คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 529/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.วิ.อ. มาตรา 172 ตรี บัญญัติว่า “ในการสืบพยานในคดีที่พยานเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ถ้าศาลเห็นสมควรและจัดให้พยานนั้นอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็กแล้ว ศาลอาจปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้…” จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวมิใช่บทบัญญัติบังคับศาล แต่ให้เป็นดุลพินิจของศาลในการกำหนดวิธีการสำหรับสืบพยานเด็ก เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจในการสืบพยานเด็กโดยให้พิจารณาลับ การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีดังกล่าว จึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และคำเบิกความของผู้เสียหายย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2543 เวลากลางวัน จำเลยซึ่งเป็นข้าราชการครูโรงเรียนบ้านเชียงยืน ได้กระทำชำเราเด็กหญิง จ. อายุ 13 ปีเศษ (เกิดวันที่ 25 พฤษภาคม 2530) ผู้เสียหาย ซึ่งมิใช่ภริยาของตนและเป็นเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านเชียงยืน ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยจนสำเร็จความใคร่ 1 ครั้ง โดยผู้เสียหายยินยอม เหตุเกิดที่ตำบลเชียงยืน อำเภอเชียงยืน อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 285
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง, 285 จำคุก 12 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก ประกอบมาตรา 285 ลงโทษจำคุก 12 ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ส่วนที่จำเลยฎีกาเป็นข้อกฎหมายในทำนองว่า การสืบพยานเด็กคดีนี้ศาลชั้นต้นไม่จัดให้แยกห้องพิจารณาสำหรับเด็กเบิกความแล้วให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียงไปยังห้องพิจารณา เพื่อไม่ให้คู่ความหรือทนายความถามพยานเด็กโดยตรง และต้องถามผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ ศาลจึงจะบันทึกคำเบิกความพยานเด็กได้ แต่คดีนี้ไม่ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในการสืบพยานที่เป็นเด็กตามที่กฎหมายบัญญัติ จึงเป็นการผิดระเบียบ ไม่สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ตรี บัญญัติว่าในการสืบพยานในคดีที่พยานเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ถ้าศาลเห็นสมควรและจัดให้พยานนั้นอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็กแล้ว ศาลอาจปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้… จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวมิใช่บทบัญญัติบังคับศาล แต่ให้เป็นดุลพินิจของศาลในการกำหนดวิธีการสำหรับสืบพยานเด็ก เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจในการสืบพยานเด็กโดยให้พิจารณาลับ ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 11 เมษายน 2545 การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีดังกล่าวจึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และคำเบิกความของผู้เสียหายย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share