้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจกับจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 รับยาเสพติดให้โทษของกลางมาก่อนหรือหลังพบกับจำเลยที่ 2 มิใช่ข้อสำคัญที่จะแสดงว่าจำเลยที่ 2 รู้เห็นเป็นใจกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดหรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองเป็นคนต่างด้าวไม่สามารถเข้าใจภาษาไทยได้ดี ไม่มีโอกาสคัดค้านความถูกต้องของคำให้การที่พนักงานสอบสวนพิมพ์ไว้นั้น ก็ขัดกับคำให้การของจำเลยทั้งสองซึ่งให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยทั้งสองพูดและฟังภาษาไทยได้รู้เรื่องดีอีกทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พนักงานสอบสวนบันทึกคำให้การของจำเลยทั้งสองไม่ถูกต้องอย่างไร จึงเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ และที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธมาโดยตลอด ซึ่งหากจำเลยที่ 2 กระทำความผิดจริง ก็คงรับสารภาพตั้งแต่แรกในชั้นจับกุมแล้วนั้น เห็นว่า การที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใดจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธ ย่อมขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละบุคคลไป จำเลยที่ 2 อาจให้การปฏิเสธทั้งๆ ที่ได้กระทำความผิดก็เป็นได้ ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ลงโทษจำเลยที่ 2 ในอัตราขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง สำหรับจำเลยที่ 1 ซึ่งให้การรับสารภาพ คดีเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้จำคุก 28 ปี 6 เดือน และปรับ 500,000 บาท กับนับโทษต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 165/2547 ของศาลชั้นต้นนั้นปรากฏว่าในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสาม อันเป็นคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นบัญญัติว่า “ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้” ได้ความตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 18 ธันวาคม 2545 ว่าศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยทั้งสองเรื่องทนายความแล้วจำเลยที่ 1 แถลงไม่ต้องการทนายความ แต่ศาลชั้นต้นให้มีหนังสือขอแรงทนายความให้จำเลยทั้งสอง ซึ่งรวมถึงจำเลยที่ 1 แต่หลังจากนั้นมีการตั้งทนายความให้จำเลยที่ 2 เพียงคนเดียวแล้วดำเนินคดีไปจนเสร็จการพิจารณา โดยไม่มีการตั้งทนายความให้จำเลยที่ 1 ด้วย กรณีนี้แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาก็ตามแต่เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 พอใจในผลแห่งคำพิพากษาแล้ว โดยเห็นได้จากจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ กับเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานมีฝิ่นเพื่อจำหน่ายอีกกระทงหนึ่งโดยเพิ่มเติมโทษขึ้นอีกตามอุทธรณ์ของโจทก์แล้วจำเลยที่ 1 ก็มิได้ฎีกาโต้เถียงแต่อย่างใด และเนื่องจากคดีนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย แสดงว่าข้อเท็จจริงในส่วนของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีทนายความในการต่อสู้คดีก็รับฟังได้มั่นคงเช่นนั้น เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ที่ใช้พิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 2 ก็เป็นพยานหลักฐานเดียวกันกับที่ใช้พิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 1 จึงเห็นได้ว่าการทำหน้าที่ของทนายจำเลยที่ 2 ในการดำเนินกระบวนพิจารณาแทนจำเลยที่ 2 มีผลเป็นการดูแลคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ด้วยในตัว ดังนี้ จำเลยที่ 1 จะมีทนายความในการดำเนินกระบวนพิจารณาหรือไม่ย่อมไม่อาจทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ทั้งปรากฏด้วยว่า ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดแก่จำเลยที่ 1 ไปแล้วกว่า 2 ปีด้วย ซึ่งทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับสิทธิในฐานะนักโทษเด็ดขาดไปบ้างแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นว่า แม้ปัญหาดังกล่าวจะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ก็ตาม แต่ศาลฎีกาไม่เห็นเป็นการจำเป็นที่จะพิพากษาสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาและพิพากษาหรือสั่งใหม่ตามรูปคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225″
พิพากษายืน

Share