คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1475/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้มีความหมายว่า สำหรับความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปหรือโทษที่สถานหนักกว่านั้น แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพต่อศาลว่าได้กระทำความผิดตามฟ้อง ศาลก็ยังฟังพยานหลักฐานของโจทก์ให้เป็นที่พอใจก่อนว่า จำเลยได้กระทำความผิดจริงตามที่ให้การรับสารภาพจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันเสรีภาพของจำเลยในคดีอาญาที่มีอัตราโทษสูง มิให้ต้องรับโทษหนักหรือเกินกว่าความผิดที่ตนกระทำ อย่างไรก็ดี พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยไม่จำต้องได้รับความชัดแจ้งโดยปราศจากข้อสงสัยดังเช่นในคดีที่จำเลยให้การปฏิเสธ เพียงแต่ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยให้เป็นที่พอใจศาลว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงก็เป็นการเพียงพอที่ศาลจะลงโทษโดยอาศัยพยานหลักฐานนั้นแล้ว เพราะเป็นกรณีที่โจทก์เพียงแต่นำสืบพยานหลักฐานให้เห็นเป็นเค้ามูลเพื่อประกอบคำรับสารภาพของจำเลยเท่านั้น สำหรับคดีนี้แม้โจทก์จะมี อ. มารดาของผู้เสียหาย และ บ. เจ้าของบ้านที่เกิดเหตุกับร้อยตำรวจเอก ส. พนักงานสอบสวนมาเบิกความประกอบพยานเอกสารต่างๆ ยืนยันว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง โดยพยานมิได้รู้เห็นเหตุการณ์ขณะที่ผู้เสียหายถูกข่มขืนกระทำชำเราและโจทก์ก็ไม่ได้นำตัวผู้เสียหายมาเบิกความเป็นพยานต่อศาล แต่ อ. ก็เป็นมารดาของผู้เสียหายซึ่งรับทราบข้อเท็จจริงจากผู้เสียหายทันทีที่ได้พบกัน และ บ. ก็เป็นพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีใกล้ชิดกับเหตุการณ์เป็นอย่างยิ่ง ส่วนร้อยตำรวจเอก ส. ก็เป็นพนักงานสอบสวนที่สอบคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวนไว้และยืนยันข้อเท็จจริงตามนั้น จึงไม่มีข้อพิรุธอันจะเป็นเหตุให้ระแวงสงสัยในถ้อยคำของพยานโจทก์เหล่านั้นแต่ประการใด ส่วนที่จำเลยหยิบยกขึ้นฎีกา เรื่องการตรวจพบตัวอสุจิหลังจากเกิดเหตุแล้วถึง 12 วัน โดยอ้างว่าขัดต่อหลักวิชาการแพทย์นั้น เป็นปัญหาปลีกย่อยอันเป็นเพียงพลความ ไม่ใช่ข้อพิรุธอันควรระแวงสงสัยในพยานหลักฐานของโจทก์แต่ประการใด ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยเป็นที่พอใจแก่ศาลว่าจำเลยกับพวกร่วมกันผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงและเด็กหญิงนั้นไม่ยินยอมซึ่งเป็นการกระทำความผิดตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 277
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก วรรคสาม (ที่ถูกประกอบมาตรา 83) จำคุกตลอดชีวิต จำเลยรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 (ที่ถูกประกอบมาตรา 53) คงจำคุก 25 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกที่หลบหนีและที่แยกดำเนินคดีที่ศาลอื่นร่วมกันผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายซึ่งอายุยังไม่เกินสิบห้าปีอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงและเด็กหญิงนั้นไม่ยินยอม จำเลยให้การรับสารภาพผิดตามฟ้อง จึงต้องฟังตามคำรับสารภาพของจำเลยว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยกับพวกร่วมกันผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงและเด็กหญิงนั้นไม่ยินยอม ดังนี้จำเลยจะโต้เถียงข้อเท็จจริงว่าจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายต่างสถานที่ต่างเวลา และขาดตอนจากการที่พวกของจำเลยกระทำในครั้งแรก มิใช่เป็นการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันข่มขืนกระทำชำเราโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันกับพวกอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงและเด็กหญิงนั้นไม่ยินยอม เป็นทำนองว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดตามฟ้องนั้นไม่ได้เพราะมิใช่ข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยมีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้มีความหมายว่าสำหรับความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปหรือโทษที่สถานหนักกว่านั้น แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพต่อศาลว่าได้กระทำความผิดตามฟ้อง ศาลก็ยังต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์ให้เป็นที่พอใจก่อนว่า จำเลยได้กระทำความผิดจริงตามฟ้องที่ให้การรับสารภาพจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันเสรีภาพของจำเลยในคดีอาญาที่มีอัตราโทษสูงมิให้ต้องรับโทษหนักหรือเกินกว่าความผิดที่ตนกระทำ อย่างไรก็ดี พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยไม่จำต้องได้ความชัดแจ้งโดยปราศจากข้อสงสัยดังเช่นในคดีที่จำเลยให้การปฏิเสธเพียงแต่ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยให้เป็นที่พอใจศาลว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงก็เป็นการเพียงพอที่ศาลจะลงโทษโดยอาศัยพยานหลักฐานนั้นแล้ว เพราะเป็นกรณีที่โจทก์เพียงแต่นำสืบพยานหลักฐานให้เห็นเป็นเค้ามูลเพื่อประกอบคำรับสารภาพของจำเลยเท่านั้น สำหรับคดีนี้แม้โจทก์จะมีนางอัญชบี ดูทรา มารดาของผู้เสียหาย และนางบุญมาก บุตรงาม เจ้าของบ้านที่เกิดเหตุ กับร้อยตำรวจเอกสมพงศ์ ภาคธรรม พนักงานสอบสวนมาเบิกความประกอบพยานเอกสารต่างๆ ยืนยันว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง โดยพยานมิได้รู้เห็นเหตุการณ์ขณะที่ผู้เสียหายถูกข่มขืนกระทำชำเราและโจทก์ก็ไม่ได้นำตัวผู้เสียหายมาเบิกความเป็นพยานต่อศาล แต่นางอัญชลีก็เป็นมารดาของผู้เสียหายซึ่งรับทราบข้อเท็จจริงจากผู้เสียหายทันทีที่ได้พบกัน และนางบุญมากก็เป็นพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีที่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์เป็นอย่างยิ่ง ส่วนร้อยตำรวจเอกสมพงศ์ก็เป็นพนักงานสอบสวนที่สอบคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวนไว้และยืนยันข้อเท็จจริงตามนั้น จึงไม่มีข้อพิรุธอันจะเป็นเหตุให้ระแวงสงสัยในถ้อยคำของพยานโจทก์เหล่านั้นแต่ประการใด ส่วนที่จำเลยหยิบยกขึ้นฎีกา เรื่องการตรวจพบตัวอสุจิหลังจากเกิดเหตุแล้วถึง 12 วัน โดยอ้างว่าขัดต่อหลักวิชาการแพทย์นั้น เป็นปัญหาปลีกย่อยอันเป็นเพียงพลความ ไม่ใช่ข้อพิรุธอันควรระแวงสงสัยในพยานหลักฐานของโจทก์แต่ประการใด ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยเป็นที่พอใจแก่ศาลว่าจำเลยกับพวกร่วมกันผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงและเด็กหญิงนั้นไม่ยินยอม ซึ่งเป็นการกระทำความผิดตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share